ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ...หรอยดีที่ปักษ์ใต้

ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ...หรอยดีที่ปักษ์ใต้

อ่าวไทยที่มักถูกมองให้เป็นรองอันดามัน ได้เวลาพิสูจน์ว่า แค่สองจังหวัดนี้ ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ก็มีดีไม่แพ้ที่ใด

บนถนนที่ผู้คนมากหน้าหลายตา ต่างชาติต่างศาสนา สารพัดอาชีพ กำลังใช้มันเพื่อจุดประสงค์แตกต่างกัน บางคนเป็นเกษตรกรกำลังขนส่งพืชผลที่เพาะปลูกได้ บางคนกำลังล่องใต้เพื่อไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ ด้วยการท่องเที่ยว ผมเป็นอีกหนึ่งคนที่กำลังอยู่ถนนสายเดียวกันนี้ที่กำลังมุ่งหน้าสู่สองจังหวัดชายฝั่งอ่าวไทยที่มีชื่อว่า ชุมพร และ สุราษฎร์ธานี

            ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) เต็มไปด้วยรถยนต์มากมาย ในจำนวนนั้นเป็นรถจากกิจกรรม แรลลี่ 4 จังหวัด สัมผัสมนต์เสน่ห์ฝั่งอ่าวไทย  แบ่งเป็นสองเส้นทางคือ ชุมพร-สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช-พัทลุง

32247423_1767589126633225_4439343248720265216_o

            บนเส้นทางชุมพร-สุราษฎร์ฯ นอกจากสัมภาระที่หลังรถ หลายคนแบกความสงสัยมาด้วยว่าสองจังหวัดนี้น่าสนใจอย่างไร เพราะหากถามไถ่การรับรู้เดิมๆ ยังไม่มีอะไรมากมายไปกว่า มีทะเลอ่าวไทย ซึ่งบางคนปรามาสว่าแสนจะธรรมดา ที่ชุมพรก็มีศาลกรมหลวงชุมพรฯ ถ้าเป็นสุราษฎร์ก็ตามคำขวัญ มีเกาะ มีเงาะ มีหอยนางรม มีไข่เค็ม และมีสวนโมกข์ฯของท่านพุทธทาส

  • สวยซุ่ม ‘ชุมพร’

            จากจุดเริ่มต้นที่โรงแรมมรกต ในตัวเมืองชุมพร คาราวานแรลลี่เคลื่อนพลไปที่ โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ สิ่งแรกที่สะดุดตาคือความร่มรื่นของพื้นที่ มีต้นไม้น้อยใหญ่อยู่มากมาย ถนนหนทางก็ราบเรียบ สวยงาม ไม่ค่อยมีรถแล่นสักเท่าไร จะมีก็แต่รูปปั้นลิงตัวยักษ์ยืนจังก้าอ้าแขนต้อนรับผู้มาเยือนอยู่กลางสระน้ำใกล้ทางเข้าที่ทำการโครงการฯ

32191916_1767593206632817_1656548021116076032_o

            ความสวยงามและร่มรื่นที่เห็นในทุกวันนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่ต้องผ่านเหตุการณ์อันเลวร้ายถึงขนาดเรียกว่าเป็นเหตุการณ์วิปโยคเลยทีเดียว นั่นคือ เมื่อเดือนสิงหาคม 2540 จังหวัดชุมพรประสบภัยอุทกภัยจากพายุไต้ฝุ่นชีต้า สร้างความเสียหายให้แก่จังหวัดชุมพรอย่างสาหัส มีประชาชนเสียชีวิตถึง 28 คน ทรัพย์สินเสียหาย 2,110 ล้านบาท

32337190_1767589103299894_8519737732413521920_o

            ต่อจากนั้นในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนการก่อตัวของพายุลินดา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้ขุดคลองหัววัง-พนังตัก เพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำท่าตะเภาออกสู่ทะเล การขุดคลองครั้งนั้นแล้วเสร็จในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2540 ก่อนพายุลินดาเข้าประเทศไทยเพียง 1 วัน ผลคือประชาชนชาวชุมพรรอดพ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมชุมพร เกิดเป็นโครงการตามพระราชดำริโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่

32244252_1767593126632825_2243805294704459776_o

            ปัจจุบันที่นี่ยังคงทำหน้าที่เป็นแก้มลิง แหล่งน้ำ และคลอง ที่จัดการเรื่องน้ำของเมืองชุมพรอยู่เหมือนเดิม เพิ่มเติมที่การเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมทั้งทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ มีบึงขนาดใหญ่ มีเกาะแก่ง และผืนป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ สิ่งสะท้อนระบบนิเวศดีงามอย่างหนึ่งคือที่นี่ยังมี นาก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ชอบหากินตามแหล่งน้ำสะอาด กินปลา สัตว์เลื้อยคลาน เป็นอาหาร นากที่นี่จำนวนหนึ่งอยู่ใกล้ชิดเจ้าหน้าที่จนแทบจะเป็นสัตว์เลี้ยง อุ้มได้ กอดได้ แต่จะให้ดีปล่อยให้เขาอยู่ตามธรรมชาติดีกว่า จะได้ไม่เสียนาก

32289371_1767592996632838_5134481334755917824_o

            เท้าความไปเมื่อปี พ.ศ.1098 ชื่อจังหวัดชุมพรปรากฏอยู่ในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ระบุว่าเมืองนี้มีฐานะเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของนครศรีธรรมราช ใช้รูปแพะเป็นตราเมือง เป็นเมืองหน้าด่านฝ่ายเหนือเพราะอยู่ตอนบนของภาคใต้ นับเป็นประตูสู่ภาคใต้ แต่ก็มักถูกมองเป็นแค่ทางผ่าน ทว่าความสำคัญไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าเมืองอื่น โดยเฉพาะความเกี่ยวพันกันของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระองค์ทรงเป็นต้นราชสกุล ‘อาภากร’ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงได้รับสมัญญานามว่า ‘องค์บิดาของทหารเรือไทย’ เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้วางรากฐานการบริหารงานของกองทัพเรือ ทรงได้รับการเชิดชูในหมู่ทหารเรือเรียกขานพระองค์ว่า "เสด็จเตี่ย"

            แม้ที่มาของจังหวัดชุมพร จะไม่ได้เกี่ยวพันโดยตรงกับกรมหลวงชุมพรฯ เพราะมีหลายข้อสันนิษฐาน เช่น มาจากคำว่าชุมพล หรือชุมนุมพล ในสมัยก่อนพื้นที่นี้เป็นเมืองหน้าด่านภาคใต้ เมื่อจะรบทัพจับศึกทางนี้ก็จะมารวมไพร่พลกันที่นี่ บางข้อสันนิษฐานบอกว่าการรบทัพสมัยก่อนต้องมีบวงสรวงเพื่อความสิริมงคล พื้นที่นี้มีการอวยชัยให้พร เพื่อบำรุงขวัญทหาร จึงเรียกว่าประชุมพร หรืออย่างที่สามคือตั้งชื่อตามต้นไม้ คือต้นมะเดื่อชุมพร ซึ่งเคยมีมากในพื้นที่

            ไม่ว่าจะเกี่ยวกันโดยตรงหรือไม่ แต่กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ก็เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของคนชุมพรมาก ในบรรดา ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่มีอยู่ทั่วประเทศมากถึง 217 แห่ง โดยเฉพาะจังหวัดติดทะเล ศาลที่จังหวัดชุมพรคือศาลใหญ่ที่สุด และมีวิวสวยติดอันดับต้นๆ แน่นอน

32214973_1767593289966142_710702222882635776_o

            ความน่าสนใจไม่ใช่แค่การกราบไหว้เสด็จเตี่ย แต่เสียงประทัดที่คนมาจุดแก้บนคือสีสัน แต่ละนัดที่ปะทุคือตัวแทนของแรงศรัทธา และความหวังว่าสิ่งที่ตั้งใจจะสมปรารถนา

            “ปัง!”

