เพื่อชีวิตที่ดีกว่า เราควรเรียนรู้อะไร

เพื่อชีวิตที่ดีกว่า เราควรเรียนรู้อะไร

คนรุ่นเรามีความรู้มากขึ้นกว่าคนยุคก่อนจริง แต่ส่วนใหญ่เป็นความรู้เพื่อการผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ซึ่งทั้งทำลายความสมดุลทางธรรมชาติและทางสังคม ทั้งโลกจึงมีทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ การเมือง สังคมวัฒนธรรม และระบบนิเวศ

ระบบการศึกษา (รวมทั้งการเลี้ยงดู) เพียงช่วยสอนให้คนเรารู้จักการดำรงชีวิต และมีความรู้ทักษะไปประกอบอาชีพได้ในระดับหนึ่ง แต่เป็นการเรียนรู้ที่เน้นการแข่งขันเพื่อได้เปรียบคนอื่นมากเกินไป แม้แต่คนที่แข่งขันเก่ง ได้เรียนสูง หรือได้ตำแหน่งงานดี มั่งคั่ง ร่ำรวย ก็ยังติดอยู่ในกรอบคิดการมุ่งแข่งขัน ทำงานหนัก มีความเครียดและไม่ได้มีความสุขความพอใจในชีวิตเสมอไป

คนส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนรู้เรื่องวิวัฒนาการว่ามนุษย์เราเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ชนิดพันธุ์หนึ่ง ใน 3 พันล้านชนิด ที่ต่างวิวัฒนาการมาจากจุลชีพ-สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว และใช้เวลามากกว่า 3 พันล้านปี กว่าจะวิวัฒนาการมาเป็นพืชและสัตว์หลายเซลล์ เป็นปลา สัตว์ต่างๆ สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไพรเมท ลิง มนุษย์วานร ฮิวมินิด (ก่อนมนุษย์) และมนุษย์ มนุษย์ สัตว์ และพืชทั้งหลายล้วนเป็นญาติพี่น้องกัน

เราไม่เพียงเป็นญาติพี่น้องกับที่ใกล้ชิดกับลิงใหญ่ (Great Ape) ซึ่งเพิ่งวิวัฒนาการแยกเป็นคนละชนิดพันธุ์กับมนุษย์ (Homo Sapiens) เมื่อราว 5-6 ล้านปีที่แล้ว ถึงตอนนี้ลิงชิมแปนซีมีรหัสพันธุกรรมเหมือนมนุษย์ 98% ที่มนุษย์วิวัฒนาการมาได้ไกลและไม่สูญพันธุ์ไปเหมือนไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพราะมนุษย์รู้จักร่วมมือกันพัฒนาสมอง ภาษา เครื่องมือ การจัดองค์กร และสร้างวัฒนธรรมอารยธรรมที่ซับซ้อน แต่ทุกวันนี้มนุษย์ที่วิวัฒนาการเป็นสัตว์ชั้นสูงกว่าสัตว์อื่น เป็นใหญ่แล้วลืมตัว อหังการ ก้าวร้าว มุ่งเอาชนะ มนุษย์จึงครอบงำ เอาเปรียบ ทำลายชีวิตอื่นๆ และทำลายความสมดุลของระบบนิเวศ รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเท่ากับมนุษย์กำลังทำลายเผ่าพันธุ์ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นในระยะยาว

