ลิปสติกสีแดง อำนาจ และเครื่องมือผ่อนคลายของชีวิตร่วมสมัย

ลิปสติกสีแดง อำนาจ และเครื่องมือผ่อนคลายของชีวิตร่วมสมัย

ลิปสติกสีแดง จากเส้นทางต่อสู้เพื่อเสรีภาพ แสดงพลานุภาพของอิตถีเพศ สู่เครื่องประทินโฉม และการบรรเทาความกระวนกระวายในชีวิตร่วมสมัย

ในปารีสแฟชั่นวีคปลายเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา สิ่งที่ผู้คนในวงการแฟชั่นและ ความงามเฝ้ารอ ไม่ใช่แค่เทรนด์ และความสร้างสรรค์ใหม่ของคอลเลคชั่นเสื้อผ้าเครื่องประดับ หากแนวโน้มการแต่งหน้าทำผมในช่วงสปริง/ซัมเมอร์ ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องจับกระแสให้ทันไม่แพ้กัน

เทรนด์การแต่งหน้าที่มาแน่ๆ คือ ลิปสติกสีแดงสด มองเผินอาจไม่ใช่เรื่องตื่นใจอะไร แต่หากย้อนไปนับแต่สมัยก่อนคริสตกาลกระทั่งถึงปัจจุบัน กว่าสุภาพสตรีเราจะได้มีอำนาจ ในการเลือกสีสันของลิปสติกของตน เส้นนี้ไม่ได้ราบรื่นดังปูลาดด้วยเนื้อลิปสติกซาตินเลย

การต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสีแดงบนเรียวปาก

นับแต่สมัยเมโสโปเตเมีย มีการค้นพบว่าทั้งสตรีและบุรุษอีกไม่น้อยได้บดหินสีให้ละเอียด เพื่อทาป้ายสีแดงบนริมฝีปาก จนกระทั่งพระนางคลีโอพัตรา ผู้ซึ่งเป็นนวัตกรด้านความงาม ได้ค้นพบการบดตัวด้วงและมด เพื่อให้ได้สีสการ์เล็ตส้มแดงดังใจ แต่กระนั้น ส่วนผสมที่ใช้ทำลิปสติกก็ยังอันตรายต่อผู้ใช้

ความงามต้องตาอาจแลกมาด้วยความเจ็บป่วยและความตาย ดังที่สมัยนั้น เรียกขานกันว่า The Kiss of death หรือจุมพิตมรณะ

ลิปสติกสีแดง อำนาจ และเครื่องมือผ่อนคลายของชีวิตร่วมสมัย

ย่างเข้ารัชสมัยของพระนางอลิซาเบธที่ 1 แห่งสหราชอาณาจักร ได้ค้นพบการผสมขี้ผึ้งเข้ากับสีที่ได้จากพืชพันธุ์ต่างๆ ทั้งยังเป็นจุดก่อกำเนิดความเชื่อที่ว่าการแต่งแต้มริมฝีปากจะปัดเป่าป้องกันภยันตรายและความชั่วร้ายให้พ้นไป

จุดหักเหที่สำคัญมากเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1770 แน่นอนว่ายุคสมัยนั้นเพศชาติเป็นใหญ่ รัฐสภาอังกฤษจึงบริหารอำนาจด้วยการควบคุมการทาลิปสติก โดยออกกฎห้ามมิให้สตรีที่ยังไม่สมรสทาลิปสติกเป็นอันขาด เว้นไว้ให้ใช้ได้เฉพาะโสเภณีเท่านั้น

สังคมอังกฤษในยุคนั้น สับสนถึงขีดสุดเมื่อพบสตรีที่ทาริมฝีปาก เพราะไม่แน่ใจว่า เธอเป็นสตรีสมรสแล้ว หรือเธอเป็นโสเภณีกันแน่

แต่ไม่นานเกินรอนัก ในอีก 10 ปีต่อมา ฝรั่งเศสประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งยังเป็นมหาอำนาจในยุคล่าอาณานิคมไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันได้โต้กลับด้วยการกำหนดค่านิยมการทาลิปสติกสีแดงว่าเป็นคุณลักษณะของของสุภาพสตรีชั้นสูง การเปิดหน้าเปลือยเปล่าต่างหากที่ถือเป็นเรื่องของโสเภณีและชนชั้นแรงงาน

กระทั่งท้ายศตวรรษที่ 18 รัชสมัยพระนางวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ได้ประกาศว่าการแต่งแต้มริมฝีปากเป็นสิ่งที่หยาบคาย ผู้หญิงดีๆ ไม่พึงข้องแวะ ขณะที่ฝั่งฝรั่งเศสนักแสดงและศิลปินต่างทาลิปสติกสีแดงอย่างไม่อนาทรร้อนใจ  ไม่ว่าจะนอกหรือในจอ ในที่รโหฐานหรือออกสมาคม เมื่อผสมโรงกับสหรัฐอเมริกาที่เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจ ได้ริเริ่มผลิตลิปสติกสีแดงจากสีย้อม เลือกใช้พรีเซ็นเตอร์ที่มีชื่อเสียง และโฆษณาเชิงพาณิชย์อย่างครึกโครมไปทั่วโลก

