เศรษฐกิจอาเซียน

เศรษฐกิจอาเซียน

วันนี้ผมขอเสนอตัวเลขพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเพื่อดูร่วมกันว่าจะมีประเด็นใดน่าสนใจบ้างครับ (ดูตารางประกอบ)

ผมขอนำข้อสังเกตและข้อสรุปของผมเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนมาเสนอดังนี้

1. อาเซียนโดยรวมถือว่ามีขนาดใหญ่เมื่อใช้ประชากรเป็นตัววัดเพราะมีประชากรเกือบ 600 ล้านคน (ผมเชื่อว่าเกิน 600 ล้านไปมากแล้ว เพราะมั่นใจว่าได้มีการประเมินขนาดประชากรของพม่าต่ำกว่าจริงมาก เนื่องจากไม่ได้มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและมีปัญหากระทบกระทั่งกันระหว่างรัฐบาลกับชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรทั้งโลกซึ่งมีอยู่กว่า 7 พันล้านคนก็สรุปได้ว่าอาเซียนมีประชากรคิดเป็นสัดส่วน 8.6% ของประชากรโลกทั้งหมด แต่ต้องยอมรับว่าประชากรอาเซียนส่วนใหญ่ยังยากจนอยู่มาก เพราะมีรายได้ต่อหัวเพียง 3,638 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าจีดีพีต่อหัวของทั้งโลกอย่างมาก เพราะจีดีพีของโลกเท่ากับ 71.28 ล้านล้านดอลลาร์ ดังนั้น จีดีพีต่อหัวของโลกจึงสูงถึง 10,143 ดอลลาร์ต่อปี อย่างไรก็ดี จีดีพีของอาเซียนโดยรวมน่าจะขยายตัวได้ปีละเกือบ 6% ในขณะที่จีดีพีโลกขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 3-4% ต่อปี

2. อาเซียนโดยรวมมีเศรษฐกิจที่ “เปิด” มากวัดจากสัดส่วนของการส่งออกเมื่อเทียบกับจีดีพี กล่าวคือการส่งออกทั้งหมดมีมูลค่า 1.23 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับจีดีพี 2.18 ล้านล้านดอลลาร์คิดเป็น 56.4% ของจีดีพี ทั้งนี้ ตัวเลขถูกฉุดในทางบวกโดยสิงคโปร์ที่การส่งออกสูงถึง 157.5% ของจีดีพี และในอีกด้านหนึ่งประเทศที่ยังไม่สามารถทำการค้าขายได้โดยปกติคือพม่า ก็ยังไม่สามารถส่งสินค้าออกได้ อีก 3 ประเทศที่ส่งออกน้อยคือ ลาว (ส่งออก 22.8% ของจีดีพี) ซึ่งเป็นประเทศไม่มีทางออกทางทะเล (land locked) ซึ่งตัวเลขการส่งออกน่าจะต่ำเกินจริงที่มีการค้า-ขายอย่างไม่เป็นทางการทางชายแดนเป็นจำนวนมาก แต่สำหรับอินโดนีเซียที่มีการส่งออกเพียง 24% ของจีดีพีนั้นก็น่าจะเป็นเพราะว่าเป็นประเทศใหญ่ ซึ่งพึ่งตนเองได้มากกว่าประเทศเล็กและยังพัฒนาไปไม่มากนัก สำหรับรายที่ 3 คือฟิลิปปินส์ (สัดส่วนการส่งออก 21.5% ของจีดีพี) นั้นก็มิได้สะท้อนความ “เปิด” ที่แท้จริงของประเทศซึ่งมีประชาชนชาวฟิลิปปินส์เดินทางไปประกอบอาชีพในต่างประเทศเป็นจำนวนหลายล้านคนและนำเงินกลับเข้าประเทศหลายพันล้านเหรียญ กล่าวคือแม้ฟิลิปปินส์จะส่งออกสินค้าไม่มากนัก แต่ส่งออกแรงงานเป็นจำนวนมาก จึงสามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่าอาเซียนโดยรวมมีเศรษฐกิจที่เปิดและน่าจะเปิดมากขึ้นเรื่อยๆ กล่าวคือสัดส่วนการส่งออกต่อจีดีพีน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะพม่าเมื่อได้มีการยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการในอนาคต

3. ตัวเลขทุนสำรองระหว่างประเทศของอาเซียนเป็นตัววัดเสถียรภาพตัวหนึ่งซึ่งสะท้อนว่าอาเซียนมีความมั่นคงทางการเงินพอสมควร เพราะโดยเฉลี่ยแล้วมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 749,000 ล้านดอลลาร์หรือ 34.4% ของจีดีพีของอาเซียนโดยรวม ทั้งนี้บางประเทศอาเซียนมีทุนสำรองสูงมาก เช่น สิงคโปร์ที่ 91.5% ของจีดีพี ไทยที่ 50.6% ของจีดีพีและมาเลเซียที่ 46.4% ของจีดีพี ในอีกด้านหนึ่งประเทศที่มีทุนสำรองน้อยมากคือพม่าและลาว ในขณะที่บางประเทศยังมีทุนสำรองไม่สูงมาก เช่น เวียดนาม ทุนสำรองเพียง 10% ของจีดีพี (ในขณะที่การนำเข้าประมาณ 78% ของจีดีพี) และบรูไนที่มีทุนสำรองประมาณ 10% ของจีดีพีเช่นกัน กล่าวโดยรวมนั้นประเทศที่ทุนสำรองสูงน่าจะมีเงินที่แข็งค่ามากขึ้นในอนาคตครับ

4. ในส่วนของการวัดคุณภาพชีวิต โดยอาศัยดัชนีการพัฒนาระดับความเป็นอยู่ของประชาชน หรือ UNDP Human Development Index (เช่นอัตราการเสียชีวิตตอนเกิด จำนวนประชากรต่อแพทย์หนึ่งคน ระดับการศึกษาของประชาชน ฯลฯ) นั้นก็สะท้อนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยของประชาชน (คือรายได้ต่อหัว) เป็นหลัก คือสิงคโปร์มีระดับความเจริญสูงสุด (ที่ลำดับ 26) ตามด้วยบรูไน (ลำดับ 33) มาเลเซีย (61) ไทย (103) ที่แตกต่างกันคือ ฟิลิปปินส์ที่ตามมาติดๆ ที่ลำดับ 112 แต่จีดีพีต่อหัวเท่ากับ 2,346 ดอลลาร์ต่ำกว่าจีดีพีต่อหัวของอินโดนีเซียที่ 3,511 ดอลลาร์ค่อนข้างมาก ขณะที่คุณภาพชีวิตของคนอินโดนีเซียตกลงมาที่ลำดับ 124 สูงกว่าเวียดนาม (ลำดับ 128) ไม่มากนัก แม้ว่าจีดีพีต่อหัวของเวียดนามจะเพียง 1,375 เหรียญ และเป็นที่ชัดเจนว่าประเทศลาว เขมรและพม่าจะเป็นประเทศที่ยังต้องพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชนอีกยาวนาน จึงจะทำให้มีระดับความเจริญใกล้เคียงกับประเทศไทย

5. หากดูตัวเลขโดยรวมทั้งหมดจะเห็นได้ว่าประเทศไทยเจริญกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่บนพื้นแผ่นดินเอเชียตะวันออกอย่างชัดเจนยกเว้นมาเลเซีย และโดยรวมประเทศไทยล้ำหน้ากว่าประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ เกือบทั้งหมดโดยประเทศไทยจะอยู่ที่ลำดับ 3-4 จาก 10 ประเทศอาเซียนครับ