เงินเฟ้อ ม.ค. ติดลบ สัญญาณเศรษฐกิจเปราะบาง

เงินเฟ้อ ม.ค. ติดลบ สัญญาณเศรษฐกิจเปราะบาง

สิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ ไม่ใช่เงินฝืด แต่ห่วง Disinflation คือการชะลอตัวของเงินเฟ้อต่อเนื่อง ที่มาจากการนำเข้าสินค้าราคาถูก โดยเฉพาะจากจีน

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังแขวนอยู่บนเส้นด้าย ด้วยปัจจัยท้าทายที่ยังถาโถมทั้งปัจจัยภายในประเทศ และต่างประเทศ

ล่าสุด เงินเฟ้อไทยเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา “ติดลบ” นักเศรษฐศาสตร์ไทยประเมินว่า เงินเฟ้อที่ออกมาติดลบต่อเนื่องขนาดนี้ ยังไม่นำไปสู่ ‘เงินฝืด’ เนื่องจากมองว่า เงินเฟ้อที่ติดลบจะเป็นเพียงช่วงสั้น 

แต่ระยะข้างหน้า เงินเฟ้อมีโอกาส ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัว ตามภาพรวมเศรษฐกิจที่อาจปรับตัวดีขึ้นในระยะข้างหน้า

ภาวะเงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปในประเทศสูงขึ้นต่อเนื่อง เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ 

1.ความต้องการซื้อสินค้าและบริการของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สินค้าและบริการนั้นอาจมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้น

2.ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เช่น วัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้ามีราคาสูงขึ้น ผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ จึงต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นตาม

ส่วนเงินฝืด คือ การลดลงของระดับราคาทั่วไปของสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจในช่วงเวลาหนึ่งตรงข้ามกับเงินเฟ้อ เงินฝืดจะเกิดขึ้นเมื่ออัตราเงินเฟ้อหรือดัชนีราคาผู้บริโภคติดลบ หมายความว่าระดับราคาทั่วไปถูกลงหรือเงินในมือของเรามีมูลค่าเพิ่มขึ้นในช่วงเวลานั้น

ภาวะเงินฝืดส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจเนื่องจากทำให้ความต้องการสินค้าและบริการลดลง ผู้ผลิตจึงต้องลดราคาสินค้าเพื่อจูงใจผู้บริโภค หมายถึงรายได้ของผู้ผลิตก็มีแนวโน้มลดลง จนนำไปสู่การลดลงของการผลิตและการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ส่วนสถานการณ์เงินเฟ้อที่ติดลบมาอย่างต่อเนื่อง นักเศรษฐศาสตร์ ประเมินว่ามาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ การเข้าไปดูแลค่าครองชีพของภาครัฐผ่านการเข้าไปอุ้มราคาพลังงานต่างๆ ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวลดลง

ขณะที่ยังมาจากอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอลง การใช้จ่ายความต้องการสินค้าเริ่มแผ่วตัวจากทั้งภาคเกษตร และประชาชนระดับล่าง ที่ฐานะอ่อนแอลง ซึ่งแน่นอนว่าสะท้อนให้เห็นภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนส่อเค้าวิกฤติ 

การประเมินของนักเศรษฐศาสตร์ไทยยังมองว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ ไม่ใช่เงินฝืด แต่ห่วง Disinflation คือการชะลอตัวของเงินเฟ้อต่อเนื่อง ที่มาจากการนำเข้าสินค้าราคาถูก โดยเฉพาะจากจีน ที่อาจกระทบต่อความสามารถการแข่งขันของเอสเอ็มอีในประเทศให้ลดลง เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะการชะลอตัวหรือการติดลบของเงินเฟ้อ ที่มาจากการนำเข้ามากๆ อาจนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจในระยะต่อไป เป็นความรับผิดชอบของทีมเศรษฐกิจ

รัฐบาลเศรษฐา ต้องเร่งหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน โดยอาจไม่จำเป็นต้องรอความหวังที่ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ อย่างเดียว..