ชัยชนะของลิปสติก

แต่กว่าสตรีเพศเราจะถือครองแท่งลิปสติกไปไหนต่อไหนแต่งเติมได้อิสระทุกเมื่อ ก็ต้องรอจวบจนปี ค.ศ.1923 ที่มีการคิดค้นแท่งลิปสติกขึ้นได้สำเร็จ แบรนด์แฟชั่นโดยเฉพาะ Chanel, Guerlain, Alizabeth Arden จึงได้ผลิตโฆษณา และจำหน่ายลิปสติกชนิดแท่งพกพาอย่างแพร่หลาย

เส้นทางสู่ความงามและอำนาจของสตรีไม่เคยปูลาดด้วยกลีบกุหลาบหากแต่เป็นขวากหนามอันทารุณ ในปี ค.ศ. 1940 สหราชอาณาจักรยังไม่ลดละความพยายาม ถึงขั้นออกโฆษณาชวนเชื่อว่าสตรีที่ทาลิปสติกนั้นจะไม่เป็นที่หมายปองของบุรุษเพศ กุลสตรีที่ดีงามจึงพึงละเว้นเสีย เป็นการบอกกล่าวนัยๆ ว่าการเสริมแต่งความงามบนเรียวปากจะทำให้หาสามีมิได้

ลิปสติกสีแดง อำนาจ และเครื่องมือผ่อนคลายของชีวิตร่วมสมัย

เช่นนี้แล้วจึงเกิดการโต้กลับอย่างหนักหน่วงโดย Maybeline, Revlon และ Cover girl ที่ผลิตโฆษณาและจำหน่ายในราคาที่เข้าถึงสตรีทุกชนชั้น แน่นอนว่า สงครามนี้ ฝ่ายโปรลิปสติกชนะอย่างขาดลอย ด้วยสถิติผู้หญิง 90% ล้วนครอบครองและใช้เป็นเครื่องแต่งหน้าเป็นประจำวัน ลิปสติกสีแดงพุ่งสู่ความนิยมสูงสุดในปี ค.ศ. 1950 โดยมีผู้นำเทรนด์หลักอย่างมาลิรีน มอนโร และอลิซาเบธ เทเลอร์

ลิปสติกสีแดง อำนาจ และเครื่องมือผ่อนคลายของชีวิตร่วมสมัย

กระทั่งปีค.ศ. 1980 มาดอนน่า ได้นำพาลิปสติกสี Russian red color มาเป็นที่นิยมสูงสุดอีกครั้ง ตลอดการแสดงเวิร์ลทัวร์ของเธอ

อำนาจใต้ปากสีแดง

นอกเหนือจากมิติความงาม ในมุมมองทางจิตวิทยาวิเคราะห์นั้นพบว่าบุรุษจะเกิดความต้องตาอย่างแรงกล้าต่อสตรีที่ทาหรือกำลังทาลิปสติกสีแดง พวกเขาจะละสายตาจากเธอไม่ได้ถึง 7.3 วินาที ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มเป้าหมายชายยอมรับว่า สตรีที่ทาลิปสติกสีแดงมีพลังอำนาจอย่างเร้นลับต่อความรู้สึก แต่ในทางตรงกันข้าม สตรีย่อมรู้สึกแปลกๆ หากมองเห็นบุรุษทาปากสีแดงเป็นแน่

ลิปสติกสีแดง อำนาจ และเครื่องมือผ่อนคลายของชีวิตร่วมสมัย

เบื้องลึกความรู้สึกนั้น เกิดจากสัญญะทางจิตของมนุษย์ทั่วทุกเผ่าพันธุ์ ริมฝีปากเป็นสัญลักษณ์ทางจิตที่สื่อสะท้อนถึงอวัยวะเพศหญิง ซึ่งมีพลังอำนาจในการให้ความเพลิดเพลินเชิงเพศรส และยังเป็นอายาตนะให้กำเนิดมนุษย์สืบต่อกันมา บุรุษเพศซึ่งถูกกระตุ้นเร้าด้วยสิ่งที่มองเห็นด้วยตา ลิปสติกสีแดงบนริมฝีปากอวบอิ่ม จึงเป็นอาวุธปลุกเร้าความต้องการทางเพศ

ในสังคมร่วมสมัย พฤติกรรมการจับจ่ายลิปสติกของสตรีสอดคล้องกับความวิตกกังวล ความเครียด หรือความเศร้าหมอง แม้จะมีลิปสติกเพียงพอหรือเกินพอต่อการใช้งาน แต่สุภาพสตรีก็ไม่วายซื้อหาลิปสติกใหม่มาครอบครอง แม้จะลงเอยเพียงวางทิ้งไว้หน้าโต๊ะเครื่องแป้งเสียอย่างนั้น หรือหากจะใช้ก็ไม่ถึงหนึ่งในสามของแท่ง

แต่การจับจ่ายได้มาซึ่งลิปสติก จึงเป็นการสร้างความเพลิดเพลินอย่างฉับพลัน บรรเทาความตึงเครียดกระวนกระวาย และสร้างความรู้สึกของการมีอำนาจท่ามกลางความบีบคั้นกดดันของวิถีชีวิตร่วมสมัย

การดำรงอยู่ของลิปสติกสีแดงในวิถีชีวิต จึงใช่เพียงความนิยมเชิงแฟชั่น หากยังหมายถึง การบริหารอำนาจผ่านความงามของอิตถีเพศ เครื่องช่วยกระตุ้นเร้าการจับคู่สืบพันธุ์ การบรรเทาความกระวนกระวายของชีวิตสมัยใหม่ ทั้งยังสร้างผลลัพธ์ทางบวกในมิติธุรกิจต่อทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างละสายตาได้ไม่ได้เช่นกัน