การเกิดขึ้นเองแบบหมุนเวียนของสรรพสิ่งในธรรมชาติ เช่น แสงอาทิตย์ บรรยากาศ ความดันอากาศ และอุณหภูมิที่เหมาะสม วัฏจักรของน้ำ อาหาร วัฏจักรของออกซิเจน วัฏจักรคาร์บอน ฯลฯ ที่ทำให้มนุษย์เราดำรงชีพอยู่ในดาวเคราะห์ดวงเดียวที่ชื่อว่าโลกนี้ได้ มีความเหมาะเจาะ สมดุล อย่างพิเศษมาก แต่มนุษย์ยุคปัจจุบันกำลังทำลายความสมดุล ความเหมาะเจาะนี้ เพราะความอหังการ โลภในการบริโภคและการสะสมความมั่งคั่งของมนุษย์ โดยเฉพาะในยุคพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมในรอบ 250 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ทำลายธรรมชาติระบบนิเวศ ในอัตราที่รวดเร็วรุนแรงหลายพันเท่าเมื่อเทียบกับที่บรรพบุรุษของเราเคยใช้ชีวิตมาตั้งแต่ 6 ล้านปีที่แล้ว จนถึง 250 ปีที่แล้ว

นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ว่า โครงกระดูกมนุษย์ผู้หนึ่งที่มีอายุ 2 แสนปีที่แล้ว มีรหัสพันธุกรรมแบบเดียวกับมนุษย์ยุคปัจจุบัน ยืนยันว่ามนุษย์ทั้งโลกมาจากบรรพบุรุษกลุ่มเดียวกัน การที่มนุษย์ในปัจจุบันมีรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณ ภาษา วัฒนธรรมแตกต่างกัน เป็นเรื่องของวิวัฒนาการ การคัดเลือกโดยธรรมชาติในการปรับเปลี่ยนร่างกายให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่ แท้จริงแล้วมนุษย์ทุกชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ คือญาติพี่น้องกันทั้งโลก และมีผลประโยชน์ระยะยาวร่วมกันในการที่จะต้องปกปักรักษาระบบธรรมชาติหรือระบบนิเวศของโลกให้สมดุลอยู่ได้อย่างยั่งยืน แต่ทุกวันนี้มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องนี้ แต่ละกลุ่ม แต่ละประเทศจึงแข่งขันเอารัดเอาเปรียบ ทำสงครามต่อสู้กันเหมือนกับเป็นสัตว์คนละชนิด หรือมนุษย์คนละพวก

เราควรเรียนรู้ว่าที่มนุษย์วิวัฒนาการเป็นสัตว์ที่ฉลาด ซับซ้อนกว่าสัตว์อื่น เพราะมนุษย์ตั้งแต่ยุค 2 แสนปีถึงปัจจุบัน รู้จักร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ของครอบครัว กลุ่ม ชุมชน มากกว่าการเห็นแก่ตัวแบบตัวใครตัวมัน ในสังคมยุคโบราณ มนุษย์เป็นเพียงสัตว์เล็กๆ ซึ่งมีพละกำลังในการต่อสู้ป้องกันตัวเองและล่าสัตว์อื่นเป็นอาหาร น้อยกว่าสัตว์ใหญ่อื่นๆ แต่เพราะมนุษย์รู้จักใช้ชีวิตเป็นหมู่คณะ รู้จักร่วมมือกันล่าสัตว์ จึงสามารถสู้กับสัตว์ที่ใหญ่กว่า แข็งแรงกว่าได้ การร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ของกลุ่มมากกว่าการเห็นแก่ตัว ทำให้มนุษย์รู้จักการแบ่งปันแลกเปลี่ยน พัฒนาสมอง พัฒนาภาษา วัฒนธรรม เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และพัฒนาวิถีการผลิต วิถีการดำรงชีวิต ที่ทำให้มนุษย์แพร่พันธุ์ได้มากและการมีชีวิตที่มีความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นมาตามลำดับ

ปัญหาของมนุษย์ตอนนี้คือ มนุษย์แพร่พันธุ์จนมีจำนวนมากเกินไป ผลิตและบริโภคมากไป ทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากไป แบ่งแยกเป็นชาติเป็นกลุ่มที่มองคนอื่นแบบระแวง แก่งแย่งแข่งขัน เอาเปรียบกัน ขัดแย้งแบบเห็นแก่ตัวเห็นกับพวก (กลุ่มย่อย) มากเกินไป

