เมื่อ CG บริษัทเป็นปัจจัยตัดสินใจของนักลงทุน

เมื่อ CG บริษัทเป็นปัจจัยตัดสินใจของนักลงทุน

อาทิตย์ที่แล้ว สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD ได้จัดสัมมนาย่อยให้สมาชิกที่เป็นกรรมการบริษัท

เรื่องการดึงดูดความสนใจของนักลงทุนสถาบัน เพื่อสะท้อนบทบาทของนักลงทุนสถาบันในการส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือ Corporate Governance ที่เรามักเรียกกันย่อๆ กันว่า CG ให้เกิดขึ้นในบริษัทจดทะเบียน ผ่านการลงทุนของนักลงทุนสถาบัน บทบาทดังกล่าวเป็นเรื่องที่ในต่างประเทศให้ความสำคัญมานานพอควร และในบ้านเราแนวโน้มดังกล่าวเริ่มตื่นตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี


ประเด็นก็คือ นักลงทุนสถาบันจะมีเงินลงทุนมาก เพราะต้องบริหารเงินลงทุนของผู้ออมที่เป็นสมาชิกกองทุน ในกรณีของไทย วงเงินดังกล่าวอาจมีมากกว่า 1 ล้านล้านบาท เพราะอัตราการออมของประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ในการทำหน้าที่ นักลงทุนสถาบันมีความรับผิดชอบที่ต้องลงทุนอย่างระมัดระวัง เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีและเงินลงทุนมีความปลอดภัย ที่ผ่านมาการพิจารณาลงทุนจะให้ความสำคัญประเด็นด้านธุรกิจเป็นสำคัญ นั้นก็คือ ความสามารถในการทำกำไร และผลประกอบการของบริษัทที่จะลงทุน แต่กระแสที่ก่อตัวมากขึ้นระยะหลัง ก็คือ นอกจากประเด็นเรื่องผลประกอบการบริษัทแล้ว นักลงทุนสถาบันก็ให้ความสำคัญมากขึ้นกับวิธีการบริหาร และการกำกับดูแลกิจการของบริษัท เพราะเชื่อว่าการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีผลโดยตรงต่อผลประกอบการ และความยั่งยืนของบริษัท


ในประเด็นผลประกอบการ การศึกษาเชิงวิชาการมีข้อสรุปชัดเจนว่า ปัจจัยด้านธรรมาภิบาลมีผลทางบวกต่อมูลค่าบริษัท เช่นต่อ Price to Book ratio ขณะที่การกำกับดูแลกิจการที่ดีที่ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจของบริษัทอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของ คณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ลูกค้า เจ้าหนี้ บริษัทคู่ค้า รวมถึงท้องถิ่น และประชาชน จะมีผลอย่างสำคัญต่อความยั่งยืนของบริษัท ข้อสรุปทั้งสองข้อนี้เป็นที่ยอมรับ ทำให้ปัจจัยด้านธรรมาภิบาลได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของนักลงทุนสถาบัน


เรื่องนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะ


หนึ่ง การไม่มีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการบริษัทหรือในการกำกับดูแลกิจการ เช่น บริษัทถูกครอบงำโดยผู้ถือหุ้นในลักษณะครอบครัว หรือมีผู้ถือหุ้นไม่กี่รายที่ครอบงำการบริหารบริษัท ลักษณะดังกล่าวเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุนของนักลงทุน เพราะไม่สามารถมีความมั่นใจได้ว่าการบริหารจัดการบริษัทจะทำเพื่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน หรือเฉพาะแต่เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่


สอง ธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์เช่นปัจจุบัน ปัจจัยต้นทุนธุรกิจระหว่างบริษัทต่างๆ จะไม่ค่อยแตกต่างกัน เพราะต้นทุนที่บริษัทต้องบริหาร ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน หรือเทคโนโลยี ต้นทุนเหล่านี้จะคล้ายๆ กัน เพราะต้องซื้อจากตลาดโลกเดียวกัน ขณะที่อัตราภาษีก็มีความแตกต่างระหว่างประเทศน้อยลง เพราะประเทศแข่งขันกันสร้างแรงจูงใจ ดังนั้น ส่วนที่เหลืออยู่ที่จะทำให้บริษัทมีความแตกต่างในแง่ความสามารถในการทำธุรกิจ ก็คือ ความสามารถในเรื่องนวัตกรรม หรือ Innovation และวิธีการกำกับดูแลกิจการบริษัท โดยเฉพาะในประเด็นว่าบริษัทมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือไม่ และความแตกต่างในการกำกับดูแลนี้ ก็เป็นปัจจัยที่อธิบายว่าทำไมบริษัทมีความสำเร็จทางธุรกิจที่แตกต่างกันในระยะยาว ด้วยเหตุนี้ ธรรมาภิบาล จึงกลายเป็นปัจจัยแข่งขันทางธุรกิจ ทำให้บริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ได้เปรียบ เพราะจะได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุน ทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง


