ฮ่องกง สะพานเชื่อมจีนสู่สากล

ฮ่องกง สะพานเชื่อมจีนสู่สากล

ศูนย์กลางทางการเงินในแถบภูมิภาคเอเชีย ก็คือ สิงคโปร์และฮ่องกง

ทั้งสองเมืองนั้น ได้แข่งขันกันอย่างเข้มข้นในการพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นศูนย์กลางของตลาดเงินและตลาดทุน โดยต่างมีหลักการและรูปแบบดำเนินการที่แตกต่างกัน สิงคโปร์ดูจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น สังเกตจากการประชุมต่างๆ ที่มักจัดในประเทศนี้ แต่จากการประชุมที่ฮ่องกงเมื่อเร็วๆ นี้ ได้พบความน่าสนใจของฮ่องกงที่เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา ประชากรมีความเป็นอิสระและมีความเป็นเจ้าของกิจการค่อนข้างสูง ดูได้จากสองข้างถนนที่มีร้านรวงขนาดเล็ก ท่ามกลางตึกสูงที่มีความหลากหลายในการออกแบบทั้งภายในและภายนอก มีเชนสโตร์ที่เป็นของคนฮ่องกงอยู่มากพอควร ทั้งที่เป็นร้านอาหาร ร้านขนม เสื้อผ้า รวมทั้งร้านอาหารบนทางเท้า ด้วยเหตุนี้ฮ่องกงจึงเป็นที่นิยมชมชอบในการไปชอปปิงและทานอาหารอร่อยๆ เนื่องจากสินค้าที่หลากหลายคุณภาพและไม่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกับค่าเงินที่อ่อนลงตามดอลลาร์สหรัฐที่เงินฮ่องกงดอลลาร์ผูกติดอยู่

ปัจจุบันฮ่องกงเป็นเขตบริหารพิเศษภายใต้การปกครองของจีนนับจากปี 1997 หลังจากที่อังกฤษหมดสัญญาเช่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น ฮ่องกงได้อานิสงส์จากความเจริญรุ่งเรืองของจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นด้วย GDP ที่โตเป็นเลขสองหลักอยู่หลายปี แม้ปัจจุบันจะลดลงไปสู่ระดับ 7-8% แต่ด้วยขนาดของเศรษฐกิจที่มีประชากรมากกว่าพันล้านคน จีนจึงยังเป็นแหล่งดึงดูดความสนใจจากนานาประเทศทั่วโลก ที่ต้องการแสวงหาโอกาสลงทุนในสินทรัพย์ หรือหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีนเพื่อผลตอบแทนที่สูง

แต่จากข้อจำกัดที่ผู้ลงทุนต่างประเทศไม่สามารถเข้าไปในประเทศจีนได้อย่างเสรี ฮ่องกงในฐานะส่วนปกครองพิเศษของจีนจึงอาสาที่จะเป็นศูนย์กลางหรือประตูสู่การลงทุนในจีนให้กับชาวต่างประเทศ โดยเอื้ออำนวยให้ธุรกรรมการลงทุนในจีนสามารถดำเนินการผ่านตลาดฮ่องกงได้อย่างเป็นระบบ

ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเปิดช่องทางให้บริษัทจากจีนจดทะเบียนผ่าน H Share รวมถึงมีการออก ETF ที่อ้างอิงกับหลักทรัพย์ของจีน ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่อ้างอิงกับหลักทรัพย์จีนจึงเป็นที่นิยมและซื้อขายในตลาดฮ่องกง ผู้ลงทุนสามารถได้รับความสะดวกจากกฎหมายที่เป็นสากล ความเคลื่อนไหวของเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่มีอุปสรรค และอัตราภาษีที่จูงใจ ประกอบกับผู้ลงทุนต่างชาติไม่ต้องขออนุญาตเป็นรายบุคคลในการเข้าไปลงทุนในจีน (Qualified Foreign Investor)

ในวันนี้เหตุการณ์กลับข้างกันเสียแล้ว จากความต้องการเงินลงทุนต่างชาติเพื่อการพัฒนาประเทศ จีนปัจจุบันกลับกลายเป็นผู้มีฐานะที่มั่งคั่ง เป็นผลจากความเจริญรุ่งเรืองที่สั่งสมและงอกเงยมาในรอบหลายปี ภาครัฐมีเงินกองทุนระหว่างประเทศ (International Reserves) สูงถึง 3,331 พันล้านดอลลาร์ (ประเทศไทยมีประมาณ 179 พันล้านดอลลาร์) ชาวจีนในทุกๆ สถานที่ท่องเที่ยวเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ในสินค้าแบรนด์แนม ความร่ำรวยของชาวจีนนี้เองเป็นจุดเปลี่ยนที่รัฐบาลจีนได้หันมาปรับนโยบายการจำกัดเงินทุนเคลื่อนย้ายให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถลงทุนในสินทรัพย์และเงินลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดของการออกไปลงทุนในต่างประเทศก็เริ่มที่จะผ่อนคลาย ในขณะเดียวกันกฎเกณฑ์ของชาวต่างประเทศที่จะมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดอนุพันธ์ของประเทศจีนก็เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น โดยจะมีการอนุญาตให้ผู้ลงทุนต่างชาติสามารถเข้าถึงตลาดอนุพันธ์ได้ในปีนี้

