ปอร์เช่ ไม่สนโควิด ทำสถิติยอดขายใหม่ โตเกือบ 2 เท่าตัว

ปอร์เช่ ไม่สนโควิด ทำสถิติยอดขายใหม่ โตเกือบ 2 เท่าตัว

ปอร์เช่  ฝ่าวิกฤติ โควิด ชิ้นส่วนขาดแคลน โลจิสติกส์มีปัญหา ค่าเงินบาทอ่อน สร้างสถิติยอดขายใหม่ในประเทศ และสูงสุดในอาเซียน

ธนบดี กุลทล ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท เอเอเอส ออโตเซอร์วิส จำกัด ผู้จำหน่ายรถยนต์ปอร์เช่ (Porsche) อย่างเป็นทางการ เปิดเผยว่าแม้ปีนี้ตลาดรถยนต์จะมีปัญหาเกิดขึ้นหลายอย่าง

ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ธุรกิจ และการใช้ชีวิตของผู้บริโภค รวมถีงปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบทั่วโลก ภาคการขนส่งหรือโลจิสติกส์ มีปัญหา ทั้งการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว

นอกจากนี้ยังมีปัญหากาสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้ารถยนต์ที่สูงขึ้น 

อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถฝ่าวิกฤติต่างๆ มาได้ และมีผลประกอบการที่น่าพอใจ โดยช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ที่ผ่านมา สามารถส่งมอบรถให้ลูกค้าได้แล้ว 1,200 คัน

ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ของ ปอร์เช่ ประเทศไทย และมียอดขายสูงที่สุดในอาเซียนอีกด้วย และคาดว่าปีนี้ทั้งปีจะทำได้ 1,300 คัน 

ทั้งนี้ปี 2563 ที่ผ่านมา ปอร์เช่มียอดขาย 670 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเช่นกัน

การเติบโตของปอร์เช่ มาจากความนิยมของรถหลายๆ รุ่น โดยเฉพาะ คาเยนน์ ที่ีีสัดส่วนการขายประมาณ 55% เนื่องจากทำราคาได้ดึงดูดใจจากการเป็นรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่ได้รับการส่งเสริมภาษีจากภาครัฐ

ขณะที่รถพลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี ไทคานน์ ก็ได้รับการตอบรับเหนือความคาดหมายมีสัดส่วนการขาย 25% และส่งมอบรถได้แล้วประมาณ 300 คัน ส่วนพานาเมร่า มีสัดส่วนการขาย 10% ที่เหลือเป็นรุ่นอื่นๆ 

ธนบดี กล่าวว่า สำหรับการรับมือกับวิกฤติหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น มาจากทั้งการดำเนินการโดยบริษัทแม่ ปอร์เช่ เอจี เยอรมนี และบริษัทเอง เช่น การขาดแคลนชิ้นส่วน โดยเฉพาะชิพคอมพิวเตอร์บริษัทแม่ก็พยายามจัดสรรและบริหารจัดการ

เช่น กุญแจรถที่ต้องส่งมอบให้ลูกค้า 2 ชุด บางรุ่นบางช่วงก็ทำความเข้าใจกับลูกค้าโดยส่งให้ชุดเดียวก่อน และจะส่งตามไปที่หลัง ทำให้สามารถส่งมอบรถได้มากขึ้น

ส่วนปัญหาโลจิสติกส์ที่ขาดตู้คอนเทนเนอร์และต้นทุนเพิ่ม บริษัทปรับจากขนส่งแบบใส่ตู้มาเป็นขนส่งขึ้นเรือโดยตรง ทำให้ได้ปริมาณมากขึ้น ส่งมอบรถให้กับลูกค้าได้เร็วขึ้น และมีต้นทุนที่ลดลง

“ต้นทุนที่ลดลง ก็เป็นจังหวะที่ดีกับการที่เงินบาทอ่อนตัว ทำให้ต้นทุนนำเข้าเพิ่มขึ้น เพราะช่วงต้นปีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 35 บาท/ยูโร ตอนนี้อยู่ที่ 39  บาท ทำให้เราสามารถที่จะประคับประคองต้นทุนอยู่ได้ แต่อย่างไรก็ตามบางรุ่นก็จำเป็นจะต้องปรับขึ้นเช่น คาเยนน์ คูเป้ จาก 6.5 ล้านบาท เป็น 6.6 ล้านบาท”