ประโยคเด็ด (2)

ประโยคเด็ด (2)

“ผมขอโทษ” “ผมขอโทษที่เมื่อวานผมใจร้อน เร่งตัดบทคุณในที่ประชุมต่อหน้าลูกน้องของคุณ”

ลูกน้องที่งอนป่องเพราะถูกตัดบท คงอดไม่ได้ที่จะยิ้ม(ในใจ) และบอกว่า “ไม่เป็นไรค่ะ” โดยอาจแถมให้หัวหน้าใจชื้นขึ้นว่า “หนูก็เยิ่นเย้อ ครั้งหน้าจะนำเสนอให้กระชับตรงประเด็นมากขึ้นค่ะ”

เรื่องนี้จึงจบลงด้วยดี มีเยื่อใย

เพราะเมื่อผู้ “ใหญ่” ใส่ใจผู้ “น้อย” โดยเฉพาะยามที่ต้องข่มอัตตา ยอมรับว่าเราผิด และมีจิตใจที่แกร่ง เข้มแข็งพอที่จะเอ่ยปากว่า “ขอโทษ” อย่างจริงใจ ท่านกำลังสร้างขวัญ สร้างกำลังใจ และสร้างศรัทธา อย่างแท้จริง

เสมือนคำสอนของครูบาอาจารย์ที่ว่า รวงข้าวที่มีเมล็ดแน่นสมบูรณ์ ย่อมน้อมลง รวงที่มีเมล็ดเล็กลีบเบา จะเอาแต่ชูช่อ

เปรียบได้กับผู้ใหญ่ของ “จริง” มักอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่มีพฤติกรรมกร่าง กลวง ลวงโลก

ท่านที่มีภาวะผู้นำ มีความเป็นธรรมในใจ ตระหนักดีว่า สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง

ดังนั้น ไม่ว่าลูกน้องหรือผม ย่อมพลาดได้ เพราะไม่ใช่ปราชญ์ และยังขาดอีก 2 ขา

สัปดาห์ที่แล้ว เราคุยกันเรื่องประโยคสำคัญ “What do you think?” “คุณคิดว่าอย่างไร” ที่หัวหน้าน่าจะใช้กับลูกน้องมากขึ้น เพื่อจะได้ฟังความคิดของเขา เพราะรู้ดีว่า เราต่างมีมุมมอง ลองฟังคนอื่นบ้าง ผลได้ที่อาจแตกต่างคือ หัวหน้าได้แสดงความนับถือ ได้ให้เกียรติในความคิด จะผิดจะถูกว่ากันอีกที พี่พร้อมฟัง

สัปดาห์นี้ มีอีกคำสำคัญ สั้นๆ ได้ใจ

“ขอโทษ” “Sorry”

ดิฉันได้มีโอกาสสอบถามคนทำงานในหลายโอกาสว่า “รู้สึกอย่างไรเมื่อหัวหน้าทำผิดแล้วขอโทษเรา”

คำตอบดังฟังชัด คือ “ดีแน่นอน รู้สึกว่าหัวหน้าให้ความสำคัญ หัวหน้ากล้าหาญ อยากทำงานด้วย”

ขณะที่คนส่วนใหญ่ ทำหน้างุนงง สงสัยว่า หัวหน้าแบบนี้มีด้วยหรือคะ

เพราะเท่าที่เห็นส่วนใหญ่ ท่านมักใช้หลักการ 2 ข้อว่า

1.หัวหน้าไม่เคยทำผิด

2.หากหัวหน้าทำผิด ให้กลับไปอ่านข้อ 1

ในความเป็นจริง ในวงการมืออาชีพ ย่อมมีหัวหน้าที่มีศิลปะการดูแลคนอย่างจริงใจ เปิดเผย ไม่ละเลยที่จะข่มอัตตา กล้ายอมรับว่าผิด เมื่อทำพลาด

