ชื่อห้างร้าน หรือบริษัท และ ชื่อทางการค้า : โต๊ะกัง ชื่อนี้มีเจ้าของ

ชื่อห้างร้าน หรือบริษัท และ ชื่อทางการค้า : โต๊ะกัง  ชื่อนี้มีเจ้าของ

ห้าง ร้าน หรือบริษัท จำเป็นต้องมีนามเรียกขาน คือต้องมีชื่อเรียกนั่นเอง เพราะมิฉะนั้นจะเกิดความสับสนไม่อาจแยกแยะได้ว่า เป็นร้าน เป็นห้าง

หรือเป็นบริษัทใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บังคับว่า หากเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องมีชื่อห้างเสมอ ถ้าเป็นบริษัทก็ต้องมีชื่อ และต้องมีคำว่าจำกัดต่อท้ายชื่อเสมอ ส่วนบริษัทมหาชนจำกัด ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด ต้องใช้ชื่อซึ่งต้องมีคำว่า “บริษัท” นำหน้า และ “จำกัด (มหาชน)” ต่อท้าย หรือใช้อักษรย่อว่า “บมจ” นำหน้าแทนก็ได้ ทั้งนี้ ยกเว้น ชื่อธนาคารที่มีกฎกระทรวงยกเว้นไม่ต้องใช้คำว่าบริษัทนำหน้าชื่อ ที่ป้ายชื่อหรือในเอกสารก็ได้

ชื่อทางการค้า (Trade name) คือชื่อที่ใช้เรียกผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่ไม่ได้จดหรืออาจจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็ได้ หรือที่เรียกกันว่าแบรนด์เนม (Brand name) ก็คือชื่อทางการค้านั่นเอง เช่น เป๊ปซี่ โค้ก รองเท้าของแบลลี่ย์ กระเป๋าหลุยส์ หรือชื่อสินค้า บริการ ขบวนการผลิต ที่เป็นที่รับรู้กันทางการค้า เช่น ระบบ Dolby เป็นระบบการบันทึกเสียงที่ได้เสียงที่มีคุณภาพ I.O.S. เป็นระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์ไอโฟน หรือไอแพด เป็นต้น หรือหมายถึงชื่อที่ใช้เรียกขานในการประกอบธุรกิจการค้า ซึ่งอาจแตกต่างจากชื่อของบุคคลหรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจก็ได้ เช่น ห้างเซ็นทรัล เดอะมอลล์ ฟูจิ เป็นต้น

ชื่อห้าง ร้าน หรือชื่อบริษัท หรือชื่อทางการค้า ได้รับการคุ้มครองตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 ที่บัญญัติว่า "สิทธิของบุคคลในการที่จะใช้นามอันชอบที่จะใช้ได้นั้น ถ้ามีบุคคลอื่นโต้แย้งก็ดีหรือบุคคลผู้เป็นเจ้าของนามนั้นต้องเสื่อมเสียประโยชน์เพราะการที่มีผู้อื่นมาใช้นามเดียวกันโดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ได้ก็ดี บุคคลผู้เป็นเจ้าของนามจะเรียกให้บุคคลนั้นระงับความเสียหายก็ได้ ถ้าและเป็นที่พึงวิตกว่าจะต้องเสียหายอยู่สืบไปจะร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้"

นอกจากนี้บริษัทจำกัด ยังได้รับการคุ้มครองชื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1115 และบริษัทมหาชนจำกัด ก็ได้รับการคุ้มครองชื่อตามมาตรา 13 ของกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดด้วย และถ้าหากได้จดชื่อนั้นเป็นเครื่องหมายการค้า ก็จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าอีกด้วย

การประกอบธุรกิจการค้าเป็นร้านหรือห้างขายทองที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่นิยมของผู้ซื้อทองกันมากคือ ร้านหรือห้างขายทองที่ตั้งอยู่ย่านเยาวราช ซึ่งเกือบทั้งหมดจะใช้ชื่อร้านหรือชื่อห้าง หรือชื่อทางการค้า เป็นภาษาจีน

