งู ในความเชื่อ และความรู้สึกของคนโลกตะวันออก ตอนที่ 1

งู ในความเชื่อ และความรู้สึกของคนโลกตะวันออก ตอนที่ 1

ว่าด้วยเรื่องราวของ งู ผูกโยงกับวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของคนในภูมิภาคเอเชีย ที่มีทั้ง สนุก-สุข-เศร้า-เคล้าน้ำตา

เรื่องราวเกี่ยวกับอสรพิษหรือที่มักเรียกกันโดยทั่วไปว่างูด้านวัฒนธรรมและความเชื่อของผู้คนในโลกตะวันออกหากลากเส้นจากเอเชียใต้หรืออู่อารยธรรมอินเดียผ่านดินแดนที่อุดมไปด้วยงูนานาชนิดในเขตอากาศร้อนชื้นและแนวเส้นศูนย์สูตรคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือเอเชียอาคเนย์ไปจนจรดเอเชียตะวันออก

snake-3064737_1920

โดยเฉพาะในอู่อารยธรรมจีนเป็นพัฒนาการจากธรรมชาติวิทยาซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของคนกับงูที่พิษงูซึ่งมีเพื่อป้องกันตัวเองและล่าเหยื่อถูกเติมแต่งด้วยจินตนาการให้ก้าวไปถึงสัตว์ที่มีอำนาจพิเศษกว่ามนุษย์อย่างไรก็ดีปรัชญาตะวันออกที่เล่าผ่านเรื่องราวเกี่ยวกับงูนี้สะท้อนความดีงามและผลเสียจากการก่อกรรม

ตำนานเกี่ยวกับงูที่เกี่ยวเนื่องกับเทพเทวาปรากฏในเทวปกรณัมทั้งศาสนาพราหมณ์-ฮินดูชาดกและพุทธประวัตินิทานพื้นบ้านรวมถึงตำนานความเชื่อของผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ แม้กระทั่งกำเนิดเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปมักเกี่ยวข้องกับงูหรือนาคแล้วพัฒนาขึ้นเป็นพญานาคปรากฏในหลายพื้นที่

นาค คือคนที่อยู่นอกระบบของอินเดีย นั่นหมายถึงคำเรียกพวกที่ไม่สวมเสื้อผ้าหรือสวมน้อยชิ้นเหมือนงูเงี้ยวที่เป็นสัตว์ร้ายทั่วไปว่านาค(สุจิตต์ วงษ์เทศ, นาคคือคนพื้นเมือง, มติชนออนไลน์ เผยแพร่เมื่อ 24 ตุลาคม 2559) และเป็นกลุ่มคนที่อยู่กับน้ำ ดำน้ำเก่ง ในการรับรู้ของอินเดียเมื่อเทียบกับดินแดนในปัจจุบันคือแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พราหมณ์และพระภิกษุนำอารยธรรมและศาสนามาเผยแผ่

แต่แล้วนาคกลับถูกโยงเป็นพญานาคในความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดูและพุทธในที่สุดเช่นเดียวกับมังกรที่เข้าใจไปว่าเป็น งูเทพ

สำหรับอารยธรรมจีนเรื่องราวของเทพมังกรที่มีลักษณะลำตัวยาวคล้ายงู แต่มีขาและมีกรงเล็บ มีเขี้ยว มีหนวด มีแผงคอ มีโหนกเหมือนเขา จนเป็นลักษณะที่แปลกไปจากลักษณะของงู แต่ที่คล้ายงูอีกสิ่งหนึ่งคือเกล็ด กระนั้นเกล็ดมังกรยังสะท้อนปรัชญาจีนคือเป็นทั้งเกล็ดแบบหยินและหยาง สามารถเนรมิตกายใหญ่เท่าจักรวาลหรือเล็กเท่าหนอนไหมก็สามารถทำได้

chinese-dragon-red

มังกรมีหลายประเภท เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงผู้มีบุญบารมี อยู่ในบาดาลทั้งในทะเลสาบและทะเล เหาะขึ้นเวหา เกี่ยวเนื่องกับความอุดมสมบูรณ์ตลอดจนพิบัติภัยที่มนุษย์ได้รับ

