แรงงานฉลาด Gig

แรงงานฉลาด Gig

ฟรีแลนซ์ธรรมดาหลบไป เวลานี้ยกให้ Gig worker…เมื่อทั้งงานประจำและงานเสริมสำคัญไม่แพ้กัน

ถ้าเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมาคือยุคทองของคนเป็นฟรีแลนซ์ (Freelance) ที่ส่งกระแสให้ผู้คนลาออกจากงานประจำแล้วหันหน้ามาทำงานอิสระ ถึงวันนี้ก็น่าจะเป็นเวลาของแรงงานประเภท Gig Worker (กิ๊กเวิร์กเกอร์) ประเภทพร้อมสังกัดบริษัทแล้วค่อยปลีกเวลาไปรับฝิ่น (จ็อบนอก) กิ๊กกับพาร์ทเนอร์อื่นๆ หาช่องทางเพิ่มรายได้

กิ๊กกับฟรีแลนซ์

อันที่จริง Gig worker กับฟรีแลนซ์ก็แทบแยกกันไม่ออก เพราะคำว่า Gig (กิ๊ก) คือคำแสลง ที่เรียกความสัมพันธ์ระยะสั้นระหว่างบุคคล (short-term relationship)

Gig worker ก็คล้ายๆ กัน เราเรียกรวมถึงกลุ่มคนที่อยู่ในข่ายฟรีแลนซ์ ทำงานพาร์ทไทม์ เอาท์ซอร์ส ไปจนถึงกลุ่มคนที่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์หารายได้เพิ่มจากงานหลักเป็น Second job เช่น พนักงานบริษัทเลิกงานแล้วมาขับ Uber หรือแมสเซนเจอร์มาวิ่งงานเพิ่มกับ Line Man

Gig Worker เชื่อมโยงกับคำว่า Gig Economy ซึ่งหมายถึงระบบเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยงานครั้งคราว หรืองานที่รับจ้างเป็นครั้งๆ ไป ในที่นี้เราเปรียบงานประจำคืองานเหมาที่มีสวัสดิการ มีสิทธิเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมาย แต่การมารรับจ้างเป็น Gig worker เนื่องจากงานประจำอย่างเดียวไม่สามารถตอบสนองในเรื่องรายได้และไลฟ์สไตล์เฉพาะตัว โดยเฉพาะคนเจน Y เจน Z ที่ต้องการประสบความสำเร็จให้รวดเร็วที่สุด

ผลสำรวจของ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์  ประมาณการได้ว่าการจ้างงานแบบ Gig ในไทยมีอยู่ประมาณร้อยละ 30 ของคนวัยทำงาน หมายความว่าในคนจำนวน 10 คน จะมีคนที่เป็น Gig worker อยู่ 3 คน ซึ่งในสามคนนี้ก็แบ่งย่อยได้อีกเป็นคนที่มีงานประจำอยู่แล้วแต่รับงานอิสระเป็นส่วนเสริม 2 คน และคนที่รับงานอิสระหรืองานครั้งคราวอย่างเต็มตัว (เช่น คนที่เป็นฟรีแลนซ์) 1 คน นอกจากนี้ คนไทยที่อยากลาออกจากงานประจำมารับงาน gig นั้นมีมากถึงร้อยละ 86

เอ็ม กราฟฟิคดีไซเนอร์ อายุ 33 ปี บอกว่า เขาเคยลาออกจากงานไปเป็นฟรีแลนส์ราวๆ 2-3 ปี แต่ก็ตัดสินใจกลับเข้ามาทำงานในบริษัทใหม่เพราะต้องการรายได้ที่แน่นอนและสวัสดิการของบริษัท เพื่อเตรียมรองรับเมื่อมีอายุที่เพิ่มขึ้น

“ผมเคยเป็นฟรีแลนซ์อย่างเดียว แล้วก็พบสถานการณ์ที่ช่วงไหนมีงานเยอะ ก็จะเยอะจนแทบทำไม่ทัน แต่ถ้าช่วงไหนเงียบก็จะเงียบมาก นั่งเล่นเกมเป็นวันๆ พอมีรุ่นพี่ซึ่งเปิดบริษัทเขาชวนมาทำก็กลับมาทำใหม่ เงินไม่ค่อยดีนัก แต่มีสวัสดิการ มีประกันสังคม และเงินเข้าทุกเดือน พอมีเวลาเหลือก็ไปทำฝิ่น (รับจ็อบข้างนอก) เอา”

