ฮูโก ชาเวซ และหนังสือผู้นำและคนสำคัญของโลก

ฮูโก ชาเวซ และหนังสือผู้นำและคนสำคัญของโลก

ฮูโก ชาเวซ ประธานาธิบดีนักปฏิรูปแนวสังคมนิยมของประเทศเวเนซุเอลา ผู้วายชนม์เมื่อเร็วๆ นี้ มีประวัติการต่อสู้และบทบาททางการเมืองที่น่าเรียนรู้

สำหรับประชาชนประเทศซีกโลกใต้อย่างพวกเรามาก ผู้สนใจขอให้หาอ่านจากหนังสือที่ผมเขียนให้สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ พิมพ์เมื่อปี 2551 ชื่อว่า “ฮูโก ชาเวซ ผู้นำการเมืองใหม่แห่งลาตินอเมริกา” สำหรับผลงานการบริหารประเทศของเขาในช่วงได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีถึง 3 สมัย (14 ปี) พอสรุปได้คือ

1. แก้ไขรัฐธรรมนูญเวเนซุเอลาให้เป็นประชาธิปไตย เป็นธรรม และปกป้องผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่มากขึ้น ให้สิทธิคนจนพื้นเมืองมากขึ้น ประชาชนมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยทางตรง เช่น เข้าชื่อกันเพื่อขอลงประชามติถอดถอนเจ้าหน้าที่รัฐระดับต่างๆ ตั้งแต่ประธานาธิบดี ผู้ว่าการรัฐระดับต่างๆ ตั้งแต่ประธานาธิบดี ผู้ว่าการรัฐ ผู้พิพากษาได้ การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งต่อไปต้องผ่านเสียง 2 ใน 3 ของส.ส. และส.ว.ก่อน และต้องผ่านการลงประชามติของประชาชนทั้งประเทศ

2. แก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันและหาประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ ปฏิรูปองค์กรรัฐวิสาหกิจน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งตั้งแต่เดิมถูกครอบงำโดยคนชั้นสูงเพื่อประโยชน์ของตนและพรรคพวกมากกว่าที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยการส่งผู้บริหารมืออาชีพเข้าไปบริหารแทน ต่อรองเรียกร้องค่าสัมปทาน ผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัทน้ำมันต่างชาติที่เข้ามาลงทุนขุดเจาะผลิตน้ำมันในเวเนซุเอลาเข้ารัฐได้เพิ่มขึ้น และนำรายได้ที่ได้เพิ่มขึ้นไปช่วยพัฒนาการศึกษา สาธารณสุข และการขายอาหารราคาถูกให้คนจน ช่วยแก้ปัญหาลดคนจนลงได้มาก

3. ปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปเรื่องที่อาศัยอย่างขนานใหญ่ เพิ่มภาษีและโอนกิจการฟาร์มขนาดใหญ่มาเป็นของรัฐและประชาชน ฟื้นฟูการเกษตรและการผลิตอาหารเพื่อพึ่งตนเองเพิ่มขึ้น เพราะเศรษฐกิจเวเนซุเอลาแต่เดิมพึ่งแต่การนำรายได้จากน้ำมันไปสั่งเข้าอาหารและสินค้าอื่นๆ มาก

4. ต่อต้านการผูกขาดและเอาเปรียบของบรรษัทข้ามชาติด้วยการเพิ่มกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ถ้าทำตามเกณฑ์ไม่ได้ก็จะถูกปรับ ถูกบีบให้ต้องขายกิจการให้รัฐ แปรรูปกิจการเอกชนด้านโทรคมนาคมไฟฟ้า อุตสาหกรรมไฮโดรคาร์บอน ธนาคาร สื่อ มาเป็นของรัฐเพิ่มขึ้น ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและสร้างสหกรณ์ใหม่ๆ อย่างขนานใหญ่

ปฏิรูประบบบริหารรัฐวิสาหกิจโดยระบบสภาคนงานและสหกรณ์ผู้ผลิตที่คนงานเป็นเจ้าของและผู้บริหาร ส่งเสริมให้ประชาชนจัดตั้งสหกรณ์ผู้ผลิตและผู้บริโภคในแทบทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยมีกระทรวงเศรษฐกิจภาคประชาชน (Popular Economy) เป็นผู้ให้ความสนับสนุนทั้งเรื่องการฝึกอบรม การให้เงินทุนสนับสนุนเบื้องต้นและการให้เงินกู้คิดดอกเบี้ยต่ำ มีการออกกฎหมายสหกรณ์ที่ยกเว้นภาษีให้สหกรณ์ กำหนดว่าหน่วยงานรัฐต้องซื้อสินค้าและบริการจากสหกรณ์ก่อนจะไปซื้อจากธุรกิจเอกชน

5. ปฏิรูปการศึกษา สาธารณสุข โครงการพัฒนาต่างๆ โดยใช้ระบบอาสาสมัครจากทั้งทหารและพลเรือนออกไปทำงานพัฒนาชุมชน สอนหนังสือ ทำสัญญาแลกเปลี่ยนแพทย์ ครู และนักเทคนิคจากคิวบาราว 2 หมื่นคนมาช่วยพัฒนาด้านสาธารณสุข การศึกษา และอื่นๆ โดยเวเนซุเอลาขายน้ำมันราคาถูกผ่อนส่งระยะยาวให้คิวบา และจ่ายเบี้ยเลี้ยงเงินเดือนให้อาสาสมัครจากคิวบาในระดับพอเพียงยังชีพ ให้บริการการศึกษาและสาธารณสุขให้คนจนเพิ่มขึ้นอย่างมาก รัฐบาลเวซยังลงทุนขยายการศึกษาระดับสูงและให้ทุนคนจนได้มีโอกาสเรียนถึงมหาวิทยาลัยมากขึ้นด้วย

