หนึ่งเดียวในโลก ผ้าลายอย่างลวดลายสถาปัตยกรรม เปิดคอลเล็กชั่นแรกด้วยศิลปกรรมสุโขทัย

หนึ่งเดียวในโลก ผ้าลายอย่างลวดลายสถาปัตยกรรม เปิดคอลเล็กชั่นแรกด้วยศิลปกรรมสุโขทัย

การเปิดตัวผ้าลายอย่างคอลเล็กชั่นแรกในโลกที่ใช้ลวดลายจากสถาปัตยกรรมมาเป็นลายผ้า ภายใต้แบรนด์สุโขทยพัตสร์

นายณัฐพงศ์ บุญคำ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.4 กล่าวว่า“นอกจากสุโขทัยจะมีผ้าซิ่นตีนจกไทพวน ผ้าทอไทครั่ง จากนี้ไปจะมีผ้าลายอย่างที่มีลวดลายจากสถาปัตยกรรมโบราณสถาน ซึ่งเป็นศิลปกรรมเฉพาะของสุโขทัย ดังนั้น ผ้าลายอย่างคอลเล็กชั่นแรกจึงเกิดขึ้นจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และประชาชน ราคาผ้าลายอย่างที่จัดจำหน่ายนี้ ราคาผืนละ 4,500 บาท ย่อมเยากว่าราคาผ้าลายอย่างที่อื่นๆ การรับสั่งจองผ้าจะดำเนินการโดยชมรมเครือข่าย อพท.4 องค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มและชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนในจังหวัดสุโขทัย โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะจัดสรรไปเพื่อสาธารณกุศล ทั้งโรงพยาบาล ผู้พิการ เด็กพิเศษ และคนชรา ทั้งนี้ ผู้สั่งจองผ้าจะได้รับผ้าในเดือนสิงหาคม 2562 พร้อมสูจิบัตรบอกเล่าเรื่องราวของผ้าที่เกี่ยวกับสุโขทัย”

นายสิรวีย์ เอี่ยมสุดใจ มัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลก หนึ่งในผู้รักผ้าสุโขทัย เปิดเผยว่า “ผ้าลายอย่างคือ ผ้าพิมพ์ที่มีลวดลายละเอียดเกือบเต็มผืน เป็นผ้าที่ราชสำนักในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้นออกแบบแล้วส่งไปพิมพ์ที่อินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสิ่งทอคุณภาพเยี่ยมในสมัยนั้น ขณะนี้กำลังเรียบเรียงหนังสือสำหรับจัดพิมพ์ไว้เผยแพร่เพื่อบอกเล่าถึงการศึกษาเรื่องผ้าในสมัยสุโขทัย ซึ่งจะต้องอาศัยการอนุมานจากหลักฐานต่างๆ เช่น การพบแวปั่นฝ้ายในบริเวณแหล่งโบราณคดีหลายแห่ง ทำให้มั่นใจได้ว่าคนในพื้นที่นี้รู้จักการปั่นฝ้ายและทอผ้าฝ้ายมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประติมากรรมสำริดรูปเทพเทวดาและจิตรกรรมในอุโมงค์วัดศรีชุม ซึ่งมีลวดลายดอกไม้และลวดลายเรขาคณิตประดับที่ขอบหรือปลายผ้า ตุ๊กตาสังคโลกที่มีลายผ้านุ่งเป็นริ้วคล้ายผ้าเข้มขาบของแขก หรือผ้าสมปักริ้วของเขมร และผ้านุ่งมีลายดอกไม้ที่ชวนให้นึกถึงผ้าทอหรือผ้าพิมพ์ลาย ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ดินแดนที่เป็นรัฐสุโขทัยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยา ความนิยมและรูปแบบของผ้าตามรสนิยมกรุงศรีอยุธยา จึงควรจะส่งมาถึงดินแดนแถบนี้ และที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ก็มีการพบผ้าลายอย่างเป็นผ้าห่อคัมภีร์โบราณ ที่หอไตรกลางน้ำ วัดคูยาง กำแพงเพชร”