ถ้างานบริษัทคืองานเหมาจ่ายที่ต้องทำงานให้เสร็จตามแผนที่เจ้านายวางไว้ งานกิ๊กก็เหมือนกับงานเสริมที่สร้างรายได้เพิ่มให้กับแรงงาน เมื่อยิ่งทำมากก็ยิ่งได้มาก เทรนด์ของแรงงานยุคใหม่จึงไม่ใช่แค่ฟรีแลนซ์ที่รับงานอิสระ แต่คือแรงงานในระบบบริษัทที่หาสังกัดซึ่งมีความยืดหยุ่นสูง เพื่อให้มีเวลามารับจ็อบงานเสริม เป็น Gig worker ที่บริหารงานประจำไม่ติดขัด และไม่ขาดหายกับงานกิ๊ก ส่วนถ้าใครทำงานประจำไม่ดี แล้วยังริไปรับงานนอกนั่นถือว่าคุณล้มเหลวที่จะเป็นทั้งพนักงานประจำ และ Gig worker ในความหมายที่ว่านี้

ศุภวิช ชนะศุภนิพนธ์ เจ้าของบริษัทให้บริการจัดงานอีเวนท์ ประชุมสัมมนา สะท้อนว่า เมื่อ 3-4 ปีก่อนฟรีแลนซ์อาจได้รับความนิยมมากกว่าก็จริง เพราะใครๆ ก็อยากเป็นเจ้านายตัวเองได้ทุกเวลา หากแต่เมื่อรายได้ไม่แน่นอน เศรษฐกิจขึ้นๆ ลงๆ มีไม่น้อยคนในวงการที่หวนกลับเข้าไปทำงานประจำใหม่

แม้จะต้องอยู่ในระบบสักนิด แต่ก็มั่นใจว่าจะมีเงินเข้าทุกเดือน ขณะเดียวกันพวกเขาก็จะใช้เวลาว่างมารับงานนอก เช่น วันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันที่สะดวก เพราะทุกวันนี้ออฟฟิศเองก็ยืดหยุ่น ผ่อนปรนกฎระเบียบเพื่อแลกกับการเก็บพนักงานเจนใหม่ๆ ที่มีฝีมือไว้

“ทุกวันนี้คนทำงานประจำและรับงานนอกด้วยได้เปรียบกว่าฟรีแลนซ์อย่างเดียว เช่น AE. (ACCOUNT EXECUTIVE) ที่ทำงานเอเจนซี่แห่งหนึ่งก็ยังเลือกทำงานประจำไปก่อน เพราะต้องการคอนเนคชั่นกับแบรนด์ลูกค้า ถ้ามีจ็อบไหนที่โอนมาเป็นของตัวเองได้ก็จะรักษาเครือข่ายนั้นไว้ บางบริษัทเปิดโอกาสให้พนักงานรับจ็อบด้วยซ้ำเพราะมันเป็นธรรมชาติของยุคนี้ แรงงานในปัจจุบันจะคิดถึงทั้งบริษัทและตัวเอง เพราะการจะไปฝากความหวังกับบริษัทอย่างเดียวคงไม่ได้” แหล่งข่าวรายหนึ่งบอก

Gig ไทย แบบไหนดี

ส่วนในมุมของผู้ว่าจ้าง บางทีการหาพนักงานที่มีสังกัดอยู่แล้ว ยังได้เปรียบกว่าคนเป็นฟรีแลนซ์ธรรมดาๆ ด้วยซ้ำ นั่นเพราะคนทำงานประจำจะมีคอนเนคชั่น มีอุปกรณ์ที่พร้อมกว่า สามารถยืดหยุ่นเรื่องเงินได้มากกว่าคนเป็นฟรีแลนซ์เพียงอย่างเดียว แถมการจ้างคนมีสังกัดมาเป็นกิ๊กยังถ่ายโอนฐานความคิดเทคนิคเรื่องการทำงาน เสริมสร้างเครือข่ายให้แข็งแรงมากขึ้น

ดร.วรประภา นาควัชระ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า การเติบโตของ Gig Worker ซึ่งส่งเสริมการเติบโตของ Gig Economy มีที่มาหลักๆ 3 ข้อ คือ 1. สังคมออนไลน์ ที่ช่วยให้อุปสงค์ (คนที่ต้องการว่าจ้าง) กับอุปทาน (คนที่ต้องการงาน) มาเจอกันได้ง่ายขึ้น โดยมีแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นคนกลาง

 2. แนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) ชวนให้เรานำของที่มีอยู่มาแบ่งให้คนอื่นใช้งาน แนวคิดนี้ทำให้เกิดงานและช่องทางหารายได้ใหม่ๆ 3. ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ ที่ต้องการมีอิสระ ได้ทำตามใจตัวเอง ทั้งในการตัดสินใจเรื่องงานและการบริหารเวลาในชีวิต เช่นนี้ Gig Economy ก็เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการตรงนี้ได้เป็นอย่างดี

คนไทยในชนบทคุ้นเคยกับการเป็น Gig Worker มานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่ทำนาของตัวเองเสร็จก็รับจ้างเกี่ยวข้าว หรือผู้คนที่มารับจ็อบเป็นวินมอเตอร์ไซค์ คนขับแท็กซี่ พ่อค้าสมัครเล่น ฯลฯ หากแต่แนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปันทำให้ Gig Economy เฟื่องฟู ส่งเสริมให้ประเภทงานมีความหลากหลาย Gig worker จึงเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และแม้จะทำงานในแบบ Tradition เก่า (รูปแบบเก่า) เช่น คนขับรถรับจ้าง พนักงานส่งของ แต่ถ้าใช้เทคโนโลยีเป็น ก็สามารถลดช่องว่างและแสวงหารายได้เสริมได้ เป็นการใช้ Digital มา Transform ตัวเองโดยไม่ต้องรอให้ใครมา disruptive

ดร.วรประภา บอกว่า เวลาพูดถึงฟรีแลนซ์หรือ Gig worker ฟังดูเป็นแง่บวก แต่เอาเข้าจริง Gig worker จำแนกได้เป็นประเภท 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1. Gig ที่ทำทั้งงานประจำและงานนอก ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีทักษะ มีความสามารถจะหารายได้มากกว่า 1 ช่องทาง 2. Gig ที่เป็นฟรีแลนส์เต็มตัวเพราะมองว่าไลฟ์สไตล์แบบนี้สนองตัวเองได้มากกว่า มีทักษะทางอาชีพสูง เช่น โปรแกรมเมอร์ ดีไซน์เนอร์ กราฟฟิคดีไซน์ นักเขียน นักวางแผนทางการเงิน กลุ่มคนเหล่านี้สามารถเป็นพนักงานประจำได้แต่ไม่ทำ กับ 3. Gig ที่เป็นกลุ่มแรงงาน เพราะไม่สามารถเข้าไปในบริษัทได้ เช่น วินมอเตอร์ไซค์ คนขับรถรับจ้าง

งานสั้น เงินยาว

“กลุ่มคนที่ 1 กับ 2 ไม่น่าเป็นห่วง เพราะพวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะสร้างรายได้จากการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มดิจิตอล เป็นคนยุคใหม่ที่มีทักษะเฉพาะตัวสูง ส่วนใหญ่เป็นคนเจเจอเรชั่น Y และ Z และปัจจุบันบริษัทที่มีชื่อเสียงก็พยายามออกแบบสถานที่ทำงานให้ดูน่าอยู่ เช่น ที่Google ประเทศไทย หรือในเอเจนซี่โฆษณา การตลาดออนไลน์ ที่ยืดหยุ่นการเข้างานเพื่อรั้งให้คนเจนนี้ยังอยู่กับบริษัท แต่กับกลุ่มสุดท้ายซึ่งเป็น Gig worker ในความหมายแรงงานนอกระบบพวกเขาดูเหมือนไม่มีทางเลือก ไม่ได้รับการตอบรับหรือถูกปฏิเสธจากการจ้างงานในระบบ ซึ่งกลุ่มนี้รัฐต้องส่งเสริม ทั้งการให้ข้อมูลถึงสิทธิการเข้าประกันตน หรือการสร้างทักษะเพื่อให้ความชำนาญเดิมเชื่อมต่อกับเทคโนโนโลยีจนเป็นโอกาสของรายได้ที่เพิ่มขึ้น เช่น การใช้เฟซบุ๊คประชาสัมพันธ์ร้าน การเรียนรู้แอปพลิเคชั่นเพื่อร่วมงานกับ Grab“

