ก๊าซธรรมชาติกับโครงสร้างตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลง (1)

ก๊าซธรรมชาติกับโครงสร้างตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลง (1)

เมื่อสองตอนที่ผ่านมาผมได้พูดถึงโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปของประเทศไทยไปแล้วว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

และแต่ละส่วนนั้นมีผลต่อโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปดังกล่าวอย่างไร คราวนี้ผมจะมาพูดถึงพลังงานอีกชนิดหนึ่งซึ่งถือเป็นพลังงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเนื่องจากพลังงานชนิดนี้ถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งก็คือก๊าซธรรมชาตินั่นเอง

ก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ในประเทศไทยนั้นมาจาก 3 แหล่งหลักๆ แหล่งแรกคือก๊าซธรรมชาติที่จัดหาได้ภายในประเทศ แหล่งที่สองคือก๊าซธรรมชาติที่นำเข้ามาจากประเทศพม่า และแหล่งที่สามก็คือก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าในรูปของเหลว ที่เรียกกันว่าก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas หรือ LNG) โดยก๊าซที่ได้จากสามแหล่งนี้ก็จะเข้ามารวมกันในระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อส่งต่อไปยังผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติต่อไป

ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว (Proven reserve) ตามข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งหากจะดูว่าสามารถใช้ได้อีกเท่าไหร่ก็ให้นำปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยของประเทศซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานปี 2555 มาคำนวณก็จะได้อีกเพียง 6-7 ปีเท่านั้น แต่ถ้าหากเรามาคิดรวมกับปริมาณสำรองที่คาดว่าจะพบ (Probable reserve) ซึ่งก็จะมีอีกประมาณ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ก็จะยืดอายุการใช้ไปเป็นประมาณ 12-13 ปี เท่านั้น นี่เป็นแค่การคำนวณเทียบกับปริมาณการใช้เฉลี่ยปี 2555 เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาตินั้นเติบโตขึ้นตลอดเวลา โดยส่วนใหญ่นั้นก็มาจากภาคการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเพื่อที่จะรองรับกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่เติบโตขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ หากไม่เราไม่สามารถจัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศเพิ่มเติมได้ ระยะเวลาของการใช้ก๊าซธรรมชาติก็จะหดสั้นลงไปอีก

นอกจากนี้ ถ้าเราดูถึงปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยต่อวันของประเทศไทยในปัจจุบัน จะเห็นว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ได้จากอ่าวไทยเฉลี่ยต่อวันนั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ เราจึงจำเป็นที่จะต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากประเทศสหภาพพม่าผ่านทางระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและนำเข้าทางเรือในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG โดยในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ ประเทศไทยเรามีการนำเข้าก๊าซจากประเทศสหภาพพม่าประมาณเฉลี่ยอยู่ประมาณ 768 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเป็น LNG อีก 150 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งก๊าซธรรมชาติที่เรานำเข้ามานี้ก็จะมามีผลต่อราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศ

ปัจจุบัน สูตรราคาก๊าซธรรมชาติที่กำหนดโดยรัฐ ซึ่งก็คือคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาตินั้น เป็นราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามปริมาณของก๊าซธรรมชาติที่ได้มาจากทั้ง 3 แหล่ง โดยก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยนั้นมีสัดส่วนที่สูงที่สุดคืออยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 รองลงมาคือก๊าซธรรมชาติจากสหภาพพม่า และ LNG ที่มีสัดส่วนน้อยที่สุด ซึ่งหากเรามามองถึงปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ขณะที่ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศเริ่มลดลงเรื่อยๆ ก็จะเห็นว่าปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาตินั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก็จะหมายถึงสัดส่วนของราคาของก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าก็จะเข้ามาเฉลี่ยในสูตรราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ LNG ซึ่งมีราคาที่ค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยในประเทศและราคาก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากประเทศสหภาพพม่า ดังนั้น เมื่อไรก็ตามที่สัดส่วนของ LNG เพิ่มสูงขึ้นก็จะส่งผลทำให้ราคาเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

สำหรับราคานำเข้า LNG ภายใต้สัญญาระยะยาวและระยะปานกลางที่มีการซื้อขายกันอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น จะถูกอิงเข้ากับสูตรราคา LNG ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นผู้นำเข้า LNG รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยในสูตรราคานั้นจะมีการอ้างอิงกับราคาเฉลี่ยของน้ำมันดิบนำเข้าของประเทศญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า Japanese Crude Cocktail หรือ JCC นั่นเอง

สำหรับการซื้อขายแบบทันที หรือ Spot นั้น ก็จะเป็นการซื้อขายโดยผ่านกลไกทางการตลาดที่โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะอิงกับราคาประเมินของ LNG ที่มีการขนส่งไปยังประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลีใต้ในแต่ละวันซึ่งจะประกาศโดย Platts ที่สิงคโปร์ หรือที่เรียกกันว่า Platts Japan/Korea Marker (JKM) ซึ่งสาเหตุที่ใช้ราคาของประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลีใต้ก็เพราะทั้งสองประเทศเป็นประเทศที่มีการนำเข้า LNG ในปริมาณที่สูงมากๆ

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้ ก็เพื่อต้องการให้เห็นว่าในอนาคตนั้น LNG จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในประเทศที่เริ่มที่จะลดน้อยลงเรื่อยๆ และราคาของ LNG นั้นก็จะเข้ามาส่งผลกระทบต่อราคาก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยเรามากขึ้น สำหรับในตอนหน้าผมจะมาเล่าต่อถึงแนวโน้มของความต้องการ LNG ในอนาคตรวมถึงเรื่องของการคาดการณ์ราคา LNG ที่ถูกมองกันว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากการค้นพบแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาตินอกรูปแบบหรือที่เรียกกันว่า Unconventional Gas อย่างมากมายมหาศาลในทวีปอเมริกาเหนือต่อไปครับ