ในงานเสวนา สุโขทยพัสตร์ : การสร้างสรรค์อัตลักษณ์สุโขทัยบนผืนผ้าลายอย่าง ซึ่งได้เปิดตัวผ้าลายอย่างคอลเล็กชั่นแรกแห่งหน้าประวัติศาสตร์ไทย มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านผ้าให้ทัศนะไว้หลายท่าน

หม่อมราชวงศ์ปิยฉัตร ฉัตรชัย กล่าวว่า “การเริ่มต้นเป็นสิ่งที่สำคัญต่อทุกสิ่งทุกอย่าง นึกถึงประเทศฟินแลนด์ หน้าร้อนที่สุดอยู่ที่ 10 องศาเซลเซียส สีเสื้อผ้าที่ใช้คือสีทึมเทาสอดคล้องไปกับสภาพภูมิอากาศ มารีเมกโกะ (Marimekko) จึงได้ออกแบบผ้าพิมพ์โทนสีแดงออกมาเพราะพยายามจะแหวกขนบ ไม่ตามเทรนด์ ไม่ได้ขายแฟชั่น แต่ขายวิถีชีวิตให้คนได้มีส่วนร่วมกับธรรมชาติที่เขาชื่นชอบ ปรากฏการณ์ที่สำคัญคือ ในวันเดินแฟชั่นโชว์มีการจองผ้าจนหมดก่อนที่นางแบบจะเดินถึงชุดฟินาเล่ ดังนั้น เราควรจะคิดในแง่การตลาดต่อไป เพื่อให้แบรนด์สุโขทยพัสตร์นี้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น”

 นายมานพ ยังประเสริฐ ผู้สะสมย่ามและอนุรักษ์ผ้าซิ่น เจ้าของบ้านมะขวิด สุโขทัย กล่าวว่า “โครงการนี้ เป็นความตั้งใจในกลุ่มเพื่อนคนรักผ้าที่จะสร้างสรรค์ลายผ้าอัตลักษณ์ขึ้นมาให้กับสุโขทัย ความพิเศษของผ้ารุ่นนี้เป็น Limited Edition ซึ่งจะผลิตเพียง 300 ผืน นัมเบอร์ 00 - 299 เมื่อสำเร็จเสร็จสิ้นแล้วจะทุบแบบทิ้งทั้งหมด แล้วจะไม่ผลิตรุ่นนี้อีก โดยผ้าผืนแรกจะจัดถวายให้กับองค์พระแม่ย่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสุโขทัย กระบวนการทำงานทั้งหมดต้องขอขอบคุณ อพท.4 ที่เห็นความสำคัญและได้มีบทบาททำให้งานนี้สำเร็จ รวมถึงงานกาล่าผ้าลายอย่างที่จะจัดขึ้นในวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งจะมีเหล่าบรรดาเซียนผ้าในประเทศไทยเข้าร่วมงานนี้ด้วยจำนวนมาก เราตั้งใจที่จะจัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงงานหนักด้านผ้าไทยมาโดยตลอด”

อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล  กล่าวว่า “กระผมโชดีมากที่ได้รับโอกาสจากผู้หลักผู้ใหญ่และหน่วยงานให้มาออกแบบลายผ้าจังหวัดสุโขทัย ซึ่งลายผ้าผืนนี้มีความพิเศษ ซึ่งเหนือจินตนาการที่จะคาดคิดได้ เพราะลายผ้าส่วนมากเราจะเริ่มจากเอางานจิตรกรรมมาทำ แต่งานผ้าผืนนี้เป็นงานสถาปัตยกรรม ซึ่งยังไม่เคยมีใครทำในโลก ถือว่าเป็นผ้าผืนแรกของโลกก็ว่าได้ และเป็นผ้าผืนแรกของจังหวัดสุโขทัย และของประเทศเราที่มีการนำกลิ่นอายงานสถาปัตยกรรมสุโขทัยสมัยแรกเริ่มที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดมาแปลงเป็นผืนผ้าได้  โทนสีคลาสสิคของผืนผ้าเลือกใช้สีจากวัตถุโบราณเป็นสีดินและสีปูนขาว เพิ่มสีแดงหมากเพื่อให้ลวดลายเด่นชัด สำหรับผู้หญิงจะใช้โทนสีขาวสว่าง และสำหรับผู้ชายเป็นสีโทนเข้มขึ้น ออกแบบไว้ทั้ง 2 ลาย 3 แบบ และจะผลิตแบบละ 100 ผืน