นอกจากนี้ยังเป็นสัญลักษณ์แสงความเป็นชายผู้มีสถานะเป็นจักรพรรดิโอรสแห่งสวรรค์ ส่วนอารยธรรมอินเดียเทวตำนานเกี่ยวกับนาคพิสดารล้ำลึกและสะท้อนปรัชญาการดำเนินชีวิตในครรลองแห่งความดีงาม

ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับงู นาค เมื่อรับอิทธิพลความเชื่อและศาสนาจากอินเดียจึงเกิดการผสมผสานกับวิถีชีวิต ไปจนถึงประเพณี วัฒนธรรม ศิลปะ สถาปัตยกรรม อันเกี่ยวเนื่องกับงูหรือนาค   

อำมาตย์เอกพระยาสัจจาภิรมย์อดุมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ) ผู้เขียนหนังสือประเภทปรัมปราวิทยา (Mythology) อินเดีย เรื่อง เทวกำเนิด กล่าวถึง นาค พญานาค ไว้น่าสนใจ ว่านาคเป็นอุปปาติกะประเภทหนึ่ง เมื่อปฏิสนธิแล้วจะคลอดออกมาเป็นฟองไข่ ครั้นเมื่อครบกำหนดตัวอ่อนที่พัฒนาเต็มที่จะออกจากเปลือกไข่แต่ละฟองเป็นตัว แน่นอนว่าสภาพนี้คือธรรมชาติของงูโดยทั่วไป (มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่งูออกลูกเป็นตัว

unnamed (1)

ความเชื่อเรื่องพญานาคที่มีอิทธิฤทธิ์นั้นพระยาสัจจาภิรมย์ฯ อ้างถึงบาลีลิปิกรมอรรถาธิบายว่า มีหน้าเป็นคน มีหางเป็นงู เป็นพวกกึ่งเทวดา เมืองที่อยู่เรียกว่าบาดาล พญานาคเป็นโอรสพระกัศยปเทพบิดรและนางกัทรูมารดา ส่วนที่อยู่ที่เรียกว่าบาดาลนั้นวิษณุปุราณะและปัทมปุราณะ ระบุว่ามีถึง 7 ชั้น เรียงลำดับซ้อน คือ 1) อตล 2) วิตล 3) สุตล 4) ตลาตล 5) มหาตล 6) รสาตล และ 7) ปาตาล ซึ่งปาตาลคือที่อยู่ของวาสุกินาคราช หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ วาสุกรี นาคจะอยู่ในบาดาลเฉพาะชั้นที่ 5 คือ มหาตล และชั้นที่ 7 คือปาตาลเท่านั้น

นาคในเทวกำเนิดนี้มีตัวยาวอย่างงูมีหงอนเป็นอันงามคัมภีร์ปุราณะกล่าวถึงนาคตนหนึ่งคือนาคเศษะหรือพญาอนันตนาคอันหมายถึงไม่สิ้นสุดเป็นเจ้าแห่งนาคทั้งปวงเป็นใหญ่เหนือบาดาลมีเศียร 1,000 เศียร เป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์บรรทมในระหว่างสร้างโลกในเกษียรสมุทร ขณะที่นารายณ์สิบปาง อันเล่าถึงการอวตาร (แบ่งภาค) ของพระนารายณ์ พญาอนันตนาคจะมีส่วนสำคัญกับการอวตาร โดยในปางมัสยาวตาร เป็นอวตารปางแรก

ครั้งนั้นพญานาคเคยเป็นเชือกผูกเรือของพระมนูหรือท้าวสัตยพรต ไว้กับกระโดงปลาใหญ่ที่เป็นร่างอวตารของพระนารายณ์ ทำให้รอดพ้นจากภัยของน้ำท่วมโลก ครั้นเมื่ออวตารเป็นเต่าในปางกูรมาวตาร คราวกวนเกษียรสมุทรนาควาสุกรีใช้ลำตัวพันรอบเขามันทระ ให้เทวดาและอสูรใช้แทนเชือกเพื่อเคลื่อนจนบังเกิดน้ำอมฤต ขณะที่พระนารายณ์อวตารเป็นเต่าเพื่อรองรับเขามันทระที่เป็นแกน การเสียดสีของเขามันทระเกือบทำให้โลกทะลุไปยังบาดาล (ศานติ ภักดีคำ, นาค, กรุงเทพฯ: อัมรินทร์, 2556, 7-9.)