ฮ่องกงนั้นใช้นโยบายเดิม แต่ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จากการเป็นประตูสำหรับชาวต่างชาติในการเข้าไปลงทุนในจีน ให้เป็นสะพานในการนำพาชาวจีนให้ก้าวเข้าสู่โลกการลงทุนในระดับสากลผ่านฮ่องกง ผู้ลงทุนชาวจีนสามารถพูดภาษาจีนกลางในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากประเภทรวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์ของต่างประเทศ

ดูเสมือนว่าความสามารถในการสื่อสารภาษาจีนได้จะได้เปรียบในการทำธุรกิจทีเดียว รัฐบาลจีนมุ่งที่จะทำให้ประเทศเป็นสากล (Internationalization) โดยกำหนดนโยบายและการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งการผ่อนคลายกฎเกณฑ์และการอนุญาตให้ไปลงทุนในต่างประเทศนั้นมักจะเริ่มที่ฮ่องกง เพื่อให้สามารถที่จะกำกับหรือรับทราบความเคลื่อนไหวได้ในช่วงแรกก่อนที่จะเปิดเสรีต่อไป เช่น การอนุญาตให้จัดตั้งกองทุน ETF ที่ลงทุนในหุ้น A Share ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้หรือตลาดหลักทรัพย์เซิ่นเจิ้นโดยตรง จากเดิมที่เป็นการลงทุนในตราสารที่ผันแปรไปตามความเคลื่อนไหวของ A Share

ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงนั้นได้ดำเนินกลยุทธ์ที่จะต้องขยายขอบเขตสินค้าและบริการเพิ่มเติมนอกจากความเชี่ยวชาญด้านหุ้นเพียงอย่างเดียว เพื่อให้สอดรับกับเงินลงทุนมหาศาลที่มาจากจีน จึงเข้าไปประมูลซื้อตลาด LME- London Metal Exchange ในปีที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถขยายสินค้าและบริการที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ โดย LME นั้นเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย โลหะประเภทต่างๆ ได้แก่ อะลูมิเนียม ทองแดง และสังกะสี เป็นต้น

ในส่วนของบริการประเภทใหม่ๆ นั้น ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงได้ประกาศที่จะขยายธุรกิจไปสู่พันธบัตรและตราสารหนี้ โดยอาจเริ่มจากการเป็นศูนย์ชำระราคาสำหรับตลาดพันธบัตร ซึ่งเป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นในตลาดที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากธุรกรรมการซื้อขายและชำระราคาในตลาดอนุพันธ์โดยทั่วไปนั้น จะมีหลักการและขั้นตอนการบริหารความเสี่ยงที่เข้มข้น และ มีประสิทธิภาพกว่าในตลาดโอทีซี ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง จึงคาดหวังว่าจะสามารถให้บริการแก่ผู้ลงทุนชาวจีนและในภูมิภาคทั้งด้านสินค้าโภคภัณฑ์และตราสารหนี้ เพื่อให้ครอบคลุมสินทรัพย์เพื่อการลงทุนในทุกๆ ประเภท

ส่วนประเทศไทย ผู้ลงทุนที่สนใจซื้อขายฟิวเจอร์สและออพชั่นอย่างมืออาชีพ ล่าสุด ตลาด TFEX ได้จัดโครงการ TFEX Challenge Academy ซึ่งเป็นการอบรมความรู้เกี่ยวกับการซื้อขายใน TFEX อย่างเข้มข้น พร้อมทดลองซื้อขายผ่านโปรแกรมจำลองโดยมีโบรกเกอร์พี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำในการซื้อขายตลอดโครงการ กิจกรรมนี้มีกำหนดจัด 3 รุ่น ซึ่งรุ่นที่ 1 ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมเป็นอย่างดี โดยรุ่นที่ 2 เริ่มเปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ - 22 เมษายน 2556 รับจำนวนจำกัด 200 คน และเริ่มการอบรมครั้งแรก 27 เมษายนนี้ ระยะเวลาการอบรมประมาณ 1 เดือน ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ www.tfex.co.th