‘ปอม ชาน’ กับประสบการณ์หวาน-ขม

‘ปอม ชาน’ กับประสบการณ์หวาน-ขม

"ศิลปิน" ผู้มีโอกาสได้ร่วมงานกับแบรนด์อินเตอร์ยักษ์ใหญ่ ได้วาดโปสเตอร์ให้ศิลปินดังระดับโลก ความสำเร็จที่เห็นไม่ต่างอะไรกับยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่เบื้องล่างนั้นเย็นยะเยือก และยากลำบาก!

ลืมภาพสวยๆ ชีวิตดีๆ อย่างที่ “นักฝัน” ชอบนึกถึงเมื่อคิดถึงคำว่า “ประสบความสำเร็จ” ไปได้เลย เพราะส่วนใหญ่ที่เราได้เห็นกัน มันคือ “ภูเขาน้ำแข็ง” ที่โผล่ยอดอวดความงาม  แต่ใครจะรู้ว่า.. กว่าเรื่องราวจะนำพาชีวิตมาสู่ความสำเร็จนั้น เขาหรือเธอต้อง “ผ่าน” อะไรมาบ้าง

เช่นประสบการณ์หวานปนขมของศิลปินสาว นักวาดภาพประกอบชาวไทยที่ไปโด่งดังในอังกฤษและอีกหลายประเทศอย่าง ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง หรือที่รู้จักในชื่อของ ‘ปอม ชาน’ บอกได้เลยว่า กว่าจะได้อย่างที่เห็น ไม่ใช่แค่พรสวรรค์ แต่มันคือเรื่องความพยายาม และทัศนคติล้วนๆ ที่นำพาเธอมาสู่จุดนี้ได้

"จุด" ที่เธอได้มีโอกาสร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลก ตั้งแต่การครีเอทแอดฯให้กับ Marc Jacobs, ดีไซน์ลายบนรองเท้าให้กับ Nike, ครีเอทภาพวาดให้กับห้างดังในลอนดอนอย่าง Selfridges และ Liberty แถมด้วยการออกแบบลายชุดและวาดกำแพงให้ Top Shop, ออกแบบตัวอักษรให้ The New York Times และแบรนด์ชุดชั้นใน La Perla, ดีไซน์ Lookbook ให้ Converse, ออกแบบเสื้อยืดให้ Adidas ฯลฯ 

01

ส่วนหนึ่งของ “สิริมงคล” นิทรรศการเดี่ยวของ ปอม ชาน (ที่มา : เว็บไซต์ www.pommechan.com) 

“วันนี้ ตื่นมาตอบอีเมลเมืองนอกไป 3-4 อีเมล แล้วก็แพลนจะไปแอลเอเพื่อพรีเซนต์งานกับลูกค้าที่อเมริกาเดือนเมษาฯ พอเข้าสตูดิโอมาก็เตรียมเวิร์คชอปที่ลูกค้าจ้างให้จัด ปอมก็ต้องมานั่งคิดว่า ทำแบบไหนให้คนที่ไม่มีพื้นฐานเลยสามารถทำตามได้ เสร็จแล้วเดี๋ยวจะต้องจัดการเรื่องคอร์ปอเรทไอเด็นติตี้ให้กับแบรนด์เซรามิคที่ปอมทำกับพาร์ทเนอร์ ชื่อ ‘สตอรี่ส์ เซรามิค’ มีเรื่องทำแพคเกจจิ้งให้ข้าวอุทัยไรซ์ ของชาวนาครอบครัวนึงที่ปอมเข้าไปช่วยทำการตลาดให้ด้วยค่ะ (หัวเราะ) อ้อ! มีอีกงาน คือ เดี๋ยวต้องถ่ายโปรดัคต์ช็อต พอดีสินค้าที่เราทำแพคเกจจิ้งให้เขาผลิตเสร็จออกมาแล้ว ก็เดี๋ยวจะเอามาถ่ายรูปลงเว็บไซต์ด้วยค่ะ” นั่นคือคำตอบยาวเหยียดจากสาวคนนี้เมื่อเราถามว่า วันนี้ทำอะไรบ้าง?

