Credit Rating นั้น...สำคัญไฉน

Credit Rating นั้น...สำคัญไฉน

6 เดือนผ่านไปไวเหมือนโกหกค่ะ นับถอยหลังอีกไม่กี่วันก็จะเริ่มต้นครึ่งหลังของปี 2556 กันแล้ว

หากมองย้อนกลับไปดูภาวการณ์ลงทุนช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ต้องยอมรับค่ะว่า ภาวการณ์ลงทุนมีความผันผวนสูง ใครจะเชื่อว่าดัชนีฯ ตลาดหุ้นไทยที่เคยปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม มาวันนี้กลับปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วและมีทีท่าว่าจะหลุด 1,400 จุด
ส่วนหนึ่งเพราะความคาดหวังถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนเริ่มมีความไม่แน่นอน แถมธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ประกาศชัดในการประชุมเมื่อคืนวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า เฟดจะยังคงอัตราการซื้อสินทรัพย์ไว้ที่ 8.5 หมื่นล้านเหรียญตามเดิม และจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำสุดที่ 0 - 0.25% เหมือนเดิม แต่จะเริ่มชะลอการซื้อสินทรัพย์ในช่วงปลายปี 2556 และน่าจะหยุดการเข้าซื้อเพิ่มเติมในกลางปี 2557 โดยจะพิจารณาตัดสินใจจากสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นหลัก
นี่จึงทำให้ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกรวมทั้งไทยมีความผันผวนมากยิ่งขึ้น เพราะนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นกลุ่มประเทศ TIP (ไทย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์) ส่วนอัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรก็ปรับตัวขึ้นแรงแต่ส่วนใหญ่เกิดจากการขายของสถาบันการเงินในประเทศเป็นหลัก ขณะที่นักลงทุนต่างชาติที่เป็นนักลงทุนระยะยาวหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Real Money ยังไม่ได้ลดการลงทุนจากตลาดพันธบัตรไทยไปเท่าไหร่ เช่นเดียวกับอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าหลุดระดับ 31 บาทไปช่วงหนึ่ง
อีกเรื่องที่ร้อนแรงและมีผลกับตลาดหุ้นไทยไม่แพ้กัน คือข่าวที่ว่า Moody’s ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกอาจพิจารณาลดแนวโน้ม (Outlook) ของประเทศไทยด้วยเหตุผลว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลอาจจะขาดทุนกว่า 2 แสนล้านบาทและถ้าหากรัฐบาลยังยืนยันที่จะดำเนินนโยบายนี้ต่อ อาจเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ Moody’s ทบทวนแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ถึงแม้ว่าล่าสุด Moody’s จะออกมาปฏิเสธว่าอันดับความน่าเชื่อถือของไทยยังมีความมั่นคง แต่ก็ไม่ทำให้กระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ลดน้อยลงแต่อย่างไร
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ทำไมแค่มีข่าวว่า Moody’s ออกมาเตือนเครดิตประเทศไทย จึงสร้างความอลหม่านให้รัฐบาลไทยได้มากขนาดนี้ นั่นเพราะผลกระทบ 3 ประการที่อาจจะตามมาหากมีการปรับลดเครดิตประเทศจริง
ประการแรก คือ Moody’s เป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 1 ในสามแห่งที่ได้รับการยอมรับระดับโลก อีกสองแห่งก็คือ S&P และ Fitch Rating ซึ่งนักลงทุนต่างชาติจะอ้างอิงการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของทั้งสามเจ้าเป็นเกณฑ์การลงทุนสำคัญ ในภาวะทั่วไป นักลงทุนจะดูค่ากลางของ Rating ที่ออกโดยทั้งสามเจ้าเพื่อเป็นตัวแทนว่า ประเทศนั้นๆ มีความน่าเชื่อถือเท่าไหร่ เพื่อนำใช้ไปในการกำหนดวงเงินหรือเพดานลงทุนในสินทรัพย์โดยเฉพาะตราสารหนี้ของประเทศนั้นๆ นับแต่วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป นักลงทุนบางส่วนเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ Rating โดยหากประเทศใดมีการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงไปใกล้ระดับต่ำสุดของเกณฑ์ที่ลงทุนได้ นักลงทุนจะหันมาใช้อันดับความน่าเชื่อถือต่ำสุด (Minimum Rating) หรือเร็วสุด มาเป็นตัวแทนอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ
กรณีประเทศไทย หาก Moody’s มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย อาจส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติบางส่วนทันที แม้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่นๆ จะยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไว้ที่เดิม
