สุขภาพจิตของสังคม

สุขภาพจิตของสังคม

ข่าวที่ชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมไทยผิดปรกติจากเดิมมาก และอาจจะกล่าวได้ว่าผิดปรกติจากสังคมที่ควรจะเป็นมากขึ้นทุกที

การทะเลาะวิวาทกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องมีหนาหูมากขึ้น ไม่ว่าการจอดรถปิดทางกันอย่างที่เป็นข่าวดังเมื่อหลายเดือนก่อน หรือการทำร้ายกันของวัยรุ่นซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกวัน (ข่าววันที่ 15 พฤษภาคม เด็กวัยรุ่นเดินชนกันหน้าลิฟต์ จากนั้นก็ชกต่อยกันและอีกฝ่ายหนึ่งที่มีจำนวนมากกว่าใช้มีดดาบไล่ฟันจนได้รับบาดเจ็บ)

ผมได้ยินผู้คนทั่วไปบ่นเชิงตั้งคำถามอยู่บ่อยๆ ทำนองว่าคนสมัยนี้เขาเป็นอะไรกัน ทำไมถึงใจร้ายใจดำใจอำมหิตต่อกันมากขึ้น เพราะไม่เพียงแค่ข่าวการทะเลาะวิวาท ข่าวการละเมิดผู้อื่นในรูปแบบต่างๆ ก็ทวีมากขึ้นด้วย จนดูเหมือนว่าคนในสังคมไทยเป็นโรคจิตกันถ้วนทั่วทุกตัวคน ข้อมูลจากหน่วยงานที่ทำงานด้านสุขภาพจิตก็พบว่าคนไทยมีปัญหาทางจิตใจสูงขึ้นกว่าเดิมมาก

ปัญหาสุขภาพจิตของคนในสังคมมักจะถูกมองว่าเกิดขึ้นจากปัจเจกชนหรือหากจะเชื่อมโยงต่อเนื่องก็จะเน้นที่ครอบครัวเท่านั้น การมองสุขภาพจิตว่ามาจากปัจเจกชนก็จะทำให้การรักษา “โรค” เน้นอยู่ที่การให้ยาเคมีเพื่อเข้าไปแก้ไขเฉพาะเรื่องนั้นๆ เช่น ยาแก้โรคซึมเศร้า เป็นต้น หากมองปัญหาไปที่ครอบครัวก็จะเน้นการรณรงค์ให้ครอบครัวมีความรักและดูแลกัน ซึ่งโดยมากแล้วสังคมไทยชอบการรณรงค์ แต่ก็รู้อยู่เต็มอกว่าไม่มีผลอะไร (นอกจากได้ใช้เงินงบประมาณ)

คำถามง่ายๆ เช่นว่า ทำไมเด็กวัยรุ่นญี่ปุ่นจึงไม่ตีกันกลางถนนเหมือนเด็กไทย ทำให้ต้องมองแล้วว่าปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาของคนแต่ละคนหรือครอบครัวแต่ละครอบครัวเท่านั้น หากแต่เป็นปัญหาของสังคมโดยแท้และบางปัญหาเป็นของสังคมเฉพาะถิ่นด้วยซ้ำไป เช่น ในประเทศไทย การฆ่าตัวตายที่สูงมากเป็นอันดับต้นจะอยู่ที่พื้นที่ภาคเหนือตอนบน

แม้ว่าการยอมรับว่าสังคมเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อปัญหาสุขภาพจิตให้ผู้คนแต่การอธิบายก็มักจะไม่เพียงพอในการทำความเข้าใจ เช่น ผู้ชายเป็นกลุ่มที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ ในขณะที่ผู้หญิงมักจะฆ่าไม่สำเร็จเพราะการฆ่าตัวตายของผู้หญิงเป็นเพียงการเรียกร้องความใส่ใจจากคนรอบข้างเท่านั้น

ผมคิดว่าสังคมไทยกำลังอยู่ในจังหวะช่วงของความเปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้ง และความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีระบบเพียงพอที่ทำให้คนจำนวนมากสามารถตระหนักรู้ได้ว่าตนกำลังอยู่ตรงจุดใดของสังคม

สังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้ประกอบไปด้วยการเคลื่อนย้ายอย่างสูง (High Mobility) ที่สำคัญได้แก่ การเคลื่อนย้ายทางชุมชน ซึ่งนำไปสู่สภาวะที่คนจำนวนมากรู้สึกถึงความเสี่ยงรูปแบบต่างๆ ที่กำลังเผชิญสูงมากขึ้น (High risk) ภายใต้สภาวะเช่นนี้ก่อให้เกิดการใช้อารมณ์ความรู้สึกสูงตามไปด้วย (High on Emotion)