ถ้าให้ตอบรวมๆ เอาเป็นว่า เธอไม่มี ‘วีคเอ็นด์’ มาพักใหญ่แล้ว..

“ก็แน่นมาเรื่อยๆ นะ ไม่เคยเบาลงเท่าไหร่ แต่ปอมจะมีจุดที่ว่า ถ้ามันแน่นติดๆๆ กัน จะแพลนเที่ยว แล้วจะหายไปสองสามอาทิตย์เลย ไม่ตอบเมลลูกค้า ไม่วาดรูปด้วย” ปอมเล่าถึงการจัดบาลานซ์ให้ชีวิต 

นอกจากจะพยายามบาลานซ์เรื่องการพักแล้ว การรับงานที่ดีต่อใจก็เป็นอีกวิธีในการสร้างสมดุล โดยปอมเล่าว่า งาน Gig Poster หรือวาดโปสเตอร์คอนเสิร์ตให้กับศิลปินเพลงต่างประเทศถือเป็นงานหล่อเลี้ยงจิดใจได้อย่างดี

"งานที่ชอบทำมาก คือ ทำ Gig Poster วาดโปสเตอร์คอนเสิร์ตให้เมืองนอก เพราะเป็นงานไม่มีบรีฟ แล้วเราก็เลือกศิลปินเองได้ด้วย อย่าง Ed Sheeran ปอมก็เคยทำให้ 

อันนี้ คือ ความสุขทางใจค่ะ ทำมาเรื่อยๆ ปีละ 2-3 ชิ้น ถือเป็นช่องทางในการพัฒนาตัวเอง เทคนิคใหม่ๆ ที่เราอยากลอง ก็ลองกับงานนี้ไปเลย"

"อีกงานที่ชอบ คือตอนทำโปสเตอร์ให้ The Beach Boys ซึ่งเป็นวงที่ปอมชอบตั้งแต่เด็ก พอเขาเสนอมาเราก็รีบรับทำเลย งานนี้เป็นงานคอลลาบอเรชั่นกับช่างภาพ ชื่อ นิค มีค (Nick Meek) เขาเป็นช่างภาพแลนด์สเคป งานเลยออกมาโดยผสมลายเส้นและโฟโต้ซึ่งปอมชอบมาก เพราะส่วนตัวชอบทำงานแนวทดลองด้วย" ปอมเล่า

download

โปสเตอร์ที่ทำให้ The Beach Boys (ที่มา : เว็บไซต์ www.pommechan.com) 

ด้วยความที่เป็นคนชอบเรียนรู้ การได้ทดลองสิ่งใหม่ รับงานลักษณะใหม่ๆ ที่เพิ่มความท้าทายให้ตัวเอง โดยเฉพาะการมีหลายทักษะ สนใจในหลายเรื่อง เลยอดสงสัยไม่ได้ว่า ตกลงแล้ว เธอมีอาชีพอะไร?  คำตอบ คือ.. 

“ปอม เป็นอิลลัสเตรเตอร์/กราฟิคดีไซน์ แต่ว่าหนักไปทางอิลลัสเตรเตอร์มากกว่า แล้วก็เป็น โค-ฟาวเดอร์ของสตอรี่ส์เซรามิค เป็น โค-ฟาวเดอร์ ของ AM-PM Agency เป็นธุรกิจเล็กๆ ที่ปอมกับพาร์ทเนอร์ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเอเยนซีสำหรับประสานงานให้กับศิลปินเมืองนอกและลูกค้าเมืองไทย หรือศิลปินไทยกับลูกค้าที่ต้องการว่าจ้าง.. 

เรามีหลายหมวกเนอะ ขึ้นอยู่ว่าวันนึง ๆ ปอมจะสวมหมวกอะไรบ้าง แต่หลักๆ มันคือ งานการแก้ปัญหานะ หลังๆ เรารู้สึกว่า เราคือ นักแก้ปัญหา พอมีปัญหามาปุ๊บ สมองเราต้องไม่ Panic แล้ว เราก็มาดูว่า โอเค.. อันนี้แก้ยังไง เอ บี ซี วิธีไหนดีที่สุด ตัดเรื่อง Emotional ทิ้งไป เข้าสู่ Business Zone และมาแก้ปัญหาตรงนั้น ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะมีแบบ.. อ้าวทำไมอย่างนี้ล่ะ ทำไมเขาพูดจาไม่ดีเลย อย่างนู้นอย่างนี้ เสียใจจัง ทำไมเขาคิดอย่างนี้.. แต่เดี๋ยวนี้ตัดหมด อ๋อ มันคือ บิสิเนส”

