เต็ดตรา แพ้ค คว้าอีกคะแนนระดับ ดับเบิลเอ รับมือภูมิอากาศโลก-ป้องผืนป่า

เต็ดตรา แพ้ค คว้าอีกคะแนนระดับ ดับเบิลเอ รับมือภูมิอากาศโลก-ป้องผืนป่า

เต็ดตรา แพ้ค คว้าคะแนนระดับ ‘ดับเบิลเอ’ อีกครั้ง ในการดำเนินงานที่เป็นเลิศเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและการปกป้องผืนป่า

เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (29 ธ.ค.2564) เต็ดตรา แพ้ค ได้รับการยกย่องในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืนระดับองค์กรโดย ซีดีพี(1) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่ดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อมระดับโลก ซึ่งยังคงสามารถรักษาคะแนนใน "ระดับเอ" (A-List) ในด้านการดำเนินงานเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปกป้องผืนป่าเป็นไว้ได้เป็นปีที่สามติดต่อกัน

โดยประเด็นดังกล่าวถือเป็นสองในสามประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ซีดีพีทำการติดตาม และยังเป็นเหตุผลให้เต็ดตรา แพ้ค เป็นบริษัทเดียวในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการยกย่องให้อยู่ในระดับผู้นำแถวหน้าของซีดีพีเป็นเวลาหกปีติดต่อกัน
 

เต็ดตรา แพ้ค ถือเป็นหนึ่งในบริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่ได้รับคะแนนระดับ "ดับเบิลเอ" ซึ่งก้าวนำบริษัทอื่น ๆ อีกเกือบ 12,000 แห่ง ผ่านการให้คะแนนตามข้อมูลที่ส่งผ่านแบบสอบถามของซีดีพีในปี 2564

กระบวนการเปิดเผยและให้คะแนนด้าน สิ่งแวดล้อม ประจำปีของซีดีพี ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นมาตรฐานระดับสูงในเรื่องความโปร่งใสด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับองค์กร

ในปี 2564 นักลงทุนกว่า 590 รายที่มีทรัพย์สินมากกว่า 110 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และผู้ซื้อรายใหญ่ 200 รายที่มีค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้าง 5.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขอให้บริษัทต่าง ๆ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยง และโอกาสในการดำเนินงานผ่านแพลตฟอร์มของซีดีพี โดยได้รับการตอบรับจากบริษัทมากกว่า 13,000 แห่ง ซึ่งถือเป็นการทุบสถิติครั้งใหม่ 

ซีดีพี ได้ใช้กระบวนการอิสระและการเจาะลึกรายละเอียดในการประเมินบริษัทต่าง ๆ เพื่อการจัดลำดับคะแนนจาก "เอ" ถึง "ดี" โดยพิจารณาจากความครอบคลุมของการเปิดเผยข้อมูล การสร้างการรับรู้ และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน สิ่งแวดล้อม และการแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติงานที่ดีเยี่ยมที่สื่อถึงความเป็นผู้นำในเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การตั้งเป้าหมายที่ท้าทายและก่อให้เกิดผล ทั้งนี้ บริษัทที่ไม่เปิดเผยข้อมูลหรือให้ข้อมูลไม่เพียงพอจะได้รับคะแนนในระดับ "เอฟ"

การให้คะแนนของซีดีพีในเรื่องป่าไม้พิจารณาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ 4 ประเภทที่เป็นสาเหตุให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ถั่วเหลือง และน้ำมันปาล์ม โดยบริษัทต่าง ๆ จะต้องได้คะแนนระดับเออย่างน้อย หนึ่งประเภทผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่อป่าไม้ดังกล่าว เพื่อให้ติดรายชื่อบริษัทระดับเอในการดำเนินงานด้านป่าไม้ (Forests A-List)

เต็ดตรา แพ้ค คว้าอีกคะแนนระดับ ดับเบิลเอ รับมือภูมิอากาศโลก-ป้องผืนป่า

มร.ลาร์ส ฮอล์มควิสต์ รองประธานบริหารด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร ของ เต็ดตรา แพ้ค กล่าวว่า "เราเชื่อว่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ในอุตสาหกรรมอาหารมีความสำคัญต่อการแข่งขัน และปัจจัยสำคัญในการดำเนินการตามเป้าหมายให้ลุล่วง คือการทำงานที่มีความโปร่งใส เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้นำที่ถูกจัดอันดับโดยซีดีพีเป็นครั้งที่หก เพราะเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า เราได้ดำเนินการไปในทิศทางที่ถูกต้องในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดความเสี่ยงจากการตัดไม้ทำลายป่า"

"ปีที่แล้วเราให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ในการดำเนินงานของเราเองภายในปี 2573 โดยมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดเป็นศูนย์ภายในปี 2593 เป้าหมายใหม่ที่เราได้รับการอนุมัติจาก SBTi (The Science-Based Target initiative) ในขอบเขต 1, 2 และ 3[1] ทั้งหมดหมายถึง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 46% ทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่าภายในปี 2573 ซึ่งสอดคล้องกับการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส นี่คือสิ่งที่ภูมิอากาศวิทยาล่าสุดชี้ว่ามีความจำเป็นเพื่อป้องกันผลกระทบที่เป็นอันตรายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจึงมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่"

คะแนนระดับ "ดับเบิลเอ" เน้นย้ำถึงความตั้งใจอย่างยาวนานของ เต็ดตรา แพ้ค ในการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น บริษัทมีความโดดเด่นในเป้าหมายด้านสภาพอากาศในปี 2563 โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่คุณค่าลง 19% เมื่อเทียบกับค่าเริ่มต้นในปี 2553 และแสดงให้เห็นชัดว่า บริษัทสามารถเติบโตไปได้พร้อม ๆ กันกับการลดผลกระทบต่อสภาพอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการดำเนินการที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนี้ เต็ดตรา แพ้ค ได้ลดการสร้างมลภาวะในการดำเนินงาน (ขอบเขตที่ 1 และ 2) ลง 70% ตั้งแต่ปี 2553 นอกจากนี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซีดีพีได้ชี้ว่า เต็ดตรา แพ้ค เป็นหนึ่งในสี่ "ผู้บุกเบิก" ที่ดำเนินการโดยใช้ "แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด" ในการปกป้องผืนป่า...

*  *  *  *  *  * 

หมายเหตุ : (1) ซีดีพี หรือ Carbon Disclosure Project คือองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่จัดทำระบบเปิดเผยข้อมูลทั่วโลกสำหรับนักลงทุน บริษัท เมือง รัฐ และภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อให้สามารถจัดการกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซีดีพีในแง่มุมของเศรษฐกิจโลกถือเป็นมาตรฐานระดับสูงในการรายงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีชุดข้อมูลที่ครอบคลุมและกว้างขวางที่สุดเกี่ยวกับการดำเนินการขององค์กรและเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก