ประเด็นความมั่นคง การเมือง และจริตของสื่อสังคมออนไลน์

ประเด็นความมั่นคง การเมือง และจริตของสื่อสังคมออนไลน์

นับแต่ต้นเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา หน่วยงานภาครัฐที่น่าจะออกอาการ “งานเข้า” จากเครือข่ายสังคมออนไลน์มากที่สุด

เห็นจะไม่พ้นกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ

ในกรณีของ ปอท. มีเหตุสืบเนื่องจากสองกรณีด้วยกันคือ เหตุการณ์ที่ ปอท. มีหมายเรียกผู้ใช้สังคมออนไลน์ 4 คนเข้ามาให้ปากคำเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความข่าวลือผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะว่าจะเกิดการก่อรัฐประหารและเตือนให้มีการกักตุนน้ำและอาหารเพื่อเตรียมพร้อม และเหตุการณ์ที่สองที่ ปอท. ออกมาให้ข่าวว่าได้ทำการขอความร่วมมือจากบริษัท Naver ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นแชทออนไลน์ยอดนิยม Line เพื่อตรวจสอบการสื่อสารผ่านแอพดังกล่าวที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคง

ในเหตุการณ์แรก ผู้ที่ถูก ปอท. เรียกมาสอบสวนคนหนึ่งเป็นนักข่าวอาวุโส คือ คุณเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคงของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูข้อความที่คุณเสริมสุขโพสต์ผ่านหน้าเฟซบุ๊คของเขาจะเห็นว่า แม้คุณเสริมสุขจะมีการแชร์ข้อความข่าวลือเรื่องรัฐประหารมาจากต้นตออื่นจริง แต่ก็ได้ทำการวิเคราะห์ด้วยชั่วโมงบินกว่า 30 ปีของการเป็นนักข่าวสายความมั่นคงว่า ไม่น่าเป็นไปได้ด้วยเหตุผลอะไรบ้าง และยังได้เตือนให้เครือข่ายเพื่อนออนไลน์ของเขาอย่าได้หลงเชื่อข่าวลือนี้ ซึ่งในส่วนนี้ ทางฝ่ายกฎหมายของคุณเสริมสุขก็ได้ชี้ให้เห็นว่า การกระทำของคุณเสริมสุขขาดองค์ประกอบความผิดคือ เจตนาตามมาตรา 14 วรรค 2 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาที่ถูกใช้เป็นฐานในการเรียกคุณเสริมสุขเข้ามาให้ปากคำอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น ก็คือไม่มีประเด็นเรื่องความมั่นคงตามที่กล่าวหาแต่การกล่าวหาอาจแฝงแรงจูงใจทางการเมือง

ทั้งนี้ มาตรา 14 (2) กำหนดความผิดเกี่ยวกับการนำเข้าและเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จและสร้างความเสียหายด้านความมั่นคงหรือสร้างความตื่นตระหนกให้สาธารณชน ขณะที่มาตรา 116 ของกฎหมายอาญาเป็นความผิดด้านความมั่นคง ในฐานที่จะทำให้เกิดความปั่นป่วนและความไม่สงบในราชอาณาจักร

แม้ทาง ปอท. จะยืนยันว่าการเรียกคุณเสริมสุขเข้ามานั้นก็เพื่อให้มีการยืนยันตัวตนและให้โอกาสในการชี้แจงข้อเท็จจริง และยังไม่ได้จะแจ้งข้อหากับคุณเสริมสุขแต่อย่างใด แต่ภาพที่ปรากฏเป็นข่าวแพร่หลายถึงการเรียกเข้ามาสอบปากคำย่อมเข้าใจเป็นอื่นไปได้ยากนอกจากว่านี่คือการป้องปรามในทำนองเขียนเสือให้วัวกลัว นอกจากนี้ การออกมาเสริมเติมประเด็นจากรัฐมนตรีกระทรวงไอซีที น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ หลังจากนั้นก็ทำให้ตอกย้ำท่าทีนี้เข้าไปอีก เพราะรัฐมนตรีไอซีทีผู้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ระบุว่าแม้การกดถูกใจ (like) ก็สามารถเป็นความผิดได้ เพราะถือว่าเป็นการเผยแพร่เนื้อหาทางอ้อม เนื่องจากจะมีการแจ้งไปที่เพื่อนในเครือข่ายหากมีการกด like หน้าเพจหรือโปรไฟล์ใดๆ

นอกจากเสียงโจมตีท่าทีดังกล่าวของทั้ง ปอท. และกระทรวงไอซีที จะอื้ออึงในโลกออนไลน์แล้ว ทางองค์กร/สมาคมวิชาชีพสื่อหลัก 4 แห่งก็รวมตัวกันออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ ปอท. โดยเห็นว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพการแสดงออกของคุณเสริมสุข ซึ่งก็มีบทบาทซ้อนทับเป็นนักวิชาชีพข่าวโทรทัศน์อีกบทบาทหนึ่ง แม้แต่องค์กรรณรงค์ด้านสิทธิเสรีภาพสื่อในภูมิภาคอย่าง Southeast Asian Press Alliance หรือ SEAPA ก็ยังมองว่า คุณเสริมสุขกำลังทำหน้าที่ของผู้เฝ้าประตูข่าวสารที่ดี ด้วยการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและแจ้งให้สาธารณะทราบ

ในเหตุการณ์ที่สอง ปรากฏเสียงวิพากษ์วิจารณ์กระหน่ำเสียยิ่งกว่าเรื่องแรก ส่วนหนึ่งก็เพราะมีผู้ใช้แอพพลิเคชั่น Line นี้ค่อนข้างกว้างขวางในประเทศไทย สถิติล่าสุดของผู้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้มาใช้ในประเทศไทยอยู่ที่ 15 ล้านราย ทำให้ไทยมีการใช้งาน Line เป็นอันดับที่สามของโลก ในประเทศไทยเอง Line ก็ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองรองจากเฟซบุ๊คซึ่งมีผู้ใช้อยู่ประมาณ 20 ล้านคน

แม้ทาง ปอท. จะยืนยันว่าจะเข้ามาตรวจสอบการสนทนาเฉพาะใน 3 กลุ่มความผิด และเน้นที่ 4 กลุ่มคือ ค้าอาวุธเถื่อน ค้ายาเสพติด ค้าประเวณี และละเมิดลิขสิทธิ์ รวมไปถึงการออกมาขยายความทีหลังว่าการจะเข้าไปตรวจสอบการสื่อสารระหว่างบุคคลย่อมจำเป็นต้องได้คำสั่งจากศาลก่อน แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตลอดจนนักวิชาการด้านกฎหมายก็ออกมาประสานเสียงพ้องกันว่าสิ่งที่ ปอท. เสนอนั้นเข้าข่ายการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 36 หรือเสรีภาพในการแสดงออกตามมาตรา 45

ในกรณีสุดท้ายของดีเอสไอเกิดขึ้นสืบเนื่องจาก การที่มีประชาชนสมาชิกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คนหนึ่งไปยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่ออธิบดีดีเอสไอคือ คุณธาริต เพ็งดิษฐ์ ต่อการที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่งโพสต์เนื้อหาในเฟซบุ๊คปรากฏเป็นการตัดต่อภาพนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยืนอยู่ข้างป้ายที่อุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่งซึ่งปรากฏเป็นข้อความ “เสือ สิง กระทิง …” โดยมีภาพนายกรัฐมนตรียืนอยู่หลังคำว่า กระทิง ซึ่งน่าจะปรากฏเป็นคำว่า “แรด” ตามสำนวนไทยที่รู้จักกันดีทั่วไป กรณีนี้ที่น่าสนใจนอกเหนือไปจากนัยอันเกี่ยวข้องกับความเป็นเพศหญิงของนายกรัฐมนตรีด้วยการใช้คำเปรียบเปรยแบบแฝงนัย (ซึ่งคงต้องเขียนถึงในอีกบทความต่างหาก) แล้ว ก็คือการที่ทางอธิบดีดีเอสไอรับกรณีนี้เข้าเป็นคดีพิเศษ และพยายามตั้งข้อหาต่อกรณีนี้เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในมาตรา 14 (2) ซึ่งเป็นความผิดฐานสร้างความเสียหายให้แก่ความมั่นคงของประเทศและเข้าข่ายความผิดทางอาญาแทนที่จะใช้มาตรา 16 ซึ่งเป็นความผิดจากการตัดต่อภาพที่เป็นการหมิ่นประมาทและเป็นความผิดแบบยอมความได้ ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าคุณยิ่งลักษณ์เป็น “ประมุข” ของประเทศ

นอกเหนือจากแง่มุมทางกฎหมายที่ดูออกจะเบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานที่ควรจะเป็นแล้ว ทั้งสามกรณีของการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่ถูกมองว่าเป็นปัญหายังสะท้อนถึงประเด็นเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของเทคโนโลยีสื่อใหม่นี้ ซึ่งทางผู้บังคับใช้กฎหมายอาจต้องทำความเข้าใจและเปิดใจกว้างต่อจริตและพลวัตใหม่ทางการสื่อสารที่แตกต่างจากสื่อแบบดั้งเดิม

ในสื่อเก่าอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ กระบวนการผลิตเนื้อหาโดยเฉพาะข่าวสารมีลำดับขั้นของการตรวจสอบเนื้อหาอย่างชัดเจนผ่านกองบรรณาธิการ การตรวจสอบกลั่นกรองเนื้อหาเกิดขึ้นก่อนการตีพิมพ์หรือออกอากาศ (filter then publish/broadcast) เนื่องจากผู้มีอำนาจในการเข้าถึงและเปลี่ยนแปลงเนื้อหาคือผู้ผลิตที่โรงพิมพ์หรือสถานี ขณะที่ในสื่อใหม่อย่างสื่อสังคมออนไลน์ ผู้มีอำนาจในการสร้างหรือแพร่กระจายเนื้อหาคือผู้ใช้ การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลจึงอยู่ที่กลุ่มมวลชนที่อยู่ในเครือข่าย หากมีข้อมูลผิดพลาด เป็นเท็จ ก็จะมีผู้ใช้คนอื่นเข้ามาแจ้งหรือหักล้างด้วยข้อมูลที่มีฐานข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เชื่อถือได้มากกว่า กระบวนการสื่อสารจึงจะเป็นในรูปของ แพร่กระจายก่อนและตรวจสอบทีหลัง (disseminate then filter) เนื่องจาก การมีส่วนร่วมคือหัวใจของเครือข่ายการสื่อสารแบบสังคมออนไลน์

บางที การแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะร่างขึ้นก่อนที่สื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และการใช้สมาร์ทโฟนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลาจะแพร่หลาย โดยให้การแก้ไขนั้นพิจารณาถึงกระบวนทัศน์ที่ปรับเปลี่ยนไปแล้วของการสื่อสารออนไลน์ ก็น่าจะเป็นคุณูปการไม่มากก็น้อยต่อคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยที่สื่อสังคมออนไลน์ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไปแล้ว