เมื่อมีร้านหรือห้างค้าทองเปิดใหม่ในย่านอื่นของกรุงเทพมหานคร หรือในต่างจังหวัด จะนิยมให้มีคำว่าเยาวราชต่อท้ายชื่อร้านหรือชื่อห้างกันมาก นอกจากนี้ก็มีร้านขายทองบางร้านนำชื่อส่วนหนึ่งของร้านหรือห้างขายทองที่มีชื่อเสียงย่านเยาวราชไปประกอบชื่อร้านขายทองของตนก็มี การนำชื่อเยาวราชไปต่อท้ายชื่อร้านหรือชื่อห้างไม่มีปัญหาอันใด เพราะคำว่าเยาวราชเป็นคำที่เรียกถึงย่านการค้าหรือชื่อถนนที่มีการใช้กันทั่วไป แต่การนำบางส่วนของชื่อร้านหรือห้างค้าทองย่านเยาวราชที่มีชื่อเสียง เช่นคำว่า “โต๊ะกัง” ไปประกอบชื่อร้าน มีปัญหาฟ้องร้องเป็นคดีกันแล้วหลายคดี คำว่า "โต๊ะกัง" มีหลายท่านเข้าใจผิดคิดว่าเป็นภาษาจีนที่มีความหมายถึงทองหรือเกี่ยวกับทองที่เป็นคำสามัญที่ใช้กันทั่วไป แต่ความจริงเป็นชื่อของบุคคลอันเป็นชื่อเฉพาะ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริง จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่มีการฟ้องร้องเรื่องการละเมิดสิทธิในการใช้ชื่อ “โต๊ะกัง” ที่สู้กันจนถึงศาลฎีกาหลายคดี และโจทก์ เป็นฝ่ายชนะคดี คือคดีตามคำพิพากษาฎีกาที่ 439/2546 คำพิพากษาฎีกาที่ 9277/2546 คำพิพากษาฎีกาที่ 5565/2548 คำพิพากษาฎีกาที่ 11315/2553

เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9277/2547 ที่วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองในเครื่องหมายการค้าตั้งแต่ในขณะที่ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ใช้บังคับอยู่ดังนี้ การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ของจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในบังคับอายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 เดิมและบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41 (1) ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิ ไม่ต้องฟ้องภายในระยะเวลาการฟ้องคดี 5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

ฝ่ายโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" และ "ตั้งโต๊ะกัง" ที่เป็นภาษาไทย จีน และอังกฤษ ซึ่งเขียนว่า "TOH KANG" และ "TANG TOHKANG" มาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษของโจทก์ที่ 2 โดยใช้กับสินค้าจำพวกทองคำ คำดังกล่าวเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ไม่ได้มีความหมายว่าทองคำหรือเกี่ยวข้องกับทองคำแต่อย่างใด หากแต่เป็นชื่อสกุลของบรรพบุรุษของฝ่ายโจทก์ที่ประกอบกิจการค้าทองคำติดต่อกันมาตั้งแต่ก่อนปี 2464 เป็นเวลากว่า 80 ปีแล้ว และยังใช้คำว่า "ตั้งโต๊ะกัง" เป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ที่ 1 ตลอดมาด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 เพิ่งมาประกอบกิจการร้านทองในลักษณะเดียวกับโจทก์ทั้งสองเมื่อปี 2515 และต่อมาในปี 2531 ถึงปี 2532 จำเลยที่ 1 จึงได้นำคำว่า "โต๊ะกัง" เป็นภาษาไทย คำว่า "โต๊ะกัง" เป็นอักษรภาษาไทยและจีนรวมกัน คำว่า "โต๊ะกังบุ้นกี่" เป็นอักษรภาษาไทยและจีนรวมกัน คำว่า "TOH KANG" เป็นอักษรภาษาอังกฤษกับคำว่า "โต๊ะกังเยาวราช" เป็นอักษรภาษาไทยไปยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกเงิน ทอง นาก และอัญมณี

ดังนี้ เห็นได้ว่า เครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 นำไปยื่นคำขอจดทะเบียนไว้นั้น ทุกเครื่องหมายจะมีคำว่า "โต๊ะกัง" แสดงว่าสาระสำคัญหรือลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า ของจำเลยที่ 1 อยู่ที่คำว่า "โต๊ะกัง" หาใช่อยู่ที่คำว่า "บุ้นกี่" หรือ "เยาวราช" ซึ่งเป็นเพียงส่วนประกอบไม่ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า คำว่า "โต๊ะกัง" ที่เป็นภาษาไทย จีนและอังกฤษของโจทก์ทั้งสอง จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดสินค้า เป็นการจดทะเบียนโดยไม่สุจริต เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยที่ 1 แม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้จดทะเบียนต่ออายุเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็ตาม ก็ไม่ทำให้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองที่ใช้ติดต่อกันมาโดยตลอดเสียไปแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองย่อมฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ได้

จำเลยทั้งสองนำชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองใช้เป็นชื่อห้างย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าสถานประกอบการค้าทองของจำเลยทั้งสองเป็นสถานประกอบการค้าทองของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นสถานประกอบการค้าทองที่โจทก์ทั้งสองมีส่วนรวมอยู่ด้วย เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการสับสนหรือหลงผิดดังกล่าวได้เช่นกัน เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสองให้ใช้ชื่อทางการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง เนื่องจากการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองโดยไม่ชอบนั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 420