สาม ในระดับบริษัท ความยั่งยืนของธุรกิจจะมาจากการบริหารจัดการภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี อันนี้เป็นที่ยอมรับ ทำให้บริษัทที่มีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ มีศักยภาพที่จะเติบโตในระยะยาว


ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนสถาบันจึงให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทในการพิจารณาลงทุน และสิ่งที่นักลงทุนได้ทำมากขึ้นในการเลือกบริษัทเพื่อลงทุน ก็คือ ทำการทดสอบด้านธรรมาภิบาลในระดับบริษัท เพื่อให้ทราบว่าบริษัทมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีมากน้อยแค่ไหนก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งในกระบวนการต่างๆ ที่บริษัทควรมีตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และในการนำหลักการเหล่านี้มาปฏิบัติจริง ในการทดสอบนี้ นักลงทุนสถาบันจะเข้าพบผู้บริหารบริษัทโดยตรงเพื่อซักถามเรื่องธรรมาภิบาล เช่น ใครเป็นเจ้าของบริษัท บริษัทมีธุรกรรมประเภทธุรกรรมเกี่ยวข้องหรือไม่ ใครเป็นกรรมการอิสระ และกรรมการมีความรู้ความสามารถตรงต่อความต้องการของธุรกิจบริษัทหรือไม่ บริษัทเปิดเผยข้อมูลมากน้อยแค่ไหน ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน บริษัทที่ไม่ผ่านการทดสอบนี้ ก็คือบริษัทที่ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้ ทำให้บริษัทเสียโอกาสที่จะได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุน


ในงานสัมมนา IOD ได้เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนสถาบันในประเทศไทยต่อบทบาทที่นักลงทุนสถาบันสามารถทำได้ในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีในภาคเอกชน ซึ่งผลสำรวจมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ


หนึ่ง นักลงทุนสถาบันในประเทศส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 82 ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการของบริษัทในการพิจารณาลงทุน ในระดับมากถึงมากที่สุด และนักลงทุนทุกสถาบันที่ตอบแบบสำรวจก็ระบุเหมือนกันว่า ได้นำเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาเป็นประเด็นหนึ่งในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน


สอง หมวดการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามหลัก OECD ที่มีผลต่อการพิจารณาลงทุนมากที่สุด ในกรณีของนักลงทุนสถาบันไทยก็คือ หมวดการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส (ร้อยละ 81) รองลงมาคือ หมวดความรับผิดชอบของคณะกรรมการ (ร้อยละ 52) ตามด้วยหมวดการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ร้อยละ 49) ขณะที่ปัจจัยด้านธรรมาภิบาลที่นักลงทุนสถาบันไทยให้ความสำคัญมากที่สุดในการพิจารณาลงทุน ก็คือ คุณภาพของรายงานการเงิน (ร้อยละ 60)


สาม นักลงทุนสถาบันไทยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 59) ได้กำหนดเป็นนโยบายไว้แล้ว ว่าต้องพิจารณาประเด็นการกำกับดูแลกิจการของบริษัทก่อนตัดสินใจลงทุน ขณะที่ร้อยละ 23 ยังไม่ได้กำหนดเป็นนโยบาย แต่จะทำในอนาคต


ดังนั้น ชัดเจนว่าการกำกับดูแลกิจการที่ดี ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนสถาบันใช้พิจารณาเลือกบริษัทที่จะลงทุน บริษัทธุรกิจไทยจึงควรต้องตระหนัก และให้ความสำคัญกับแนวโน้มนี้ เพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัท และต่อเงินลงทุนที่บริษัทจะได้จากนักลงทุน บริษัทไทยจึงควรเตรียมตัวในเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันนักลงทุนมีการคาดหวังสูงขึ้นในสิ่งที่บริษัทควรทำเพื่อสร้างความไว้วางใจ และความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน