ยกเลิกใบสั่งเอ็มดีแบงก์รัฐ

ยกเลิกใบสั่งเอ็มดีแบงก์รัฐ

ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อน ที่ทำให้ความน่าเชื่อถือ ต่อกระทรวงการคลังในการกำกับดูแล หน่วยงานในสังกัดลดลงอีกครั้ง

เมื่อตัวเลขหนี้เสียใน 2 แบงก์รัฐ ถูกปูดออกมาตามสื่อแขนงต่างๆ ขณะที่ หลายฝ่ายกลับพุ่งเป้าสาเหตุไปที่นโยบายของรัฐบาล

แน่นอนว่า แบงก์รัฐ ถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายการคลังให้แก่รัฐบาลได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่รัฐบาลหลายยุคสมัยหันมาใช้นโยบายประชานิยมกึ่งการคลัง ทำให้สินเชื่อหลายแบงก์รัฐเติบโตแบบก้าวกระโดด

ธนาคารออมสินเป็นหนึ่งในตัวอย่าง ยอดสินเชื่อในระยะ4-5ปีที่ผ่านมา เติบโตมากกว่า 100% แต่ผลประกอบการในภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะตัวเลขหนี้เสียที่ไม่เคยขยายเกินกว่า 5% ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2% เท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสินเชื่อขยายตัว แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ

เอสเอ็มอีแบงก์และอิสลามแบงก์ เป็น 2 แบงก์รัฐ ที่ถูกพูดถึงมากในขณะนี้ เพราะตัวเลขหนี้เสียทยอยพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด อยู่ที่ประมาณ 40% ของยอดสินเชื่อคงค้าง ทั้งสองแห่งมียอดหนี้เสียรวมเกือบ 1 แสนล้านบาท หากใช้มาตรแบงก์เอกชน ทั้งสองแบงก์จะต้องถูกทางการควบคุมกิจการ เพราะถือว่า เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ในระดับต่ำกว่าเกินกว่าที่จะดำเนินการกิจการต่อไปได้

แต่ด้วยกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ การที่จะสั่งปิดกิจการหรือสั่งให้มีการควบรวมกับแบงก์รัฐแห่งอื่น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะนั่นจะสะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพในการกำกับดูแล ฉะนั้น กระทรวงการคลังจึงขอเวลาแก้ตัว โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จะเป็นหน่วยงานหลักในการเข้าไปช่วยฟื้นฟูกิจการ

ย้อนไปพิจารณาถึงประเด็นที่ทำให้ทั้งสองแบงก์มีปัญหาหนี้เสียจำนวนมาก ทางฝ่ายบริหารองค์กรในปัจจุบันระบุสาเหตุสำคัญว่า เป็นเพราะความบกพร่องในการปล่อยสินเชื่อ แน่นอนว่า เอ็มดีและคณะกรรมการชุดก่อนไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้

แต่การตั้งคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบในประเด็นการทุจริต ดูเหมือนจะเป็นเพียงการจัดฉาก เพื่อให้ดูเหมือนไม่ละเลยในหน้าที่ เพราะผลสุดท้ายก็ไม่เคยมีผู้บริหารรายใดที่กระทำความผิด ต้องรับผลในการกระทำ

ส่วนจะเป็นผลจากนโยบายด้วยหรือไม่นั้น คำตอบคือ เป็นเพียงส่วนหนึ่ง โดยหนี้เสียที่เกิดจากโครงการตามนโยบายมีสัดส่วนที่น้อยมาก กล่าวคือ อยู่ในเลขหลักพันล้านบาทเท่านั้น แต่การสวมสิทธิ์ใช้นโยบายหรือมีใบสั่งสินเชื่อจากนักการเมือง โดยมีตำแหน่งผู้บริหารในแบงก์รัฐเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน เป็นประเด็นที่ต้องปฏิรูปจริงจัง

ทั้งนี้ การปฏิรูปแบงก์รัฐ ถือเป็นพันธะกิจของปลัดกระทรวงการคลัง ที่กำหนดให้เป็นหนึ่งในแผนงานอันดับต้นๆ ที่ต้องทำ โดยคาดหวังว่า จะเริ่มต้นที่การสรรหาเอ็มดีแบงก์รัฐที่กำลังเกิดขึ้นอีก 3 แห่ง ประกอบด้วย เอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ บรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม