สู่โลกใหม่

สู่โลกใหม่

คำกล่าวที่ว่า “การเดินทางเปิดโลกทัศน์ใหม่” (Travel broadens the mind) ยังคงเป็นจริงเสมอ

เพราะหลายต่อหลายครั้งที่การเดินทางนำไปสู่สิ่งใหม่ที่ไม่คาดคิด และทำให้เรามีมุมมองแปลกใหม่ และการเดินทางไปเยือนรัสเซีย หนึ่งในสี่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคตนั้น เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้ผู้เขียนอย่างยิ่งยวด เพราะระหว่างเดินทางนั้น ในมือผู้เขียนจะติดหนังสือเล่มหนึ่งตลอดเวลา

หนังสือเล่มนั้นคือ “The Growth Map: Economic opportunity in the BRICs and beyond” โดย จิม โอนิล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และนักกลยุทธ์ค่าเงินของโกล์ดแมน แซคส์ วานิชธนกิจอันดับหนึ่งของโลก

สำหรับตัวผู้เขียนแล้ว ตื่นเต้นมากที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ที่อธิบายที่มา จุดอ่อนจุดแข็ง รวมถึงความเสี่ยงและโอกาสของ BRIC อันเป็นคำที่เขาคิดขึ้น โดยประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ที่กำลังจะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจของโลกในอีกไม่เกิน 2 ทศวรรษนี้

โอนีลเล่าว่า เขาคิดค้นคำนี้เมื่อปี 2544 ในขณะที่บรรยายเรื่องทิศทางดอลลาร์สหรัฐใน 10 ปีข้างหน้า โดยมุมมองของเขาเห็นว่า ในระยะยาวดอลลาร์จะต้องอ่อนค่าลงอย่างแน่นอน จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง และทำให้เขาคิดต่อว่า เงินสกุลใดที่จะแข็งขึ้นมาทดแทน และพบว่าสกุลเงินจากประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ประชากรมาก เกินดุลบัญชีเดินสะพัด และชนชั้นกลางเติบโตอย่างรวดเร็วทั้ง 4 ประเทศนี้ที่จะแข็งค่าขึ้นมาทดแทน

จากแบบจำลองเศรษฐศาสตร์มหภาค โอนีลพบว่าขนาดเศรษฐกิจของทั้งสี่ประเทศ จะขึ้นมายิ่งใหญ่ทดแทนกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 6 ประเทศเดิมอีกไม่เกิน 27 ปีข้างหน้า (ค.ศ. 2040) โดยในปัจจุบัน จีนได้แซงอังกฤษ เยอรมนี และญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสอง ตามที่เขาทำนายแล้ว

ด้านอินเดียอีก 2 ปี จะใหญ่ขึ้นแซงอิตาลี และในอีก 20 ปี จะแซงฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่นมาเป็นอันดับสาม ขณะที่รัสเซีย และบราซิลจะตามมาเป็นเศรษฐกิจอันดับสี่และห้าในเวลาไล่เลี่ยกัน

ในปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก ทั้งในองค์กรระหว่างประเทศอย่าง IMF รัฐบาลต่างๆ รวมทั้งสำนักวิจัยเอกชน ต่างนำหลักการ BRIC ไปขยายผลต่อ โดย IMF คาดว่ากลุ่มประเทศ BRIC จะขยายตัวที่ประมาณ 3.7-8.7% ใน 5 ปีข้างหน้า สูงกว่ากลุ่ม G3 (สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น) ที่อยู่ที่ 1.2-3.7% ในช่วงเดียวกัน ขณะที่นิตยสาร The Economist คำนวณว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ประมาณ 3.0% นั้น กลุ่มประเทศ BRIC มีส่วนผลักดันถึงกว่าครึ่ง (1.5%)

จะเห็นว่าไม่ว่าในปัจจุบันหรืออนาคต BRIC มีส่วนผลักดันเศรษฐกิจโลกทั้งสิ้น แต่การพิจารณาแบบรวมกลุ่มเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด เพราะในแต่ละประเทศมีลักษณะและจุดอ่อนจุดแข็งแตกต่างกัน โดยสรุปได้ดังนี้

ในส่วนของบราซิล ยักษ์ใหญ่แห่งละตินอเมริกานั้น มีจุดแข็งสูงสุดได้แก่การเป็นผู้ผลิตและส่งออกโภคภัณฑ์โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและพลังงาน ประกอบกับมีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สามารถดึงเงินเฟ้อจาก 3 หลัก ลงเหลือหลักเดียว ขณะที่ภาคการใช้จ่ายในประเทศมีสัดส่วนสูงจากการที่ประชาชนเข้าถึงภาคการเงินได้ดี แต่การพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์ทำให้เงินเฟ้อในบราซิลสูงและผันผวน อันเป็นความเสี่ยงของบราซิลอย่างต่อเนื่อง

ด้านรัสเซีย พี่ใหญ่แห่งยุโรปตะวันออกมีจุดแข็งสูงสุดได้แก่เป็นประเทศผู้ผลิต/ส่งออกน้ำมันดิบอันดับต้นของโลก ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงเพราะจะได้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน แต่เศรษฐกิจก็จะหดตัวแรงหากเกิดวิกฤตโลกที่ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลง

นอกจากนั้นรัสเซียยังมีจุดอ่อนที่สำคัญจากอายุขัยประชากรที่ต่ำ โดยเฉพาะชาย (ที่ประมาณ 60 ปี) จากการดื่มว๊อดก้าจำนวนมาก ทำให้บั่นทอนสุขภาพ และส่งผลต่อกำลังแรงงานในอนาคต นอกจากนั้นรัสเซียยังห่างไกลรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยและโปร่งใส โดยการติดต่อทำธุรกิจภายในยังต้องมีเส้นสาย และผู้มีอิทธิพลอยู่มาก (ภาษารัสเซียเรียกว่า Oligarch)

