เสียงสะท้อนจากคนรุ่นใหม่

เสียงสะท้อนจากคนรุ่นใหม่

คนรุ่นใหม่ Gen Y ที่กำลังทำงานอยู่ในองค์กรต่างๆทุกวันนี้ มักจะเป็นจำเลยของผู้บริหารรุ่นเก่า หรือรุ่นพี่ ด้วยวิถีปฎิบัติที่ไม่ตรงกัน

ความเข้าใจในกันและกันของคนในองค์กร ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งงานใด มีพื้นฐานการศึกษาและครอบครัวมาจากไหน แต่เมื่อเข้ามาอยู่ร่วมชายคาโรงงานหรือสำนักงานเดียวกันแล้ว การทำงานแบบร่วมด้วยช่วยกัน มุ่งมั่น ทุ่มเท และมีเป้าหมายเดียวกัน จะทำให้ทั้งคนและองค์กรพัฒนาก้าวหน้าในที่สุด แต่แน่นอนเมื่อคนมาอยู่รวมกัน ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมที่แตกต่างกันนี้เอง ที่อาจทำให้เกิดความแตกแยกจากเบาไปหาหนักได้ เหตุเพราะลืมเอาตัวตนออกไป และขาดการใส่ใจให้เกียรติกันนั่นเอง

คนรุ่นใหม่ Gen Y ที่กำลังทำงานอยู่ในองค์กรต่างๆทุกวันนี้ มักจะโดนกล่าวหาหรือเป็นจำเลยของผู้บริหารรุ่นเก่า หรือรุ่นพี่ที่ทั้งแก่และอยู่มาก่อน อาจเรียกว่า จริต หรือวิถีปฎิบัติไม่ตรงกัน นั่นเพราะต่างฝ่ายต่างตั้งอยู่ในจุดยืนที่แข็งแรง และตั้งมั่นแบบไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ตัวอย่างสิ่งที่มักจะกล่าวถึงคนรุ่นใหม่วัย 20 ต้นๆที่เพิ่งก้าวเข้าสู่รั้วการทำงาน อาทิ ความไม่ทุ่มเท ความไม่รับผิดชอบ ความไม่อดทน ความไม่ตรงต่อเวลา ความใจร้อน ซึ่งสำหรับผมคิดว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ดูจะหนักไป แม้ว่ามันจะมีส่วนจริงอยู่บ้างตามที่เรามักเห็นกัน แต่นั่นก็อาจจะเป็นเพราะสภาพสังคม ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการเลี้ยงดูด้วยวัตถุของคนรุ่นใหม่ ที่พ่อแม่ไม่มีเวลาอยู่กับลูกมากนัก

ซึ่งถ้าลองไล่เลียงทีละประเด็น และนำมาถามตรงให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสนั่งตอบคำถามเหล่านี้จากใจจริงๆ ก็คงดี ว่าแล้วผมก็หาเหยื่อมาได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่มากพอที่จะเป็นตัวแทนแบบมีนัยสำคัญทางสถิติหรอก แต่อย่างนั่งฟังพวกเขาบ้าง ในฐานะเราเป็นคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ อาจจะช่วยเชื่อมต่อความเข้าใจของผู้บริหารรุ่นเก๋ากับพนักงานวัยใสได้บ้าง

คำถามหนึ่งที่มักจะเจอในการสัมภาษณ์งานสำหรับคนที่เริ่มต้นทำงานใหม่ๆก็คือ “ทำไมเปลี่ยนงานบ่อย บางที่อยู่ไม่ถึงปีก็ลาออกแล้ว” หนุ่มวัยใสคนหนึ่งตอบว่า “แต่ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ก็เป็นกันแบบนี้นะ และผมยังเชื่อว่าสำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีไฟและตามหาอนาคตที่ตนเองก็ยังไม่รู้ว่าคืออะไร ก็พยายามที่จะไขว่คว้าหาโอกาสที่น่าจะใช่ และลองไปเรื่อยๆ แต่เมื่อถึงวันหนึ่งในอนาคตไม่ไกลก็จะเริ่มค้นพบว่า นี่ไงสิ่งที่ตามหามานาน เพียงแต่ว่าเร็วช้าขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางกลุ่มอาจจะทำงานแบบชิวๆสบายๆ ก็อาจจะช้าหน่อย แต่สำหรับคนที่มีฝันและความมุ่งมั่นก็จะค้นพบได้เร็ว” ผมนึกทบทวนย้อนกลับไปในอดีตเมื่อซัก 20 กว่าปีที่ผ่านมา พร้อมกับลำดับประสบการณ์การทำงานนับตั้งแต่ที่แรกจนมาถึงที่สุดท้ายที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เห็นว่าก็มีส่วนจริง หรือนี่คือปรากฎการณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย

เมื่อผมนึกถึงเพื่อนที่เรียนมหาวิทยาลัยมาในรุ่นเดียวกัน ก็พบว่าส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนงานกันถี่บ่อยเหมือนกันในระยะ 5 ปีแรก แต่ข้อสังเกตที่พบอีกเช่นกันก็คือ ระยะเวลาในการทำงานในที่หลังๆจะเริ่มนานขึ้น จนกระทั่งที่ทำงานหลังสุดจะเริ่มอยู่นานหลายปี ซึ่งมองได้ 2 อย่างคือ ประการแรก เริ่มเบื่อหน่ายกับการย้าย เริ่มไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง หรือประการที่สอง คือเจอสิ่งที่ใช่ได้ทำในสิ่งที่ชอบและรู้สึกว่าที่นี่มีอนาคตแบบที่ตนเองวาดฝันไว้ มีความรักความผูกพันกับองค์กรแล้ว

อีกประเด็นหนึ่งคือความไม่รับผิดชอบ หรือไม่ทุ่มเทเท่าที่ควร แน่นอนถ้าเรามองกลับไปที่ผู้บริหารรุ่นเก่า หรือคนที่เกษียณไปแล้ว เราคงรู้สึกได้ว่าเขาเหล่านี้ทุ่มเทให้กับการทำงานเป็นอย่างมาก อาจเรียกได้ว่าชีวิตคือการทำงาน เพราะฉะนั้นขณะที่ปฎิบัติงานอยู่นั้นมันคงเหมือนว่ากำลังดำเนินชีวิตไปอยู่นั่นเอง คนรุ่นเก่าจึงมักจะทำงานเก็บเงินไว้ใช้ในยามยาก หรือหวังว่าจะได้เที่ยวพักผ่อน ทำสวน ในยามเกษียณ แล้วคนรุ่นใหม่คิดอย่างไร “ผมคิดว่านั่นเป็นความลำบากของรุ่นพ่อแม่ หรือปู่ย่าที่ต้องขยัน เพราะประเทศเราสมัยนั้นก็ยังไม่พัฒนา ต้องการกำลังแรงงานในการพัฒนาประเทศมาก แต่ปัจจุบันเราจัดเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางที่พยายามจะขยับตัวเองไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เราอาจจะไม่ต้องทำงานหนักใช้แรงงานมากเหมือนก่อน แต่เรามีกำลังคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้มาก มีการศึกษาสูง ถ้าเด็กรุ่นใหม่ได้มีโอกาสและสภาพแวดล้อมที่เอื้อในการให้เขาได้ใช้ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ น่าจะดีกว่าที่ต้องใช้แรงงานเป็นหลัก”

เมื่อผมมานั่งคิดตามประกอบกับการที่ได้มีโอกาสคลุกคลีกับภาคธุรกิจเอกชนมากมาย ก็พบว่ามีส่วนจริงเหมือนกัน เพราะว่าในขณะที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบันก้าวหน้าทันสมัย และก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วมาก บุคลากรรุ่นใหม่ก็ได้รับการศึกษาสูงขึ้น มีคนไทยที่ไปจบต่างประเทศมากขึ้น แต่ภาคธุรกิจยังปรับตัวค่อนข้างช้า คำว่าฐานการผลิตที่เป็นลักษณะรับจ้างผลิตที่เน้นแรงงานเข้มข้น และสร้างความได้เปรียบจากค่าแรงที่ต่ำ จำเป็นต้องปรับตัวไปสู่การใช้แรงงานฝีมือ (Skilled worker หรือ Multi-skilled worker) มากขึ้น และประเทศไทยเราก็ควรจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการสร้างนวัตกรรม ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เหมือนมาเลเซียที่ปรับโครงสร้างการผลิตไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน

เพียง 2-3 ประเด็นที่เริ่มพูดคุยกัน ก็เริ่มมีอรรถรสและความคิดที่ช่วยจุดประกายถึงแนวทางและวิธีการบริหารจัดการองค์กรสมัยใหม่ขึ้นมา เชื่อว่าถ้าองค์กรต่างๆสามารถสร้างพื้นที่ เปิดใจ และขยายโอกาสให้คนรุ่นเก่า มานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันกับคนรุ่นใหม่ บางทีองค์กรอาจจะค้นพบหนทางที่จะนำไปสู่การพัฒนาองค์กรที่มีสมรรถนะสูงได้ในที่สุด

สุดท้ายนี้ขอฝากข้อคิดเพื่อการสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงานในองค์กร ผู้บริหาร และผู้ประกอบการ ดังนี้ “องค์กรที่หล่อเลี้ยงคนด้วยน้ำใจ น่าจะดีกว่าองค์กรที่หล่อเลี้ยงคนด้วยน้ำเงินเป็นแน่แท้ เพราะแบบแรกทุกคนจะแบ่งปันกัน ช่วยเหลือกัน แต่แบบหลังทุกคนมีแต่จะแย่งชิง และโยนความรับผิดชอบให้กัน”