ตามหาองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 61

ตามหาองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 61

กฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทย นั้นมีมานานพอสมควรแล้ว แต่เป็นกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภคเป็นการเฉพาะเรื่อง

เช่น พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2466 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบคุมดูแล เครื่องชั่ง เครื่องตวง เครื่องวัด ที่ใช้ในการซื้อขายสินค้าให้เที่ยงตรงๆ ไม่มีการเอาเปรียบกันทั้งฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขาย ต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไข โดยตราพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 ออกใช้บังคับแทน พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 เป็นการควบคุมดูแลการค้าการขายสินค้าอุปโภคและบริโภคเพื่อสวัสดิภาพของประชาชน พระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายควบคุมราคาสินค้าและมิให้มีการผูกขาด เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ ต่อมาได้แก้ไขปรับปรุงโดยตราเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ออกใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหาร พ.ศ. 2507 เป็นกฎหมายควบคุมคุณภาพอาหารและมาตรฐานของอาหาร ต่อมาได้ปรับปรุงแก้ไขตราเป็นพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ออกใช้บังคับแทน

ในปี 2522 การคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทยก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง นอกเหนือจากมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเป็นการเฉพาะเรื่องหลายฉบับแล้ว ได้มีการตรากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคออกใช้บังคับเป็นการทั่วไป และมีการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นด้วย นั้นคือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยมีเหตุผลที่สำคัญคือผู้ประกอบธุรกิจการค้าและผู้ที่ประกอบธุรกิจโฆษณาได้นำวิชาการในทางการตลาดและทางการโฆษณามาใช้ในการส่งเสริมการขายสินค้าและบริการ ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ เพราะผู้บริโภคไม่อยู่ในฐานะที่ทราบภาวะตลาด และความจริงที่เกี่ยวกับคุณภาพและราคาของสินค้าและบริการต่างๆ ได้อย่างถูกต้องทันท่วงที

นอกจากนั้น ในบางกรณีแม้จะมีกฎหมายให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคโดยการกำหนดคุณภาพและราคาของสินค้าและบริการอยู่แล้วก็ตาม แต่การที่ผู้บริโภคแต่ละรายจะไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ย่อมจะเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเป็นการไม่คุ้มค่า และผู้บริโภคจำนวนมากไม่อยู่ในฐานะที่จะสละเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีได้

หลักการที่สำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ มีการกำหนดสิทธิของผู้บริโภค มีการกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจและให้มีการจัดตั้งองค์กรของรัฐขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค คือ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและจัดตั้งหน่วยงานคือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นเพื่อปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค

ในปี 2540 การคุ้มครองผู้บริโภคก้าวหน้าขึ้นไปอีก เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคมาก โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 57 คือ

“มาตรา 57 สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องบัญญัติให้มีองค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎและข้อบังคับและให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค”

ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงหลักการให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61

“มาตรา 61 สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค

ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภครวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย”

ทั้งนี้ มาตรา 303 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินหลังจากเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ดำเนินการจัดทำกฎหมายจัดตั้งองค์การตามมาตรา 61 ให้เสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่แถลงนโยบาย

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีข่าวคราวเกี่ยวกับคุณภาพข้าวถุงที่วางจำหน่ายในท้องตลาดของผู้ผลิตบางราย อาจเสื่อมคุณภาพ มีเชื้อรา และมีสารฆ่าแมลงปนเปื้อน ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดหวั่นถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการบริโภคข้าวถุง โดยไม่มั่นใจว่าข้าวถุงของผู้ผลิตรายใดที่ปลอดภัยต่อการบริโภค แต่ก็ไม่มีคำชี้แจงอย่างชัดเจนจากทางราชการที่เกี่ยวข้อง จนมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นองค์กรเอกชน ลงทุนซื้อข้าวถุงที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดทุกตรา ส่งให้ห้องวิเคราะห์ที่เชื่อถือได้ ตรวจวิเคราะห์ แล้วนำผลมาแถลงให้ประชาชนทราบว่ามีข้าวถุงตราใดบ้างที่มีสารตกค้างปนเปื้อน และในอัตราเท่าใด ตราใดที่ไม่มีสารฆ่าแมลงตกค้างปนเปื้อน

จากเหตุดังกล่าวมีประชาชนจำนวนมากถามหาว่า องค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 อยู่ที่ไหน เหตุใดจึงไม่ออกมาดำเนินการเช่นที่มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคดำเนินการอยู่ เพื่อช่วยเหลือคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคข้าวถุง

จากการตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้ ปรากฏว่าจนบัดนี้องค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 ยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจาก ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ที่จะจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคยังไม่ผ่านการพิจารณาและประกาศใช้บังคับ ขณะนี้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว รอการบรรจุเข้าวาระเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ต่อไป

โดยเหตุที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งก็คือผู้ซื้อและใช้สินค้าและบริการทุกคนไม่ว่าจะเป็น รัฐมนตรี นักการเมือง สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการทุกหมู่เหล่า หรือประชาชนชาวบ้านทั่วไป ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจนต่างก็เป็นผู้บริโภคทั้งสิ้น

จึงหวังได้ว่าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาคงให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ และดำเนินการประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 ขึ้น เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเร็วต่อไป