ด้านอินเดีย ยักษ์ใหญ่แห่งชมพูทวีปนั้น มีจุดแข็งสูงสุดที่ประชากรจำนวนมาก (1.2 พันล้านคน ใกล้เคียงจีนที่ 1.4 พันล้านคนและสูงกว่าอีก 2 ประเทศเกือบ 10 เท่า) และเข้าใจภาษาอังกฤษดี ทำให้ภาคบริการขยายตัวดี โดยเฉพาะภาคเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับโลกตะวันตก ขณะที่มีจุดอ่อนสำคัญสามประการคือ หนึ่ง สาธารณูปโภคที่ยังล้าหลังอยู่มาก สอง ระบบการปกครองแบบอนุรักษนิยมสุดโต่ง แบ่งแยกชนชั้น และมองต่างชาติเป็นศัตรู (Protectionism Sentiment) ทำให้การลงทุนโดยตรงในอินเดียมีจำนวนน้อยกว่าประเทศ BRIC อื่น ๆ มาก และสาม ระบบราชการ การอำนวยความสะดวกด้านธุรกิจการค้า และระบบการศึกษาที่ยังต้องพัฒนาอีกมาก

ยักษ์ใหญ่ประเทศสุดท้ายได้แก่ จีน มหาอำนาจอันดับสองของโลกที่จะกลายเป็นอันดับหนึ่งภายใน 15 ปีข้างหน้านั้น มีจุดแข็งสูงสุดได้แก่การปกครองและรัฐบาลที่เน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจก่อนการเมือง ขณะที่ความมั่งคั่ง (Wealth) ของประชาชนที่สูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับความเป็นชุมชนเมือง (Urbanization) ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัย รถยนต์ และการบริโภค รวมถึงสินค้าฟุ่มเฟือยยังมีอีกมาก

ขณะที่มีจุดอ่อนสำคัญสองประการ คือ หนึ่ง ประชากรวัยทำงานของจีนกำลังลดลงอย่างรวดเร็วจากนโยบายบุตรคนเดียว และสอง จีนยังเผชิญกับปัญหาเชิงจุลภาค เช่น การคอร์รัปชันในระดับสูง ระบบการศึกษาและสวัสดิการสังคมที่เสื่อมถอยลง ภาคการเงินที่ระบบการเงินใต้ดินยังคงเฟื่องฟู และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้น จากคุณภาพของอากาศและน้ำที่แย่ลงอย่างรวดเร็ว

ในส่วนสุดท้าย โอนีลวิเคราะห์ถึงนัยสำคัญของกลุ่ม BRIC ที่จะมีต่อเศรษฐกิจและการลงทุนโลกในระยะต่อไป โดยมองในสามประการ

ประการแรก ด้านการบริโภค การที่ชนชั้นกลางและรายได้ของกลุ่ม BRIC เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น จะทำให้ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ โดยมองว่าภายใน 12 ปีข้างหน้า การบริโภคในกลุ่ม BRIC จะเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า ใหญ่กว่าตลาดสหรัฐทั้งตลาด และจะเพิ่มโดยเฉลี่ยกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี

การบริโภคในระดับมหาศาลดังกล่าว ทำให้ความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยจากประเทศตะวันตกที่แสดงถึงฐานะมีมากขึ้น เช่น รถยนต์ กระเป๋า โทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต เสื้อผ้าแบรนด์เนม รวมถึงที่อยู่อาศัยแบบคอนโดมิเนียมใจกลางเมือง ขณะที่ผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตภายในประเทศ จะสามารถจับกลุ่มชนชั้นกลางล่างได้บ้าง

ประการที่สอง ความต้องการทรัพยากร โอนีลเห็นว่า เศรษฐกิจกลุ่ม BRIC ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการทรัพยากรเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เห็นได้จากราคาน้ำมันและโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันรวมถึงโภคภัณฑ์ต่าง ๆ อาจไม่พุ่งสูงขึ้นมากในระยะต่อไป จากเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ที่ทำให้ทั้งการผลิตและการใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพขึ้น

ประการสุดท้าย โอกาสในการลงทุน โอนีลเห็นว่า ตลาดที่เติบโตสูง ประกอบกับภาคการเงินที่กำลังพัฒนา จะทำให้ผลตอบแทนในการลงทุนสินทรัพย์ภาคการเงินในกลุ่ม BRIC มีมาก รวมถึงสามารถลงทุนในบริษัทในซีกโลกตะวันตกที่ส่งสินค้าไปขายยังกลุ่ม BRIC

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่ม BRICs มีศักยภาพเติบโตสูง แต่ยังขาดการปฏิรูปเชิงสถาบัน เช่น การเมืองการปกครอง คอร์รัปชัน การบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงภาคการเงิน เป็นต้น ฉะนั้น จึงเป็นไปได้ที่อาจเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่ม BRIC ในช่วง 2 ทศวรรษข้างหน้า แต่ก็น่าจะพลิกฟื้นขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องลงทุนอย่างระมัดระวังและกระจายความเสี่ยง

กลุ่มมหาอำนาจใหม่ด้านเศรษฐกิจของโลกถือกำเนิดขึ้นแล้ว นักลงทุน นักธุรกิจ และผู้กำหนดนโยบายต้องปรับตัว พร้อมรับกับมหาอำนาจแห่งโลกใบใหม่นี้