ประการที่สอง คือ อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยปัจจุบันที่ Baa1 แม้ว่า Rating ระดับนี้จะอยู่ในกลุ่มที่ลงทุนได้ หรือ Investment Grade แต่ก็ไม่ได้อยู่สูงจากกลุ่ม Speculative เท่าไหร่นัก ในด้านการลงทุนการรักษา Rating ให้อยู่ในกลุ่ม Investment Grade ถือว่ามีความสำคัญมากโดยเฉพาะในมุมมองของนักลงทุนตราสารหนี้ เพราะว่านักลงทุนตราสารหนี้ส่วนใหญ่ คือ กองทุนเพื่อการเกษียณอายุ และธนาคารกลาง มีเกณฑ์การลงทุนที่สำคัญมาก คือ ต้องลงทุนในตราสารหนี้ที่อยู่ในกลุ่ม Investment Grade เท่านั้น
หากตราสารใดถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เพียงแค่ใกล้กับระดับต่ำสุดในกลุ่ม Investment Grade ตราสารนั้นก็จะเริ่มถูกนักลงทุนกลุ่มนี้ขายออกทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้ถูกปรับลดอันดับลงมาเป็นกลุ่ม Speculative เลย
ประการที่สาม อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไม่เพียงแต่ส่งผลกับต้นทุนการกู้ยืมของประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลโดยตรงกับต้นทุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทในแต่ละประเทศด้วย เพราะบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ จะมีเกณฑ์ว่าจะไม่จัด Rating ของบริษัทใดๆ ให้สูงกว่า Rating ของประเทศ และหากประเทศถูกปรับลด Rating บริษัทในประเทศนั้นๆ ก็จะถูกปรับลด Rating ลงตาม
ประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญมากสำหรับการลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน เพราะ Rating ที่ต่ำลง หมายถึงต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น แต่ผลกระทบต่อบริษัทแต่ละแห่งจะแตกต่างกันไปตามโครงสร้างการก่อหนี้ของบริษัท ว่าหุ้นกู้เดิมเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่หรือผันแปร และบริษัทมีแผนระดมทุนในช่วงต่อไปหรือไม่
การลงทุนในหุ้นนั้น ก็ได้รับผลกระทบจาก Rating ที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ในระดับภาพรวม Rating ของประเทศที่ลดลง จะทำให้นักลงทุนต่างชาติต้องการผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นไทยเพิ่มขึ้นกว่าเป้าหมายเดิมเพื่อทดแทน Risk Premium ที่สูงขึ้นตามความเสี่ยงของประเทศ ถ้านักลงทุนต่างชาติวิเคราะห์แล้วเห็นว่าหุ้นไทยไม่สามารถสร้างผลตอบแทนตามเป้าหมายใหม่ได้ ก็อาจมีการลดการลงทุนในหุ้นไทยลง
ส่วนการลงทุนในหุ้นรายบริษัทนั้นย่อมได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เพราะต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น หมายถึงกำไรที่น้อยลงของบริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทจะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันไป บริษัทที่มีหนี้หุ้นกู้หรือเงินกู้สูงย่อมได้รับผลกระทบมากกว่า ขณะที่บริษัทที่มีแผนจะระดมเงินผ่านการออกหุ้นกู้หรือกู้ยืมธนาคารจะได้รับผลกระทบมากกว่าบริษัทที่มีแผนจะระดมทุนผ่านการเพิ่มทุน
สุดท้ายนี้ สิ่งที่นักลงทุนต้องจับตาดูคือ แนวโน้มเสถียรภาพของประเทศมีทิศทางเป็นอย่างไร เพราะแม้ว่า Moody’s จะยืนยันว่าอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไม่ถูกกระทบ แต่ก็มีตัวอย่างในหลายประเทศว่า แม้อันดับความน่าเชื่อถือจะยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่นักลงทุนก็เพิ่มระดับความเสี่ยงให้กับประเทศนั้นๆ ไปแล้ว เช่น กรณีประเทศกลุ่ม PIIGS ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) และ Credit Default Swap (CDS) ปรับสูงขึ้นไปอย่างมากโดยเฉพาะในส่วน CDS ซึ่งเป็นตัวสะท้อนความเสี่ยงประเทศที่เร็วและมีสภาพคล่องที่สุด ซึ่งสำหรับประเทศไทย
แม้ Bond Yield ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจะปรับตัวลดลงแต่ Credit Default Swap ของไทยไม่ได้ปรับลดลงตามเท่าไหร่นัก สะท้อนว่านักลงทุนมีความกังวลในความเสี่ยงของประเทศไทยบางเรื่องอยู่ และถ้าหากความเสี่ยงนั้นเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น Bond Yield จะเริ่มปรับสูงขึ้นก่อนที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะปรับลด Rating ของประเทศแน่นอน