Gig worker จึงต้องพัฒนาทักษะที่ตัวเองมีอยู่ให้เชี่ยวชาญ มีความรู้รอบด้าน เพราะไม่ว่าในอนาคตเราจะเปลี่ยนไปทำงานในรูปแบบใด สิ่งสำคัญที่จะทำให้อยู่รอดได้คือความพร้อมที่จะเผชิญกับความไม่แน่นอนอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็น Gig ระยะสั้น หรือเป็นฟรีแลนซ์กันยาวๆ หากแต่เรื่องที่จำเป็นต้องทำคือการวางแผนทางการเงิน เพื่อให้รายได้ที่มีเลี้ยงดูตัวเองได้ในยามเกษียณ

กาญจนา หงษ์ทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวางแผนทางการเงิน บอกว่า ก่อนจะลาออกไปโลดโผนเพื่อเป็นฟรีแลนซ์ที่ไม่มีสวัสดิการแน่นอน ต้องเช็คสถานการณ์เงินของตัวเองให้ดี โดยเฉพาะความพร้อมเรื่องจัดการ “หนี้” การรองรับความเสี่ยงที่จะมีรายได้ไม่เท่ากันในแต่ละเดือน

“พอเข้ามาเป็นฟรีแลนซ์แล้วก็ต้องบริหารเงินให้ดี ฟรีแลนซ์อาจจะมีช่วงที่เดือนแรกเงินเข้ามาก เดือนที่สองเงินเข้าน้อย เดือนที่สามอาจจะไม่เข้าเลย หลักง่ายๆ เลยคือออมให้ได้มากที่สุด หรืออาจจะเฉลี่ยการออม เช่น เฉลี่ยลงทุนในอัตราที่เท่ากันในแต่ละเดือน นอกจากนั้นก็ต้องวางแผนเรื่องภาษี จะซื้อ LTF หรือ RMF เพื่อใช้สิทธิลดหย่อน ตรงนี้มีหลักการไม่ต่างจากพนักงานที่มีรายได้ประจำ”

ส่วนคนที่เป็น Gig ในความหมายของการมีงานประจำและจ็อบนอกควบคู่กันไป กาญจนาบอกว่ากลุ่มนี้ถือว่าโชคดีหน่อย เพราะเปรียบเสมือนมี 2 กระเป๋า หลักการในส่วนนี้คือเก็บออมอย่างเคร่งครัดในเงินเดือนจากงานประจำ ส่วนเงินรายได้จากการเป็น Gig เป็นไปได้ก็ให้หักร้อยละ 50 เพื่อสร้างความมั่งคั่งเพิ่มเติม

“อย่าคิดว่าคนที่มีงานมั่นคงเท่านั้นจะเก็บออมได้ เพราะคนที่เป็นแรงงานนอกระบบ อยู่นอกสวัสดิการก็สามารถสร้างเครดิตทางการเงินให้กับตัวเองได้ ด้วยการเอาเงินเข้าธนาคารทุกวัน เช่น คนมีอาชีพค้าขาย เมื่อขายของได้แต่ละวันก็ควรเอาเงินเข้าธนาคารสม่ำเสมอทุกๆ วัน แม้จะถอนออกแต่ก็จะเห็นยอดฝากเข้า นั่นเพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามีรายได้สม่ำเสมอ และตรงนี้จะมีผลบวกเมื่อถึงคราวธนาคารจะพิจารณาให้สินเชื่อ”

เมื่อความสัมพันธ์ของการทำงานค่อยๆ เปลี่ยนตามยุคสมัย Gig worker จึงเป็นทั้งเทรนด์ และความท้าทายของสังคมการทำงานในยุคนี้ และแน่นอนว่านี่คือเรื่องที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างปรับตัว เข้าอกเข้าใจ ยืดหยุ่น และใช้ผลลัพธ์ของงานเป็นตัวตัดสิน

เป็นแรงงานที่ฉลาดคิดเพื่อให้งานประจำไม่ติด และงาน Gig ไม่ขาดมือ