ลายที่ 1 ประกอบด้วย ลายหลัก คือ ลายดอกโบตั๋นหรือดอกพุดตานจากภาพสลักหินชนวน วัดศรีชุม ซึ่งสามารถชมภาพจำลองได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง สุโขทัย ดอกพุดตานนั้นเปรียบเสมือนเป็นดอกไม้ทิพย์ร่วงหล่นลงมาจากท้องฟ้า ลายด้านข้างคือ ลายปูนปั้นวัดนางพญา ซึ่งลวดลายของพรรณพฤกษาสุโขทัยนั้นจะเข้มแข็งบาดคม ไม่พริ้วหวานเหมือนอยุธยา แต่เป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัย และลายดอกบัวตูมหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งเป็นทรงเจดีย์ที่เป็นเอกลักษณ์ของอาณาจักรสุโขทัย

ลายที่ 2 ประกอบด้วย ลายปูนปั้นวัดนางพญา และลายดอกบัวตูมหรือพุ่มข้าวบิณฑ์เช่นกัน แต่ลายหลักคือ ลายปลา เพราะสุโขทัยเป็นเมืองสมบูรณ์ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว จึงออกแบบลายผ้าให้แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์สมกับเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ จึงมีลายรวงข้าวมาผูกเป็นก้านแยก  และใช้ดอกพุดตานจากวัดศรีชุมมาเชื่อมอดีตถึงปัจจุบัน บ่งบอกถึงความเบ่งบาน การเกิด และความเจริญอย่างเต็มที่ ลายลูกคลื่นหมายถึงน้ำที่ชุ่มฉ่ำและมีปลาตะเพียนแหวกว่าย ลายนี้ออกแบบให้จับหน้านางได้ถึง 3 สี แล้วแต่ผู้สวมใส่”

นายณัฐพงศ์ บุญคำ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ อพท.4 กล่าวทิ้งท้ายว่า “แม้ว่าผ้าคอลเลคชั่นนี้จะเป็นการสั่งจองล่วงหน้า นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวจังหวัดสุโขทัยอาจจะไม่มีโอกาสได้สั่งจอง แต่การที่ อพท.4 สนับสนุนโครงการนี้ เพราะการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือ การถ่ายทอดและปลูกฝังให้นักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นได้เห็นคุณค่าในมรดกวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สำคัญ การถ่ายทอดคงมิใช่การพูดบอกกันตรงๆ อีกต่อไปแล้ว เราอาจจะสร้างมันขึ้นมาผ่านสิ่งต่างๆ มากมาย เช่น ลายผ้าที่คนสวมใส่ เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์เข้ากับแหล่งท่องเที่ยวอย่างแยบคายก็ได้”

ขณะนี้ ผ้าลายอย่างที่เปิดให้สั่งจองเหลือเพียงสิบกว่าผืนเท่านั้น ในอนาคตอาจจะมีคอลเล็กชั่นหน้าเป็นผ้าลายอย่างที่ออกแบบจากลวดลายสังคโลก เครื่องปั้นดินเผาที่พบเฉพาะในจังหวัดสุโขทัย เพื่อนำเรื่องราวแห่งทุนทางวัฒนธรรม มรดกที่เราได้รับจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมโบราณสถาน หรืองานหัตถกรรม มรดกทางวัฒนธรรมของชาวไทย มาเชื่อมกับไลฟ์สไตล์ใหม่ของคนยุคปัจจุบัน ที่สามารถประยุกต์การนุ่งผ้าลายไทยเข้ากับเสื้อยืดหรือเสื้อเชิ้ตได้เท่และนำเทรนด์กันแล้ว