จากเมื่อ 10,000 ปีที่แล้ว ที่มนุษย์ทั่วโลกมีไม่เกิน 10 ล้านคน ประชากรโลกปัจจุบันมีมากถึง 7,000 พันล้านคน แต่ถึงแม้กระนั้นถ้ามีระบบการจัดสรรแบ่งปันอาหาร ปัจจัยที่จำเป็นต่างๆ ให้เป็นธรรม มนุษย์ 7 พันล้านคนก็จะมีอาหารพอกินและน่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขพอสมควร

ปัญหาคือ คนรวย 20% ของโลก ครอบครองอำนาจ/ทรัพย์สินและบริโภคฟุ่มเฟือยมากไป ทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของโลกมากไป ขณะที่คนจน 80% ของโลก ขาดแคลนอาหาร ไม่ค่อยพอกิน และอาหารไม่มีคุณค่าพอเพียง สุขภาพไม่ดี การศึกษาไม่ดี ฯลฯ ต้องดิ้นรนต่อสู้อย่างลำบาก ทั้งๆ ที่มนุษย์เราส่วนที่มีการศึกษาดีและฐานะมีองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ระบบเศรษฐกิจ การบริหารจัดการ เจริญมากพอที่อยู่ในวิสัยที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนขาดแคลนความด้อยพัฒนาด้านต่างๆ ของคนส่วนใหญ่ทั้งโลกได้ แต่ชนชั้นนำที่บริหารประเทศ บริหารบริษัทใหญ่ ที่มีอำนาจในโลกเป็นคนกลุ่มน้อยที่ยังเห็นแก่ตัว เห็นแก่กลุ่มย่อย มากกว่าจะเห็นแก่ส่วนรวม

ในประวัติศาสตร์อันยาวนาน 3 พันกว่าล้านปีของโลก เคยเกิดการเปลี่ยนแปลงปัญหาธรรมชาติสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรงที่ทำให้สัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์มาแล้ว รวมทั้งไดโนเสาร์ ซึ่งเคยเป็นผู้ครองโลกอยู่นานนับร้อยล้านปี มนุษย์ก็เคยล้มตายจำนวนมาก เหลือน้อยหวุดหวิดสูญพันธุ์มาแล้ว ในบางท้องถิ่นในยุคสมัย มนุษย์ก็เคยเจอปัญหาอาณาจักรล่มสลาย ผู้คนล้มตายจำนวนมากมาแล้วเช่นกัน ถ้ามนุษย์ยุคปัจจุบันพากันนับถือลัทธิทุนนิยมที่เน้นการหากำไรและการบริโภคสูงสุด และทำลายธรรมชาติสภาพแวดล้อมมากเกินไป โลกจะร้อนขึ้น น้ำทะเลจะท่วมโลก มนุษย์จะขาดแคลนอาหาร จะเกิดกลียุคครั้งใหญ่หรือแม้แต่มนุษย์อาจต้องสูญพันธุ์ได้ (ขณะที่สัตว์อื่นที่ปรับตัวได้ดีกว่าจะยังคงอยู่ได้)

มนุษย์แต่ละคนเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในโลกซึ่งมีสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ กว่า 3 พันล้านชนิดพันธุ์ มนุษย์แต่ละคนมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 120 ปี มนุษย์จะบ้าเห็นแก่ตัว บ้าสะสมอำนาจความมั่งคั่งไปถึงไหน บางคนยังหวังจะให้ลูกหลานตระกูลตนสืบต่อไปอีก ทั้งๆ ที่ถ้ามนุษย์ทั้งโลกดำรงชีพอยู่ไม่ได้ ก็ไม่มีลูกหลานตระกูลไหนจะอยู่ได้

มีแต่เราต้องเรียนรู้จักตัวเอง สังคม และโลก มองการณ์ไกล เห็นแก่ส่วนรวม แบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ สังคม ที่คำนึงถึงธรรมชาติระบบนิเวศ ประโยชน์ของส่วนรวมระยะยาวให้ได้เท่านั้น เราจึงอยู่รอดอย่างมีคุณภาพชีวิตได้