สภาวะของการดำรงอยู่ของผู้คนในสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงสามสูงดังกล่าวมานี้ (ต้องบอกก่อนว่าสามสูงนี้ไม่เกี่ยวกับเจ้าสัวซีพีนะครับ ผมปรับมาจากแนวคิดเรื่อง “สามสูง” ของอาจารย์อานันท์ กาญจนพันธ์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครับ) ปรากฏให้เห็นทั้งในระดับชีวิตประจำวันธรรมดาที่ไม่ถือว่าเป็นโรคจิต เช่น การเข้าสู่ลัทธิแก้กรรม การขยายตัวของหมอดู และในระดับที่เข้าข่ายโรคจิต เช่น การทำร้ายคนไม่รู้จักของวัยรุ่น การปาหินใส่รถยนต์

ภายใต้สถานการณ์สามสูงนี้ ได้ก่อให้เกิดการสูญเสียความหมายของตัวตน การสร้างความหมายใหม่ของการมีชีวิต หรือ ความเปลี่ยนแปลงการให้ความหมายแก่สรรพสิ่งรอบตัว ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นฐานที่จะทำให้ปัจเจกชนก่อพฤติกรรมที่ผิดแผกออกไปได้มากขึ้นๆ จนในหลายกรณีจะก้าวเข้าสู่การวินิจฉัยเป็นโรคจิตได้

คนแต่ละกลุ่ม/แต่ละชนชั้นในสังคมล้วนแล้วแต่ดำรงอยู่ในสถานการณ์ทางสังคมที่มีความเสี่ยงสูงสามประการนี้ หากแต่ผลกระทบที่มีต่อคนแต่ละกลุ่ม/แต่ละชนชั้นไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งก็จะส่งผลให้เกิดการปรับตัวทางจิตใจที่แตกต่างกันไปด้วย คนบางกลุ่ม/บางชนชั้นอาจจะถูกกระทบหนักมากจนต้องเข้าไปสู่โรงพยาบาลโรคจิต บางกลุ่ม/บางชนชั้นกระทบไม่มากนัก ก็อาจจะหันเข้าหาศาสนาและลัทธิพิธีใหม่ๆ (ที่น่าสนใจ ได้แก่ ผู้หญิงชนชั้นกลางเก่าจะเข้าสู่ศาสนาและลัทธิพิธีใหม่ๆ ที่เน้นการควบคุมจิตใจ ขณะที่ผู้หญิงชนชั้นกลางใหม่/ชนชั้นกลางล่างจะเข้าสู่ลัทธิพิธีที่เน้นความเสมอภาคและการรวมกลุ่ม) ส่วนวัยรุ่นแต่ละกลุ่มแต่ละชนชั้น แม้ว่าจะเป็นกลุ่มที่เกิดในสังคมสามสูงอย่างแท้จริงเหมือนกัน แต่ก็จะได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน

หากเราพิจารณาว่าสุขภาพจิตของผู้คนสัมพันธ์กับสังคมอย่างแนบแน่น ก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมให้มากขึ้น เพื่อที่การรักษา “สุขภาพจิตของสังคม” ดำเนินไปพร้อมๆ กับการรักษาโรคจิตของปัจเจกชน เพราะการใช้ยาเคมีเพื่อรักษาสภาพจิตใจของคนไข้นั้นควรจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่แพทย์จะใช้ (ในปัจจุบัน การใช้ยาเคมีเป็นเรื่องแรกและเรื่องหลักของการรักษาทางแพทย์ทางจิตศาสตร์)

ที่สำคัญ หน่วยราชการที่ทำงานทางด้านนี้โดยเฉพาะ เช่น กรมสุขภาพจิต ควรที่จะได้รับงบประมาณให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อที่จะได้ทำงานที่กว้างขวางมากกว่าการดูแลโรคจิตแบบปัจเจกชนเช่นในปัจจุบัน (งบประมาณกรมสุขภาพจิตน้อยมากจนน่าแปลกใจ) เพราะการเตรียมคนในสังคมให้รับรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมและความสับสนของจิตใจตนเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้นในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้

การแสวงหาความรู้นอกเหนือจากความรู้การใช้ยาเคมีก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง กรมสุขภาพจิตหรือหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้ น่าจะแสวงหาทางร่วมมือศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่สัมพันธ์กับปัญหาโรคจิต กับกลุ่มนักวิชาการหรือสถาบันการศึกษาทางด้านสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ เพื่อที่จะขยายพรมแดนความรู้ความเข้าใจสุขภาพจิตของสังคมให้ลึกซึ้งขึ้น