จาก “Free Somyos” ถึงค่านิยมของเด็กยุคดิจิทัล

จาก “Free Somyos” ถึงค่านิยมของเด็กยุคดิจิทัล

แม้ชื่อของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข จะไม่เป็นที่รู้จักนักในวงการสื่อสารมวลชนของไทย เหมือนดาราอย่าง ณเดชน์ คูกิมิยะ

หรือเซเลบข่าวอย่าง สรยุทธ สุทัศนจินดา แต่ในระดับนานาชาติ ชื่อนี้เป็นที่รู้จักกันดีในบรรดานักรณรงค์เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก

สมยศ เป็นบรรณาธิการของนิตยสาร วอยซ์ ออฟ ทักษิณ (แปลภาษาไทยคือ “เสียงทักษิณ”) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นหลังเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2549 จุดยืนหลักคือการเป็นกระบอกเสียงให้อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่แดนไกล และการต่อต้านขบวนการใดๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จวบจนกระทั่งนิตยสารถูกปิดไปใน พ.ศ. 2553

ก่อนหน้าจะมาทำนิตยสารฉบับดังกล่าว สมยศได้สร้างชื่อเสียงในฐานะนักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน และมีต้นทุนที่ชัดเจนทางสังคมในฐานะอดีตประธานสหภาพพันธมิตรแรงงานประชาธิปไตย แกนนำของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ชุดที่ 2 ประธานกลุ่ม 24 มิถุนา และอดีตเจ้าของนิตยสารและสำนักพิมพ์สยามปริทัศน์

สมยศถูกจับกุมในเดือนเมษายน พ.ศ. 2554 และถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากบทบาทการเป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร วอยซ์ ออฟ ทักษิณ ซึ่งมีการตีพิมพ์บทความของผู้ที่ใช้นามปากกา จิตร พลจันทร์ ในฉบับที่ 15 และ 16 ผู้ที่เป็นโจทก์ฟ้อง คือ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) กล่าวหาว่ามีเนื้อหาอันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

คล้ายๆ กับกรณีของ อากง SMS ก่อนหน้านี้ กรณีของสมยศไม่ค่อยได้รับความสนใจนักจากสื่อกระแสหลักในเมืองไทย ข่าวคราวของสมยศหลังถูกจับกุมมีปรากฏให้เห็นประปรายเฉพาะในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษอย่างบางกอกโพสต์ เดอะเนชั่น หรือในสื่อที่ค่อนข้างชัดเจนว่าเห็นอกเห็นใจกลุ่มคนเสื้อแดงอย่าง โลกวันนี้ หรือมติชน เป็นต้น ที่เห็นกระแสรณรงค์สนับสนุนให้ปล่อยตัวสมยศจากการคุมขังก็จะเป็นในโลกออนไลน์ โดยปรากฏทั้งในสื่อสังคมออนไลน์ เว็บไซต์ หรือเว็บข่าวสาร ในบรรดานี้ มีรายงานถึงการเรียกร้องอิสรภาพให้กับสมยศ (“Free Somyos”) ในหมู่ผู้เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก จากนอร์เวย์ บังคลาเทศ ไปจนถึงเกาหลีใต้ หรือแม้กระทั่งองค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติและสหภาพยุโรป แต่กระนั้น ผู้เปิดรับข่าวสารจากสื่อกระแสหลักในสังคมไทยก็ยังไม่ได้รับรู้ถึงเรื่องราวคดีความของสมยศสักเท่าไรนัก

จนกระทั่งมีการพิพากษาตัดสินในวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งสมยศได้รับโทษจำคุก 10 ปีจากเนื้อหาในสองบทความดังกล่าว กระแสเรียกร้องให้ “Free Somyos” จึงเริ่มก่อตัวขึ้นเป็นริ้วๆ ในสังคมไทย ที่โดดเด่นที่สุดก็เห็นจะเป็นในเหตุการณ์งานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 69 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏถ้อยคำ “Free Somyos” บนเวทีอัฒจันทร์ในสนาม และมีความพยายามจะบรรจุป้ายที่มีถ้อยคำในทำนองเดียวกันในขบวนพาเหรดล้อเลียนการเมือง แต่ถูกสกัดไว้เสียก่อน

ผู้เขียนเห็นว่าการเซนเซอร์การแสดงออกทางการเมืองดังกล่าวมีนัยที่น่าสนใจ จึงนำไปพูดคุยเป็นประเด็นในวิชาสัมมนาเหตุการณ์ปัจจุบันด้านการสื่อสาร ที่สอนอยู่ในหลักสูตรนานาชาติของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนำไปสู่การจัดโต้วาทีในชั้นเรียนในประเด็น “Should Somyos be freed?” (ควรจะปล่อยให้ “สมยศ” เป็นอิสระหรือไม่?) ซึ่งนิสิตระดับปริญญาตรีกว่า 40 คนในชั้นเรียน ได้ทำการค้นคว้าและหามุมมองในการสนับสนุนและคัดค้านประเด็นดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ทั้งๆ ที่ครั้งแรกที่เอ่ยชื่อ “สมยศ” ขึ้นมาในห้อง ดูเหมือนไม่มีใครเคยได้ยินมาก่อน หลายคนถามออกมาว่า “Somyos who?” (ใครกันหรือ สมยศ?)