            เสียงปะทัดนัดสุดท้ายยังดังอยู่ในความทรงจำ ขณะที่เรามาถึงอีกที่หนึ่งแล้ว นั่นคือ วัดพระบรมธาตุสวี พระบรมธาตุงามสง่าที่เป็นดังศูนย์รวมจิตใจของชาวอำเภอสวีและพื้นที่ใกล้เคียง ดูเผินๆ เหมือนว่าจะไม่โบราณมากนัก แต่ตามประวัติสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมเลียนแบบพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช

32374311_1767589306633207_4426336580214456320_o

            อย่างไรก็ตาม พระบรมธาตุสวีผ่านการซ่อมแซมบูรณะหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2539 โดยกรมศิลปากรได้สร้างพระธาตุองค์ใหม่ครอบองค์เดิมเอาไว้ จึงทำให้มองจากภายนอกแล้วรู้สึกว่าไม่เก่ามากนักนั่นเอง นอกจากนี้บริเวณภายในพระบรมธาตุยังมีศาลเจ้าที่มีรูปคนนั่งขนาดเท่าคนจริง ซึ่งชาวสวีพากันเรียกว่า ศาลพระเสื้อเมือง ให้ประชาชนได้กราบสักการะ

            มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ได้เสด็จยกทัพมาพักรี้พลอยู่ในเขตอำเภอสวี แล้วพบกับเหตุการณ์ประหลาด คือมีกาเผือกและกาอื่นๆ จับกลุ่มส่งเสียงร้องเหนือกองอิฐปรักหักพัง จึงรับสั่งให้รื้อกองอิฐที่ทับถมกันออก ก็ได้พบฐานเจดีย์ใหญ่ เมื่อขุดลึกลงไป ได้เจอผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระองค์จึงโปรดฯ ให้สร้างเจดีย์ขึ้นใหม่ ซึ่งพระบรมธาตุองค์นี้ผ่านการบูรณะซ่อมแซมเรื่อยมา

            ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อมาเที่ยวที่ไหนก็ต้องมีของฝากติดไม้ติดมือกลับไป สำหรับของดีเมืองชุมพรมีหลากหลาย ส่วนมากเป็นของกิน ทั้งผลไม้และขนม เช่น กล้วยเล็บมือนาง เป็นตัวท็อปของชุมพร นิยมจนหาได้ทั่วตั้งแต่หันหัวรถเข้ามาที่จังหวัดนี้ทีเดียว เพราะรสชาติหวานและหอมกินสดก็ดี แปรรูปก็ได้ จะอบน้ำผึ้งหรือเคลือบช็อกโกแลตก็ดีไปหมด

            อีกอย่างที่นำเสนอคือ สับปะรดสวี แม้จะมีรากเหง้าจากประเทศมาเลเซียเมื่อ 100 กว่าปีก่อน โดยพระยาจรูญโภคากร อดีตเจ้าเมืองหลังสวนนำเข้ามาปลูกที่ อ.หลังสวนก่อน ต่อมาแพร่หลายปลูกในพื้นที่ อ.สวี จนเป็นที่นิยม ลักษณะคือมีผลเล็กทรงกระบอก น้ำหนักประมาณ 1 กก. จุกตั้งยาวขึ้น ผลสุกมีเนื้อเหลือง กลิ่นหอม หวานกรอบยันแกน

32214987_1767592909966180_3056290047704694784_o

            ก่อนจะหมดวันแนะนำให้รีบขึ้นไปที่ เขามัทรี บนนั้นมีจุดชมวิวที่เห็นทั้งเมืองชุมพรและทะเลแบบเกือบ 360 องศา ด้านตะวันออกมองเห็น โค้งของหาดภารดร ส่วนทางด้านตะวันตก คือชุมชนปากน้ำชุมพรซึ่งเป็นชุมชนประมงขนาดใหญ่ และทิวเขาที่อยู่ไกลออกไป

32293700_1767592816632856_3449813763320971264_o

            ยิ่งใกล้ค่ำฟ้ายิ่งสวย แสงทไวไลท์จากอาทิตย์ตกลับเหลี่ยมภูเขาฟุ้งกระจายทั่วท้องฟ้า หากมีเมฆจะเหมือนถูกระบายด้วยสีสันจัดจ้าน ส่วนที่ยอดเขาประดิษฐานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปางมหาราชลีลาสีขาวหันหน้าสู่ทะเล เป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวประมงละแวกนี้เคารพยิ่ง

32253834_1767589273299877_4138255591615234048_o

  • หรอยจังฮู้...สุราษฎร์

            จากชุมพรล่องต่อลงมายังสุราษฎร์ธานี ดินแดนที่มีคำขวัญติดหูคนไทยมากที่สุดแห่งหนึ่ง แต่นอกจากของดีที่บรรจุในคำขวัญ สุราษฎร์ฯยังมีดีอีกเพียบ ถึงขนาดถ้าจะเที่ยวให้เรียบคงต้องมีเวลามากกว่านี้หลายเท่า

            ไม่รอช้ามาถึงแหล่งธรรมะ เริ่มด้วยการไหว้พระที่วัดดังคู่บ้านคู่เมือง วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นพุทธสถานเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของเชิงช่างสมัยศรีวิชัยไว้ได้สมบูรณ์

32215202_1767589359966535_59433654362832896_o (1)

            วัดนี้สะท้อนถึงความเฟื่องฟูแห่งพุทธศาสนาที่เข้ามาหยั่งรากในภาคใต้ของไทย โดยองค์พระเจดีย์นั้นสร้างขึ้นตามแบบลัทธิมหายาน ในสมัยที่อาณาจักรศรีวิชัยยังครองความรุ่งเรือง รอบองค์พระธาตุมีเจดีย์เล็กๆ 4 ทิศ ล้อมรอบด้วยวิหารคด ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ขนาดต่าง ๆ โดยรอบทั้ง 4 ด้าน การมาเยี่ยมชมวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหารแห่งนี้ จึงเป็นเหมือนการเปิดหน้าต่างบานใหญ่ที่ทำให้เรามองเห็นภาพอันสวยงามจากครั้งหนึ่งในอดีตของสุราษฎร์ธานี ที่นี่เป็นหนึ่งในสามโบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของภาคใต้

32289893_1767589459966525_2273308924004270080_o

            แต่พุทธสถานชื่อดังของสุราษฎร์ฯไม่ได้มีที่เดียว ใครๆ ก็รู้ดีว่าเหตุผลที่ได้ชื่อว่าแหล่งธรรมะ ส่วนหนึ่งคือการที่ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นคนที่นี่ และได้จัดตั้ง สวนโมกขพลาราม เพื่อให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ที่นี่มีชื่อเรียกทางการว่า วัดธารน้ำไหล

32266760_1767589523299852_7134680134585417728_o

            ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาในสวนโมกขพลาราม แม้ยังไม่ซึ้งในรสพระธรรม แต่ที่ชวนดื่มด่ำมากคือความร่มรื่นระดับสุด แล้วยังทวีคูณด้วยความเงียบสงบ มีเพียงเสียงเท้าที่ก้าวเดินไปบนทางเดิน บางช่วงเหยียบใบไม้ที่ร่วงมาแน่นิ่งอยู่บนพื้น แม้ไม่ได้รอคอยรอยเท้าของใครแต่ก็มิวายถูกเหยียบย่ำอยากหลีกหนีไม่ได้