..ศิลปินกับธุรกิจอาจเป็นของไม่เข้าพวกกัน แต่กับศิลปินสาวคนนี้ เรื่องธุรกิจคือสิ่งที่เธอสนใจ

"ตอนไปอยู่อังกฤษ มันบีบเรา เราจนมากๆ ตอนนั้น ถ้าคนเคยจน พอฟื้นขึ้นมา จะไม่อยากกลับไปเป็นอย่างนั้นอีก

ถ้าถามปอมกลัวผี หรือกลัวอะไร.. ปอมกลัวจนค่ะ"

ปอมกล้าพูดได้เลยว่า ปอมกลัวความจน ความจนมันไม่ใช่ใสๆ สวยๆ เหมือนอย่างที่คนอื่นเข้าใจ จะฟังดูกระแดะมั้ย แต่อาจเป็นเพราะเราโตเมืองนอก เราเลยเห็นว่า มันไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนนะที่ส่งลูกเรียน เขาต้องทำงานหาเงินกันตั้งแต่ 18 ทำทุกอย่างที่เป็นพาร์ทไทม์จ๊อบ ซึ่งคนพวกนี้ถ้าเขาล้ม เขาต้องลุกให้ได้ด้วยตัวเอง ไม่เหมือนบ้านเรา อ้าว.. ธุรกิจล้มทำไง งั้นไปนอนบ้านแม่ กินข้าวแม่แล้วกัน”

ช่วงเวลา 12 ปีในอังกฤษ กับจุดตกต่ำสุดๆ ที่ต้องเจอ เธอเล่าว่า

"ตอนนั้นปอม ‘จน’ ถึงขั้นต้องรับงานแจกใบปลิวริมถนน ไม่มีเงินขึ้นรถเมล์ ถอดรองเท้าเดินกลับบ้าน ขายมือถือเครื่องเดียวที่มีทิ้งเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ฯลฯ แต่ก็ไม่กลับ คือ มันไม่สุดน่ะ"

"ตอนมา คือ เฉิดฉายมากเลย มาเรียน มีเงิน แล้วมันก็เริ่มลงมาเรื่อยๆ ลงมาจนสุดแล้วน่ะ (หัวเราะ) แล้วปอมรู้สึกว่า ไอ้สิ่งที่เราทำ เงินที่พ่อให้มามันยังไม่งอกเงยเลยนะ อยากทำให้มันงอกเงยก่อน ก็อยู่มา 12 ปี ลำบากสุดๆ ก็น่าจะประมาณสามปี แล้วค่อยๆ ฟื้นดีขึ้นเรื่อยๆ”

นั่นคือความลำบาก หลังจากตัวเอง ‘ดื้อ’ ไม่ยอมกลับบ้าน ถึงขั้นหักบัตรเครดิต เพื่อจะยืนให้ได้ด้วยตัวเอง

Lulu+Compo

ร่วมงานกับ Lulu Guinness (ที่มา : เว็บไซต์ www.pommechan.com) 

ถามว่า บทเรียนจากความจน คือ อะไร เธอตอบว่า "อย่ากลัวเรื่องเงิน อย่ากลัวความลำบาก อย่ามีอีโก้ อันหลังนี้สำคัญนะ ปอมคิดว่า ที่รอดมาได้ก็เพราะไม่มีอีโก้"

"เคยรับจ๊อบเป็น BA ขายเครื่องสำอาง ตอนคริสต์มาสเขาก็จะจับเราใส่ขนนกสีชมพู สวมหมวกซานตาคลอส คือโคตรไม่ใช่เรา แล้วก็อายมาก..