ในยุคมหากาพย์ของอินเดียมหากาพย์มหาภารตะกล่าวถึงนาคไว้มากมายหลายตอนดังปรากฏการกล่าวถึงกำเนิดของนาคและครุฑอ้างถึงเทวปกรณัมฮินดูว่าทั้งที่มารดาของทั้งสองเป็นพี่น้องกันและมีสวามีองค์เดียวกันคือพระกัศยปประชาบดีแต่สองพี่น้องทั้งนางวินตาและนางกัทรูมีความริษยากันลึกๆ

unnamed

เมื่อนางกัทรูขอพรจากสวามีให้มีโอรสเป็นนาคหนึ่งพันตัวมีฤทธิ์ร้ายแรงและแปลงกายได้ทุกอย่างตามปรารถนานางวินตาจึงขอพรให้มีโอรสเพียงแค่สองคนแต่เก่งกล้าและขอให้มีชัยะต่อนาคทั้งหลายแน่นอนว่าพระกัศยปประชาบดีเล็งเห็นความทุกข์ที่จะบังเกิดจึงเตือนนางวินตาว่าพรจากความริษยานี้นอกจากจะเกิดเวรต่อกันแล้วยังจะทำให้ต้องประสบกับความยากลำบากโดยจะพ้นทุกข์ได้เพราะลูกเป็นผู้กตัญญูซึ่งฟักออกมาเป็นครุฑ

จากภาพสะท้อนนี้ เทวตำนานเรื่องกำเนิดนาคและครุฑจึงสอนให้มนุษย์ผู้รับฟังเรื่องดังกล่าวลดละความริษยาระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นในหมู่พี่น้อง หรือภรรยาโดยเฉพาะในสังคมอินเดียและพื้นที่อื่นของโลกตะวันออกที่สามีมีภรรยาได้หลายคน (Plural marriage หรือ Polygamous marriage)

ส่วนมหากาพย์รามายณะกล่าวถึงนาคไม่มาก แต่ปรากฏชื่อ ศรนาคบาศ ซึ่งทศกัณฐ์ให้อินทรชิตโอรสของตน ยกทัพไปรบกับพระลักษมณ์และพระราม อินทรชิตเหาะขึ้นไปยังเวหาร่ายคาถาบดบังกายเรียกศรนาคบาศแล้วเล็งคันธนูให้ศรนาคบาศพุ่งไปรัดพระรามกับพระลักษมณ์จนล้มลง อินทรชิตคิดว่าทั้งสองพระองค์สิ้นพระชมน์ จากนั้นพลวานรนำโดยหนุมานไปเสาะหาโอสถสัญชีพกรณีและวิศัลยกรณีตามคำแนะนำของสุเษนวานรผู้เชี่ยวชาญการแพทย์

ระหว่างที่หนุมานไปหาโอสถคลายพิษศรนาคบาศ ครุฑตนหนึ่งร่อนลงไปช่วย นาคบาศเมื่อเห็นครุฑจึงหายตัวไปทันที เมื่อพระรามและพระลักษมณ์ฟื้นคืนสติจึงสอบถามครุฑตนนั้นได้ความว่าคือครุฑผู้ติดตามพระนารายณ์มาหลายกัลป์ แต่ในรามาวตารปางที่อวตารมาเป็นพระรามนั้นครุฑจะลงมาได้เพียงครั้งเดียวเมื่อถูกศรนาคบาศ

อสรพิษและนาคทั่วพิภพกลัวครุฑตามตำนานการเป็นศัตรูของนาคและครุฑ

หมายเหตุวสิน ทับวงษ์ จากสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา นักวิชาการรุ่นใหม่ที่สนใจความเชื่อมโยง และความเป็นไปของโลก เขาได้เข้ามามีส่วนร่วมใน นิทรรศการ โลกแห่งสรพิษ (World of Snake) ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ 21-29 เมษายน 2561 จากการสืบเสาะเรืองราวด้านวัฒนธรรมและความเชื่อของงู ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต ศาสนา ศิลปะ-สถาปัตยกรรม วรรณกรรมของผู้คนในภูมิภาคแถบนี้ จึงได้มีโอกาสนำมาบอกเล่าผ่านข้อเขียนชุดนี้