คนเลือกงาน (ไม่เท่ากับ) งานเลือกเพศ

คนเลือกงาน (ไม่เท่ากับ) งานเลือกเพศ

ถ้าแมวสีไหนก็จับหนูได้ แต่ทำไม “คนข้ามเพศ” กลับยังถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน

ใครๆ ก็พูดเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมทั้งๆ ที่เราทุกคนก็รู้กันอยู่ว่า มันไม่มีจริง แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะทำลืมมันไปในเมื่อหลายปัญหาของความไม่เท่ากันยังคงอยู่ อย่างเช่น การถูกเลือกปฏิบัติในเรื่องการทำงานของกลุ่มคนข้ามเพศ หรือ ทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) อีกหนึ่งปัญหาคลาสสิกที่อยู่คู่สังคมไทย

แม้ว่าภาพลักษณ์ของไทยเราดูจะเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศ แต่ในเรื่องสังคมการทำงาน พวกเขากลับยังต้องเจอปัญหาตั้งแต่การสมัคร สอบสัมภาษณ์ หรือแม้แต่เข้าไปได้แล้วก็ยังอาจถูกต่อต้าน ไม่ยอมรับ จนถึงการไม่ได้รับโอกาสในการก้าวหน้า

ตอกย้ำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นด้วยผลวิจัยล่าสุดในหัวข้อ “การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศไทย” โดยธนาคารโลกที่ทำการสำรวจผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTI (เลสเบี้ยน, เกย์, ไบเซ็กชวล, ทรานส์เจนเดอร์ และอินเตอร์เซ็กส์) 2,302 ราย และคนที่ไม่ใช่ LGBTI จำนวน 1,200 ราย รวมทั้งสิ้น 3,502 คน

77 เปอร์เซ็นต์ของคนข้ามเพศ ถูกปฏิเสธงานเหตุเพราะตนเองเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ

22.7 เปอร์เซ็นต์ของเกย์ที่ตอบแบบสอบถาม บอกว่า ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งงานเพราะเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ

24 เปอร์เซ็นต์ของเกย์และเลสเบี้ยนที่ตอบแบบสอบถาม บอกว่า ถูกห้ามไม่ให้เปิดเผยตัวตนในที่ทำงาน ฯลฯ

ไม่ต่างกันกับผลวิจัยอีกสำนักที่เคยทำออกมาก่อนหน้านี้ คือ รายงานวิจัยเรื่อง “อัตลักษณ์ และวิถีทางเพศในประเทศไทย” ส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมสิทธิความหลากหลายและความเท่าเทียมในโลกของการทำงาน (PRIDE) สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดย บุษกร สุริยสาร ที่ใช้เวลาเก็บข้อมูลหนึ่งปีเต็ม (มิ.ย.55 - มิ.ย.56) เพื่อที่จะพบว่า คนข้ามเพศ (กะเทย สาวประเภทสอง หญิงข้ามเพศ ชายข้ามเพศ) และทอม (เลสเบี้ยนที่มีการแสดงออกคล้ายชาย) มักเผชิญกับอุปสรรคในการจ้างงานที่รุนแรงที่สุด และถูกกีดกันออกจากงานกระแสหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานภาครัฐ 

“การกีดกัน” มักเกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนการสัมภาษณ์งาน หรือเมื่อพบว่า เพศตามกฎหมายตรงข้ามกับหน้าตาหรือลักษณะการแสดงออกทางเพศของตน 

hiring-1977913_1920

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ขณะที่พวกเขามักถูกถามเกี่ยวกับเพศวิถีของตนเองในการสัมภาษณ์งาน แต่ก็มักจบลงด้วยการถูกปฏิเสธที่จะว่าจ้าง หนำซ้ำผู้สมัครงานข้ามเพศมักต้องทำข้อสอบทางจิตวิทยาที่ผู้สมัครงานอื่นไม่ต้องทำ!

แม้จะดิ้นรน กระเสือกกระสนจนโปรไฟล์ดีเลิศแค่ไหน เมื่อชีวิตไม่ได้มีทางให้เลือกเดินมาก คนข้ามเพศหลายคนก็จำยอมต้องหันเหไปทำอาชีพที่ถูกตีกรอบว่า เหมาะกับคนอย่างพวกเขา อาทิ ไปเป็นนักแสดงคาบาเรต์ เป็นช่างแต่งหน้า พนักงานขายเครื่องสำอาง ฯลฯ หรือซ้ำร้ายกว่านั้น บางคนต้องหลุดเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตระดับล่างสุดเช่นการรับงานมาทำที่บ้าน หรือแม้กระทั่งเป็นร่างทรง และหลายคนก็ต้องลงเอยด้วย การขายบริการทางเพศ

“ส่วนตัวโชคดีนะที่ไม่เจอปัญหาในที่ทำงาน อาจเป็นเพราะออฟฟิศทั้งที่ทำอยู่ตอนนี้กับที่ทำงานเก่า เพื่อนร่วมงานเป็นคนรุ่นใหม่ ไม่หัวโบราณ เจ้านายเป็นฝรั่ง ดูคนที่ความสามารถ ก็เลยไม่เจอปัญหาอะไร” อาร์ต-ชญาณัพ ทองดาดาษ เล่าให้ ‘จุดประกาย’ ฟังระหว่างมาตั้งโต๊ะรับสมัครงานที่มิวเซียมสยาม ในงาน “HOPE” ซึ่งจัดขึ้นในวันตระหนักรู้การมีตัวตนของคนข้ามเพศสากล 31 มีนาคมของทุกปี โดยทุกบริษัทที่มาตั้งโต๊ะรับสมัครงาน ประกาศชัดเจนว่า จะไม่มีการนำเรื่องเพศมาพิจารณา

แม้จะมีหน้าที่การงานมั่นคง บรรยากาศการทำงานเป็นไปด้วยดี แต่ก่อนหน้านี้ กว่าจะได้งาน เธอก็ต้องเดินสายสัมภาษณ์งานอยู่หลายเดือน

“ยื่นใบสมัครไปเยอะมาก แล้วเราก็ชัดเจนตั้งแต่แรก ตรงที่ให้กรอกข้อมูลเรื่องเพศ เรากรอกว่า Male / Transsexual ลงไปเลย เพราะฉะนั้น คนที่เรียกมาสัมภาษณ์เขาจะรู้อยู่แล้วว่า เราเป็นยังไง ที่เรียกมา นั่นแปลว่า เขาไม่ติด แต่มันก็มีบ้างแหละที่ถ้าเขาเจอคนที่มีคุณสมบัติเดียวกับเรา เขาก็อาจจะเลือกคนอื่นแทนที่เรา

ก็พูดยากนะ เขาอาจจะเคยผ่านประสบการณ์ไม่ดีกับทรานส์หรือเปล่า เราก็ไม่รู้ แต่ส่วนใหญ่จะมองว่า ทรานส์มีปัญหาเรื่องอารมณ์ ความที่เราฮอร์โมนเป็นแบบนี้ อารมณ์จะขึ้นลงเยอะ แล้วมันก็มีปัญหากับการทำงานจริงๆ อันนี้ต้องยอมรับ หลายบริษัทก็อาจเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นหรือส่วนในการตัดสินใจ เพราะฉะนั้นการควบคุมอารมณ์เป็นเรื่องสำคัญมาก ยิ่งถ้าโตขึ้น อย่างเราเองตำแหน่งงานค่อนข้างซีเนียร์ ก็ต้องควบคุมอารมณ์ให้ดี” เธอกล่าว 

พร้อมกำชับหนักแน่นว่า ข้อสำคัญคือ “อย่าโกหกเรื่องเพศ”

“น้องบางคนใส่ระบุเพศไปว่า ‘ผู้หญิง’ ซึ่งอันนี้ไม่ควรอย่างแรง เพราะเราไม่ใช่ บางทีเขาเรียกคุณมาสัมภาษณ์เพราะคุณเป็นผู้หญิงไง มันก็ไม่แปลกหรอกถ้าคุณเข้าไปแล้วเขาจะตกใจ อยากให้ใส่ให้ชัดเจนไปเลยดีกว่า เพื่อจะได้รู้ว่า บริษัทที่เรียกไปสัมภาษณ์เขาไม่ติดเรื่องเพศสภาพของเรา ทีนี้คุณจะได้งานหรือเปล่า ก็อยู่ที่ตัวคุณแล้ว ซึ่งเราก็ประเมินคุณสมบัติและความสามารถตัวเองด้วย อย่างอาร์ตเอง เวลาจะสัมภาษณ์พนักงานใหม่ ก็ให้โอกาสน้องๆที่เป็นทรานส์ แทบจะเรียกได้ว่า ให้โอกาสก่อนเลยด้วยซ้ำ เรียกมาสัมภาษณ์ แต่ก็ไม่ได้จริงๆ ฉะนั้น เพศไม่ได้มีส่วนในการตัดสิน หลายบริษัทก็ไม่ได้ปิดกั้น เพียงแต่คุณยังดีไม่พอ ถ้าเทียบกับผู้สมัครคนอื่น ซึ่งน้องๆ หลายคนไม่เข้าใจ คิดแค่ว่า เขาไม่เอาเราเพราะเราเป็นแบบนี้”

OOOOOOOOOO

ขณะที่อาร์ตต้องเผชิญกับการเดินสายสัมภาษณ์งานอยู่เป็นเดือนกว่าจะลงตัว แต่สำหรับ บัว - บัวชมพู วันเพ็ญ ที่แม้จะเรียนจบมาปีเศษแล้ว แต่ก็เพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่ระบบงานหลังพักฟื้นจากการผ่าตัดแปลงเพศ

“หนูจบมาจากสาขาท่องเที่ยว จริงๆ คือ อยากเป็นไกด์ แต่ถ้าไปสมัครงานที่บริษัททัวร์ ส่วนใหญ่เขาจะให้ทำงานเอกสาร จองตั๋วบ้างอะไรบ้าง ซึ่งหนูคิดว่าไม่ค่อยเหมาะกับตัวเองเท่าไหร่ ก็เลยอยากจะลองหางานสายอื่นดู เพราะมองว่า ตัวเองเป็นคนพูดเก่ง ก็เลยอยากจะใช้จุดแข็งตรงนี้ไปหางาน แล้วที่มาลองดูงานที่นี่ก็เพราะเขาบอกว่า บริษัทที่มาเปิดรับเขาไม่ติดเรื่องเพศ ก็เลยมาสมัครทุกบริษัทเลยค่ะ” บัวเล่าพร้อมรอยยิ้ม

เดิมที ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการผ่าตัด บัวเคยไปรับจ๊อบเป็นไกด์อยู่บ้าง และเคยไปสมัครงานเป็นไกด์ประจำพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งที่แม้จะตกลงรับเธอเข้าทำงาน แต่ก็มีเงื่อนไขเรื่องหนึ่งว่า “ขอให้แต่งตัวเป็นผู้ชาย”

“คือหนูไม่แต่งชายแน่นอนค่ะ” เหตุผลง่ายๆ ไม่ต้องอธิบายเพิ่มสำหรับการหันหลังให้พิพิธภัณฑ์ดังกล่าว

บัวเล่าถึงเพื่อนๆ ที่จบมารุ่นเดียวกันว่า มีเพื่อนคนหนึ่งที่ออกตุ้งติ้งหน่อยแต่ยังแต่งชาย ไปสมัครงานธนาคารแห่งหนึ่ง ก็ถูกเรียกไปสัมภาษณ์ถึงสามรอบ และจบตรงที่ถูกปฏิเสธ ขณะที่เพื่อนที่ลุคเกย์กลับพบว่า ไม่ค่อยมีปัญหาในการหางาน

“เพื่อนที่แต่งหญิง มีสองคนทำงานเซเว่น อีกคนก็ไปเป็นนางโชว์ค่ะ” บัวเล่าถึงอาชีพที่เพื่อนสาวประเภทสองที่เรียนจบรุ่นเดียวกันทำเลี้ยงตัวเองอยู่ในตอนนี้

แม้ใจหนึ่งยังฝันอยากเป็นไกด์ ได้ทำงานตามที่เรียนมาแถมยังไปสอบได้บัตรไกด์มาครองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่บัวก็รู้ว่า เป็นไปได้ยาก ไม่ใช่เพราะข้อจำกัดเรื่องเพศ แต่เนื่องจากงานไกด์ส่วนใหญ่เป็นงานอิสระ ต้องคอนเนคชั่นดี และบอกต่อกันปากต่อปาก ยิ่งถ้าเพิ่งเริ่มต้นอย่างบัวแล้ว กว่าจะมีคนมาจ้างสักครั้ง รอนานจนเบื่อ 

“ญาติๆ เขาไม่เข้าใจเรื่องงานฟรีแลนซ์ แล้วหนูก็ไม่อยากให้ครอบครัวลำบากใจ ก็เลยมาหางานประจำทำ ซึ่งที่ผ่านมา ก็ไปสมัครมาบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้ ซึ่งเรื่องคำนำหน้าในบัตรประชาชนมันสำคัญมากเลยนะ หนูเชื่อว่า ด้วยคุณสมบัติของหนูกับตำแหน่งงานที่สมัครไป ถ้าเขาไม่เห็นคำว่า นาย เขาต้องรับหนูอย่างแน่นอน” 

OOOOOOOOOO

สำหรับปัญหานี้ ถ้าถาม เปรมปรีดา ปราโมช ณ อยุธยา ในฐานะที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องสิทธิ LGBT ในไทยมานาน เธอมองว่า ทุกอย่างตั้งต้นที่ “ทัศนคติ”

“มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างนะ แล้วก็ยังเป็นปัญหาเรื่องทัศนคติด้วย ตั้งแต่โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของทรานส์เจนเดอร์นี่ก็ยากแล้ว เขาต้องได้รับการศึกษาที่เหมาะสมก่อนถึงจะได้งานที่ดีในอนาคต แต่เมื่อก่อนยังมีการปิดกั้นโดยเฉพาะในบางคณะ คือ ไม่เปิดรับคนที่เป็นทรานส์เจนเดอร์เลย ซึ่งปัญหานี้ถือว่า ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ส่วนใหญ่เปิดรับโดยไม่ได้เอาเรื่องเพศมาแบ่งแยก แต่ปัญหาตอนนี้ที่เราพบสูง คือ เมื่อเขาจบออกมาแล้วกลับไม่ได้งานตรงตามความถนัดของเขา ใบปริญญาที่เขามี ไม่สามารถเบิกทางได้ ก็ต้องไปทำงานในสายงานที่เปิดรับ ซึ่งไม่ตรงกับความเชี่ยวชาญหรือการศึกษาที่จบออกไป