สำหรับกลุ่มที่เลือกสนับสนุนให้สมยศได้อิสระ ก็อ้างถึงกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศที่ให้หลักประกันเสรีภาพในการแสดงออกอย่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (United Nations Declaration of Human Rights) หรือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามรับรองหรือเป็นภาคีร่วมทั้งสองฉบับ โดยส่วนใหญ่กลุ่มนี้มองว่าบทลงโทษรุนแรงเกินไปสำหรับความผิดที่กระทำ และอาจส่งผลในเชิงการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว (Chilling effect) ให้เกิดขึ้นได้ บางคนก็โต้เถียงในประเด็นของการแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่าน่าจะได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพื่อป้องกันการถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการเชือดไก่ให้ลิงดูสำหรับคนที่มีความคิดเห็นต่างในสังคม ทั้งยังมองว่าการตีความกฎหมายหมิ่นฯ อย่างไม่ยืดหยุ่น อาจส่งผลในทางลบต่อสถาบันก็ได้

ในทางตรงกันข้าม กลุ่มที่เห็นค้านก็ฟันธงว่า โทษที่ได้รับยุติธรรมดีแล้ว (“Fair enough”) เนื่องจากการฟ้องร้องได้ผ่านกระบวนการไต่สวนในชั้นศาลและมีการตัดสินตามตัวบทกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นการกระทำความผิดต่อสถาบันอันเป็นที่เคารพรัก นิสิตคนหนึ่งอ้างถึงกฎหมายในญี่ปุ่นที่ลงโทษผู้ดาวน์โหลดเพลงโดยละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการจำคุก 2 ปี ขณะที่อีกคนพูดถึงกฎหมายในรัฐหลุยเซียน่า สหรัฐอเมริกา ว่า การขโมยจระเข้ในรัฐนี้ หากจับได้ จะต้องโทษจำคุกถึง 10 ปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีความผิดของสมยศแล้วจึงไม่ถือว่าเกินสมควร นิสิตบางคนก็วิเคราะห์ว่าสมยศมีประสบการณ์คร่ำหวอดในวงการหนังสือและสิ่งพิมพ์มาเป็นเวลานานย่อมจะรู้ว่าเนื้อหาอย่างไรที่จะเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และควรจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในฐานะบรรณาธิการที่ทำหน้าที่กลั่นกรองเนื้อหาก่อนออกสู่สายตาประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งทางความคิดในปัจจุบัน โดยเปรียบเทียบสื่อเป็นเสมือนเครื่องขยายเสียงซึ่งสามารถเผยแพร่และกระพือความเกลียดชังในสังคมได้อย่างง่ายดาย

บทโต้เถียงของทั้งสองฝ่ายทำให้นึกไปถึงหนังสือของนักเขียนและนักวิชาการด้านเด็กกับสื่อใหม่ คือ Don Tapscott ซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง “Growing up digital” (“เติบโตแบบดิจิทัล”) และ “Grown up digital” (“โตแล้วแบบดิจิทัล”) ที่วิเคราะห์ว่า เด็กยุคอินเทอร์เน็ต (Net Geners) มีค่านิยมที่สำคัญข้อหนึ่ง คือ การสังเกตอย่างถี่ถ้วน หมายถึงการไม่เชื่ออะไรง่ายๆ การรู้จักตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย และหาข้อมูลโดยละเอียดก่อนตัดสินใจ

กำลังนั่งปลื้มๆ ว่าเด็กยุคอินเทอร์เน็ตของไทยที่เราได้สัมผัสนี่คงไม่ถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์ทางใดทางหนึ่งง่ายๆ แน่ๆ เลย ก็มีเด็กมาพูดด้วยตอนพักยกโต้วาทีว่า “อาจารย์คะ จริงๆ น่ะ หนูกับเพื่อนหลายคนรู้จักสมยศนะคะ แต่ไม่กล้าแสดงออกว่ารู้ ต้องเซนเซอร์ตัวเองเพราะกลัวถูกมองว่าเป็นพวกเสื้อ… (ผู้เขียนเซนเซอร์อีกที) ค่ะ”

?!?!.....