ประเมินพิษค่าจ้าง300บาท อนาคต"เอสเอ็มอี"ยังมืดมน

ประเมินพิษค่าจ้าง300บาท อนาคต"เอสเอ็มอี"ยังมืดมน

คงจะฉุดไม่อยู่เสียแล้ว กับแรงเหวี่ยงจากค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ที่ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อธุรกิจเอสเอ็มอี

ให้ต้องทยอยปิดตัวลงรายวัน โดยเฉพาะในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีข่าวการเลิกจ้างคนงานในต่างจังหวัดมีเข้ามาอยู่เนืองๆ แม้จะยังมีไม่มากนักหากเปรียบเทียบกับจำนวนเอสเอ็มอีทั้งหมด แต่ทว่าเป็นการส่งสัญญาณเริ่มต้นปีใหม่ที่ไม่ค่อยสวยนัก อย่างไรก็ตาม การออกมาให้ข้อมูลต่างๆ ของทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และทางกระทรวงแรงงานก็มักจะสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง จนเกิดความสับสนกับข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นว่ารุนแรงหรือไม่รุนแรงกันแน่

ล่าสุดนายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการ ส.อ.ท.ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงผลประเมินอย่างไม่เป็นทางการจากผลกระทบจากนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท โดยบอกว่ามีเอสเอ็มอีทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 4.4 หมื่นแห่ง เริ่มประสบปัญหาอย่างหนักจากนโยบายนี้แล้ว โดยเฉพาะปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการบริหารจัดการสภาพคล่อง และบอกด้วยว่าหากรัฐบาลไม่เร่งเยียวยาให้ถูกจุดก็มีโอกาสที่จะเห็นการปิดตัวของเอสเอ็มอีเหล่านี้กว่านับหมื่นแห่งทีเดียว และยิ่งหากมาตรการช่วยเหลือที่ออกมาไม่ตรงจุด การปิดตัวของเอสเอ็มอีก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ข้อเสนอที่ทางสภาอุตฯยังคงยืนยันชัดเจน คือต้องการที่จะให้รัฐตั้งกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี 5 หมื่นล้านบาท เพื่อชดเชยส่วนต่างค่าแรงที่เพิ่มขึ้น โดยมีลักษณะขั้นบันไดแบบค่อยเป็นค่อยไป คือ ในปีแรกนายจ้างจ่าย 25% รัฐบาลจ่ายชดเชย 75% ปีที่สองนายจ้างจ่าย 50% รัฐบาลชดเชย 50% และปีที่สาม นายจ้างจ่าย 75% ส่วนรัฐบาลจ่าย 25% โดยมีการประเมินงบประมาณที่รัฐต้องจ่ายในปีแรก 2.4หมื่นล้านบาท ส่วนปีที่สองรัฐต้องใช้เงิน 1.8 หมื่นล้านบาท และปีที่สามประมาณ 7 พันล้านบาท แม้ข้อเสนอนี้จะถูกปฏิเสธไปแล้วจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ทาง ส.อ.ท. ก็ยังหวังเล็กๆ ว่าข้อเสนอ 7 มาตรการ ที่เพิ่งส่งไปถึงนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะได้รับความเห็นใจอีกครั้ง

แต่เมื่อมาฟังข้อมูลจากฝ่ายรัฐ โดยนพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นเดียวกันนี้ว่า การเลิกจ้างในปัจจุบันยังอยู่ในสภาวะปกติ เหมือนกับในช่วงที่ไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจ โดยดูจากสถิติการเลิกจ้างในปี 2554 ซึ่งช่วงต้นปีเป็นช่วงที่ไม่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ในเดือนมกราคมมีการเลิกจ้าง 6,600 คน เดือนกุมภาพันธ์ 5,200 คน ส่วนช่วงปลายปีเกิดวิกฤติน้ำท่วม ตัวเลขการเลิกจ้างพุ่งขึ้นกว่า 13,000 คน ต่อเนื่องถึงเดือนมกราคม 2555 เลิกจ้าง 14,829 คน และข้ามไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ เลิกจ้างเริ่มลดลงเหลือ 11,910 คน เดือนมีนาคม เลิกจ้าง 9,147 คน กระทั่งมีการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทครั้งแรกเดือนเมษายน มีแรงงานถูกเลิกจ้าง 8,300 คน หลังจากนั้นก็ลดลงเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันมีแรงงานถูกเลิกจ้างทั้งหมดกว่า 5,000 คน

และยังบอกอีกด้วยว่าขณะนี้มีสถานประกอบการสวมรอยว่าได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง จึงต้องปิดกิจการทั้งๆ ที่เกิดจากปัญหาในการประกอบธุรกิจเอง โดยเฉพาะการขาดทุนสะสมมานาน จึงไม่อยากให้สังคมเกิดความวิตกเกินไปว่าการปรับค่าจ้างครั้งนี้จะทำให้มีแรงงานตกงานจำนวนมาก เพราะฉะนั้นจึงเร็วเกินไปที่จะเห็นผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างในช่วงนี้ โดยประเมินว่าจะเห็นผลกระทบได้เร็วที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์นี้ หลังจากที่มีการจ่ายค่าจ้างเกิดขึ้น

จากข้อมูลของทั้งสองฝ่ายที่ไม่ตรงกัน ทั้งปัญหาเลิกจ้างที่เกิดขึ้นกับแรงงาน และปัญหาขาดสภาพคล่องที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ สุดท้ายจะจบอย่างไร จะรุนแรงเหมือนกับทางเอกชนประเมินหรือไม่ หรือจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยอย่างที่รัฐบาลคาดการณ์ คงต้องดูกันแบบวันต่อวันครับ