            เดินเข้าไปจนถึงลานหินโค้ง จุดไฮไลท์ของที่นี่ อาจตรงกับช่วงฟังธรรมเทศนาจากเทปบันทึกเสียงท่านพุทธทาส ขนาดไม่ใช่ตัวท่านจริงๆ ก็ยังสะกดให้ตั้งใจฟังแล้วคิดตาม นี่กระมังคือสิ่งที่ได้ยินมาตลอดว่า ไม่ต้องยึดติดกับตัวบุคคล สิ่งจริงแท้คือหลักคำสอน

            ในอดีตที่นี่คือวัดตระพังจิก วัดร้างกลางป่ารกครึ้ม มีสระน้ำใหญ่ เป็นที่ร่ำลือกันว่าผีดุ วันหนึ่งท่านพุทธทาส โยมน้องชายและเพื่อนในคณะธรรมทานเดินทางมาพบที่นี่ แล้วได้ทำเพิงพักอยู่หลังพระพุทธรูปเก่า ท่านพุทธทาสเลือกที่จะจำวัดที่นี่แล้วตั้งชื่อวัดใหม่ ด้วยเห็นว่าบริเวณนั้นมีต้นโมกและต้นพลาอยู่มาก กลายเป็นชื่อ สวนโมกขพลาราม หมายถึงสวนป่าอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้นทุกข์

32202788_1767589543299850_5632312089251938304_o

            หากเดินขึ้นไปตามบันไดหิน ป้ายระบุระยะทาง 150 เมตร จะไปถึงพระอุโบสถที่ใหญ่ที่สุด ที่ว่าใหญ่ไม่ใช่ก่อสร้างใหญ่โตโอฬาร ทว่าเป็นการปรับพื้นที่ธรรมชาติให้กลายเป็นเสมือนอุโบสถ แม้มีเพียงพระประธานองค์เดียวบนลานดินขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ยิ่งใหญ่ด้วยธรรมชาติอันเรียบง่าย

            เที่ยวทั้งได้สาระและความสุข แต่จะให้ครบสูตรก็มีถึงเรื่องของฝากอีกครั้ง สำหรับสุราษฎร์ธานี แทบไม่ต้องคิดอะไรมาก อันดับหนึ่งแน่นอนว่าต้องเป็น ไข่เค็มไชยา โด่งดังไปทั่ว ไข่เค็มไชยาใช้ไข่เป็ดจากอำเภอไชยาที่มีจุดเด่นคือไข่แดงมากและไม่คาวเหมือนไข่เป็ดทั่วไป เอาดินจากจอมปลวกมาตำให้ละเอียด ร่อนเอาเฉพาะที่ละเอียด แยกเอากรวด ทราย ออกให้หมด คลุกด้วยน้ำและเกลือจนดินเหนียว แล้วเอาดินนั้นไปหุ้มไข่เป็ด ต่อด้วยคลุกขี้เถ้าแกลบ บรรจุหีบห่อขายได้ บนกล่องมีฉลากบอกระยะเวลาว่าเมื่อใดเหมาะทอดเป็นไข่ดาว เมื่อใดเหมาะที่จะต้ม

            อีกสักอย่างที่ต้องพูดถึงคือ เงาะโรงเรียน เงาะชื่อดังคุ้นหูคนไทยแน่นอน เป็นเงาะที่มีรสหวานกรอบ ผลโตเปลือกบาง แม้สุกจัดปลายขนยังมีสีเขียว แค่คิดถึงก็ถึงกับต้องเอาลิ้นดุนฟัน เหมือนจะมีเศษเนื้อเงาะติดฟัน (ฮา)

          แค่สองจังหวัดและยังเที่ยวไม่ครบทุกที่ แต่ก็สนุกสนานจนมั่นใจได้ว่า ต้องมีทริปขับรถล่องใต้มาที่ชุมพร-สุราษฎร์ธานีอีกแน่ เพราะถนนสายนี้ยังพร้อมพานักท่องเที่ยวทุกคน รถทุกคัน ไปพบประสบการณ์ดีๆ ที่เมื่อเปิดใจก็จะได้เจอ