6. ส่งเสริมการจัดตั้งองค์กรประชาชนประเภทต่างๆ (รวมทั้งสื่อชุมชน) โดยเฉพาะเรื่องสภาชุมชน ที่ส่งเสริมให้ประชาชนในละแวกเดียวกัน 20-400 ครอบครัว ยื่นขอจัดตั้งเป็นสภาชุมชนที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลในเรื่องเงินทุนเพื่อการพัฒนาโครงการต่างๆ สำหรับชุมชน เงินกู้เพื่อการลงทุนทางเศรษฐกิจร่วมกันของชุมชน และความช่วยเหลือทางเทคนิคอื่นๆ โดยสมาชิกทุกคนมาเข้าประชุมเลือกคณะกรรมการการชุมชนชุดต่างๆ บริหารกันเองแบบอาสาสมัครโดยไม่มีเงินเดือน มีเฉพาะค่าใช้จ่ายในการทำงานเพื่อชุมชนเท่านั้น เป็นการพัฒนาประชาธิปไตยทางตรง ที่ส่งเสริมผลักดันให้องค์กรปกครองท้องถิ่นแบบเทศบาลต้องทำงานเพื่อประชาชนเพิ่มขึ้น

7. ร่วมมือกับประเทศซีกโลกใต้บนหลักการของผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรม แทนการแข่งขันหากำไรแบบตัวใครตัวมันของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม เช่น ตั้งธนาคารแห่งซีกโลกใต้, ตั้งกลุ่มการค้าเสรีและการร่วมมือกันกับประเทศเพื่อนบ้าน, แลกเปลี่ยนสินค้ากันในราคามิตรภาพ ต่อรองกับธนาคารแห่งลาตินอเมริกาให้ลดหนี้ให้ประเทศที่มีปัญหา ฯลฯ

ฮูโก ชาเวซ เป็นผู้นำคนหนึ่งใน 500 กว่าคนที่ผมเสนอประวัติย่อไว้ในหนังสือใหม่ของผมชื่อ “สารานุกรมผู้นำและคนสำคัญของโลก” พิมพ์โดยสำนักพิมพ์แสงดาว หนังสือเล่มนี้สรุปประวัติศาสตร์โลกและประวัติย่อๆ ของผู้นำและคนสำคัญของโลกที่ผมคัดเลือกคนจากซีกโลกใต้ ผู้หญิง ผู้นำและนักปฏิวัติฝ่ายก้าวหน้า ผู้นำด้านต่างๆ ทั้งนักเขียน ศิลปิน นักปรัชญา นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ นักปฏิรูป ฯลฯ (รวมทั้งคนไทย 5 คนด้วย) มากกว่าหนังสือประวัติบุคคลสำคัญของโลกส่วนใหญ่ ซึ่งมักเน้นแต่พวกฝรั่งผู้ชายที่เป็นนักปกครอง นักการเมือง

หนังสือเล่มนี้สรุปประวัติศาสตร์โลกในรอบ 5,000 ปี และจัดเรียงลำดับประวัติของผู้นำ/คนสำคัญตามปีเกิดของแต่ละคน เพื่อช่วยให้ผู้อ่านอ่านแบบหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไปที่เข้าใจคนในยุคสมัยต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ไม่ได้เรียงตามลำดับชื่อคนตามอักษร A-Z แบบสารานุกรมทั่วไป (แต่ถ้าต้องการค้นหาชื่อผู้นำคนสำคัญคนใดคนหนึ่งก็สามารถเปิดค้นหาจากดัชนีค้นคำท้ายเล่มได้) นอกจากนี้ยังได้คัดคำคมหรือคำคัดอ้างของผู้นำและคนสำคัญส่วนใหญ่ไว้ด้วย ทำให้ผู้อ่านเข้าใจแนวคิดของพวกเขาและเธอ อีกทั้งยังได้ข้อคิดจากคนที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์โลกเหล่านี้เพิ่มขึ้น

ผมจะไปพูดในงานเปิดตัวหนังสือใหม่ เรื่อง “เศรษฐศาสตร์แนวใหม่ เพื่อชีวิตและระบบนิเวศที่สันติสุข” โดยสำนักพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (ร่วมกับนักเขียนอีก 1 ท่าน) ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2556 เวลา 18.00-19.00 น. ที่เวทีเอเทรียม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หนังสือเล่มนี้เสนอแนวคิด ทฤษฎี หลักการ และขบวนการของเศรษฐศาสตร์แนวระบบนิเวศ (Ecological Economics) ที่ก้าวหน้าและมองปัญหาทั้งเศรษฐศาสตร์และนิเวศวิทยาอย่างเป็นระบบที่เจาะลึกมากกว่าหนังสือภาษาไทยเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์สีเขียวหรือเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่เราเคยมีมา