เพียงแต่ตอนนี้ อาจมีไม่มาก ซึ่งทำให้ใครที่เริ่มใช้ทักษะนี้ ดูดีโดดเด่นได้ไม่ยาก

เราอยากให้คนอื่นขอโทษเมื่อทำผิดเช่นไร เขาก็คงอยากเห็นเช่นนั้นจากเรา “ทีผมถูกตำหนิ ถูกต่อว่า ถูกหาเรื่อง หัวหน้าต้องเคืองหากผมขอโทษไม่เป็น...คนตัวเล็กทำอะไรพลาด มีสิทธิ์คอขาดทุกขณะจิต แต่ทีเมื่อพี่ผิด ไม่แม้แต่คิดจะขอโทษ โกรธนะ...”

มีข้อแนะนำให้เราลองไปทำต่อเมื่อใช้ประโยคเด็ดนี้ค่ะ

1.ขอโทษอย่างจริงใจ โดย ยังไม่ต้องเร่งให้เหตุผล

ลองเปรียบเทียบ

“ คุณต้อม ผมขอโทษที่ตัดบทคุณในที่ประชุมเมื่อเช้า พอดีผมต้องรีบไปพบลูกค้า กลัวว่ายืดเยื้อ ช่วงนี้รถติดมาก หากผมไปไม่ทัน...“

กับ

“ คุณต้อม ผมขอโทษที่ตัดบทคุณในที่ประชุมเมื่อเช้านะครับ ” จบ ภาคแรก

ในหูผู้ฟัง การให้เหตุผลมากมายในจังหวะที่ไม่เหมาะสม ทำให้คำขอโทษฟังเจือจางลง ทั้ง “เหตุผล” ที่ให้ กลับกลายเป็นคล้ายคำ “แก้ตัว”

หากเน้นเฉพาะประเด็นที่บอกว่า “ขอโทษ” ให้ผู้ฟังซึมซับ จับใจได้ว่า ผมมาดี ผมไม่มีเจตนามาแก้ตัว ผิดก็รู้ว่าผิด
ฟังดูเข้าท่ากว่ามาก

เมื่อรับรู้ได้ว่าอีกฝ่ายฟังคำขอโทษ หรือคลายความโกรธลง จึงเลือกจังหวะที่จะต่อภาคสอง ขอชี้แจง ให้ “เหตุผล” ที่ในหูคนฟัง เริ่มเป็นเหมือนคำ “อธิบาย” มิใช่ข้อ ”แก้ตัว”

“จังหวะ” ต้องกะให้พอดีเช่นนี้เอง

2.ปรับปรุงและแก้ไขให้เห็นประจักษ์ในสิ่งที่ขอโทษ

ในการประชุมครั้งถัดไป หัวหน้าคนกล้าของเรา เริ่มประเด็นโดยกล่าวว่า “การประชุมเมื่อวันก่อน คุณต้อมนำเสนอวิธีใหม่ในการแก้ปัญหา แต่ยังไม่มีโอกาสอธิบายในรายละเอียด เพราะผมรีบปิดประชุมเร็วไป พวกเราเลยเสียโอกาสฟังความคิดใหม่ๆ

วันนี้ผมได้ขอให้คุณต้อมเล่าประเด็นให้เราฟังต่อ และขอให้พวกเราเอาคุณต้อมเป็นตัวอย่างในการหาแนวทางใหม่ๆ ในการช่วยแก้ปัญหานะครับ”

ไม่ว่าจะเป็นผู้น้อย ผู้ใหญ่ ทำผิดไปต้องกล้าขอโทษ

สิ่งที่เป็นโจทย์ต่อไป คือ ต้องทำอะไรให้พัฒนาขึ้น ไม่พลาดซ้ำซาก

ลูกน้องบอกว่า รักหัวหน้าที่จริงใจ กล้าขอโทษ

แต่จะรักมากขึ้น หากหัวหน้ากรุณาอย่าขอโทษเรื่องเดิมบ่อยๆ

เพราะจะคำนี้จะค่อยๆ มีค่าน้อยลง ได้เวลาปลงต่อไป