แม้เดี๋ยวนี้ หลายบริษัทจะเปิดรับพนักงานข้ามเพศมากขึ้น แต่เมื่อรับเข้าไปแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือ บรรยากาศภายใน มีกี่องค์กรที่เห็นความสำคัญในการจัดเทรนนิ่งผู้บริหารระดับหัวหน้างานว่า คุณต้องบริหารจัดการลูกน้องที่เป็นทรานส์เจนเดอร์อย่างไร แล้วเรื่องถัดจากนั้นก็คือ การเลื่อนตำแหน่งงาน ซึ่งก็ยังเป็นปัญหาว่า คนข้ามเพศไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในการถูกพิจารณาเพื่อเลื่อนสู่ตำแหน่งงานที่สูงขึ้น” เปรมปรีดา กล่าว

ถ้าเป็นเกม เราคงพอจะเห็นภาพแล้วว่า คนข้ามเพศต้องเจอกับสารพัดด่านบนเส้นทางอาชีพ โดยเฉพาะถ้าลงลึกถึงเรื่องความก้าวหน้ามั่นคง ประเด็นสำคัญหนีไม่พ้นเรื่อง “ทัศนคติ” ของคนในองค์กรว่า รับได้มากน้อยแค่ไหนที่จะมีหัวหน้างานเป็นทรานส์เจนเดอร์

“เขาจะสามารถคงอุปนิสัยของเขาควบคู่ไปกับการเป็นหัวหน้างานได้ไหม เช่น ทรานส์เจเดอร์วูแมน (สตรีข้ามเพศ) ต้องมีมารยาทแบบผู้หญิงจึงจะเป็นหัวหน้างานได้เหรอ ถ้าเขารักษาคาแรคเตอร์ของเขาเอาไว้บวกกับความสามารถของเขา เขาเป็นหัวหน้างานได้ไหม หัวหน้ายังเม้าท์มอยหอยกาบ ใช้ศัพท์แสงต่างๆ ในชุมชน LGBT ได้ไหม ปัญหามันขยับมากขึ้น ไม่ใช่แค่คุณเข้าทำงานได้หรือไม่ได้ คำถามต่อไป คือ งานแบบไหน เหมาะกับวุฒิคุณไหม คุณได้รับโอกาสในการก้าวหน้า ได้รับการโปรโมทบ้างไหม อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง” เปรมปรีดา แจกแจง 

และบอกอีกด้วยว่า ที่หยิบมาเล่าในครั้งนี้คัดเฉพาะข้อหลักๆ เท่านั้น ยังไม่นับรวมบรรยากาศอื่นๆ ที่คนข้ามเพศต้องเจอ แม้กับเรื่องเล็กๆ อย่าง “ห้องน้ำ” ก็ยังเจอมาแล้ว

“ตัวเราเอง เคยทำงานในองค์กรระหว่างประเทศที่ยอมรับและให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมาก แต่กลับเจอเรื่องเล็กน้อยอย่างการเข้าห้องน้ำให้จุกจิกกวนใจและรู้สึกไม่ดี อย่างเช่นเรื่องการเข้าห้องน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เข้าห้องน้ำหญิงมาโดยตลอด แต่พอมายืนส่องกระจกข้างๆ กับพนักงานที่อาวุโสกว่า เขาก็ทำท่าอึดอัด มันก็เหมือนกันกฎข้ออื่นๆ โอเค เราเข้าทำงานในองค์กรนั้นๆ ได้จริง เราเข้าห้องน้ำหญิงได้จริง  แต่คุณรู้สึกสบายใจในบรรยากาศการทำงานมากน้อยแค่ไหน นี่คือคำถามในปี 2018 ว่ามีนโยบายหรือระเบียบปฏิบัติอะไรบ้างที่จะทำให้ทรานส์เจนเดอร์ที่เข้าไปในองค์กรอยู่ร่วมกันได้อย่างดี” เธอตั้งคำถาม

พร้อมชี้ว่า คงไม่ใช่เรื่องแฟร์กับองค์กร ถ้าคนที่ถูกจ้างมาเพื่อให้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่กลับต้องเสียสมองส่วนหนึ่งไปกับเรื่องเล็กแต่กวนใจอย่างนี้

..แล้วจะเหลือสมองไว้คิดครีเอทงานได้มากแค่ไหน?