เฮ้ย แต่วันนั้นได้ 35 ปอนด์นะ ก็ต้องทำสิ ถ้าเรามีอีโก้.. ฉันไม่ทำ ฉันก็อดตายไปแล้ว"

"เคยขายของอยู่แล้วมีลูกค้าคนไทยเข้ามา พอเขาเห็นเราเป็นคนไทยก็มองเราแบบชั้นต่ำก็มี เคยเจอเพื่อนๆ ที่เคยคบกัน รู้จักกันตอนเรียน เขามาเห็นว่าเรามาขายเครื่องสำอางก็เดินมาเยาะเย้ยเราแบบ.. นี่อยู่อังกฤษมาตั้งนานเพราะทำแบบนี้เหรอ เหมือนตบหน้าเราเบาๆ ก็ได้แต่พยักหน้าไป เพราะเขาไม่สนใจฟังอยู่แล้วว่า เราอยู่เพราะอะไร แล้วตลก คือ ทุกคนที่ทำแบบนั้นกับเรา พอเรากลับมาไทย เขาก็จะเดินมา อุ๊ย..ปอม เดี๋ยวนี้ดังใหญ่แล้วนะ เก่งจังเลย มานั่งตรงนี้ด้วยกันสิ.. ปอมก็จะ ไม่ล่ะ นั่งคนเดียวดีกว่า.. เราจำนะ”

กับชื่อเสียงที่มีในวันนี้ เธอยืนยันว่า “ไม่มีค่าอะไรเลย”

“การที่มีงานเข้ามา การที่ลูกค้าแฮปปี้กับงานของเรา อันนี้มีค่ากับเรามาก แต่ชื่อเสียง จำนวนไลค์ ยอดฟอล์โลเวอร์เป็นศูนย์สำหรับเรานะ ไม่แคร์เลย(เน้นเสียง) ไม่เคยมานั่งเช็คเลยว่า.. รูปนี้ลงแล้วได้ 400 ไลค์ คือ ปัญญาอ่อนน่ะ คนพวกนั้นเขาไม่ได้มาให้ข้าวเรากิน”

ถ้าอย่างนั้น ความสำเร็จของ ปอม ชาน อยู่ที่ตรงไหน..

“ตอนนั้น (สมัยอยู่อังกฤษ) ไม่เคยคิดไกล คิดแค่ว่า เอาให้รอดก็พอ.. (อะไรคือรอด?) มีกิน มีบ้าน ปอมอยากได้มาก คือ การมีบ้าน ตั้งแต่เด็กแล้ว อยากมีสเปซของตัวเอง ทุกวันนี้ยังไม่มีค่ะ แต่ก็กำลังเดินไปหามันนะ เราไม่เคยหยุดเดิน แต่อีกซัก 8 ปีข้างหน้า เราอยากจะผันตัวเองมาเป็น Fine Artist มากขึ้น อยากทำไฟน์อาร์ต ซึ่งเราจะไปสู่จุดนั้นได้ ต้องมี Sustain Business ก่อน เราต้องมีฐานลูกค้า ต้องมีธุรกิจรองรับที่มั่นคง ซึ่งตอนนี้กำลังค่อยๆ สร้าง ปอมเปิดเป็นบริษัทได้สองปีแล้วเพื่อรับงานโดยเฉพาะ อยากจะขยายฐานให้มากขึ้น หรืออย่างเซรามิคที่ทำ ปอมมองไกลนะ ไม่ได้มองแค่ขายในประเทศผ่านไลน์ เรามองที่อี-คอมเมอร์ซ ส่งออกไปเมืองนอก เช่น จีน ญี่ปุ่น” 

ชีวิตที่ฝันสำหรับเธอ ยืนยันว่า ไม่ได้อยากรวยร้อยล้าน แต่ปลายทางที่เธอมองเห็นมี “ความยั่งยืน” เป็นแกนหลัก 

“ปอมมองว่า พอเพียง คือ ยั่งยืน ปอมไม่ได้อยากรวยร้อยล้าน พอเพียงในแบบที่ตอบโจทย์ความต้องการเรา ไม่ได้ฟุ้งเฟ้อมาก ไม่ได้อยากซื้อแบรนด์เนม แต่เราต้องมั่นคง”

  • หมายเหตุ : บทความนี้ตีพิมพ์ใน "จุดประกาย" กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 มีนาคม 2560