เปิดแผน ‘ยานยนต์แห่งอนาคต’ หนุนไทยศูนย์กลางการผลิต

เปิดแผน ‘ยานยนต์แห่งอนาคต’ หนุนไทยศูนย์กลางการผลิต

การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงการปรับตัวไปสู่การผลิตรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle) รวมถึงไทยที่ต้องการรักษาการเป็นฐานผลิตรถยนต์ของโลกจึงต้องเร่งปรับตัวเช่นกัน

Key Points

  • อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์สมัยใหม่
  • ไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของภูมิภาค
  • สถาบันยานยนต์ เตรียมลงทุนปีนี้ 1,667 ล้านบาท เพื่อยกระดับสนามทดสอบ
  • เตรียมพัฒนาศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ครบวงจรที่สุดในอาเซียน

โดยสถาบันยานยนต์ (สยย.) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เปิดเผยวิสัยทัศน์ทิศทางการดำเนินงานในอนาคตด้วย 3 ยุทธศาสตร์ใหม่ เร่งสร้างนวัตกรรม เติบโตอย่างยั่งยืน และมีมาตรฐานน่าเชื่อถือ

นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายต่อจากนี้ของ สยย. จะอยู่ภายใต้แนวคิด “Reshape the future พลิกโฉมสู่ยานยนต์แห่งอนาคต” โดยมีแนวทางการปฏิรูปหน่วยงานและปรับแนวทางการปฏิบัติงานในอนาคตตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม (Mind) คือ ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีให้พร้อมรับโอกาสใหม่ๆ ที่จะเข้ามา รวมถึงการดูแลผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน

“ไทยมีการออกมาตรการและนโบายสนับสนุนการใช้และผลิต ZEV หรือรถที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ในประเทศอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมทั้งเทคโนโลยีอื่นๆ อาทิ Fuel Cell และไฮโดรเจน โดยหนึ่งในนโยบายสำคัญคือนโยบาย 30@30 ตั้งเป้าการผลิตรถ ZEV ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ”

ทั้งนี้ ในปี 2023 มีการประมาณการตัวเลขการผลิตรถยนต์ในประเทศอยูที่ 1,950,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 3.53% โดยแบ่งเป็น การผลิตเพื่อส่งออก 1,050,000 คัน และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 900,000 คัน 

โดยประเมินว่าตั้งแต่ปี 2023-2030 การผลิตรถยนต์ในไทยจะมีอัตราการเติบโต 3.5% ต่อปี และคาดการณ์ว่าภายใน 2030 ประเทศไทยการผลิตรถยนต์ที่ 2.4 ล้านคัน แบ่งเป็นรถ ZEV จำนวน 725,000 คัน

จากนโยบายดังกล่าว สยย.จำเป็นต้องเกิดการ Reshape ปฏิรูปงานบริการพร้อมปรับเปลี่ยนรูปแบบโมเดลธุรกิจเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เป็นไปตามเป้าหมาย 

รวมทั้งปัจจุบัน สยย.มีการให้บริการหลัก ประกอบด้วย บริการทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ตามมาตรฐาน บริการตรวจการทำผลิตภัณฑ์ (IB) และ Free Zone เขตปลอดอากร บริการฝึกอบรม รวมถึงบริการข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ โดยจะยกระดับการบริการเน้นการวิจับและพัฒนานวัตกรรมใหม่ รวมทั้งการทำงานร่วมกับสตาร์ตอัพ หน่วยงานวิจัยและภาคเอกชนเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของ สยย. ตั้งแต่ปี 2023-2030 จะเน้นยุทธศาสตร์ “3 Ribbon Strategies” หรือยุทธศาสตร์โบว์ 3 สี ฟ้า เขียว ขาว ประกอบด้วย

1.BLUE OCEAN การสร้างนวัตกรรม ปรับปรุงรูปแบบการให้บริการและเพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจใหม่ โดยพัฒนาให้ สยย. เป็นผู้ให้บริการด้านเทคนิค (Technical Service) ทั้งในประเทศและต่างประเทศครบวงจร อาทิ มาตรฐานบังคับ (มอก.) มาตรฐานกรมขนส่ง ASEAN MRA และมาตรฐานตามข้อตกลง 1958 Agreement ของสมาชิก 48 ประเทศ โดยเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมร่วมกับสตาร์ตอัพ หน่วยงานวิจัย และเอกชน เพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่

รวมทั้งยกระดับการทดสอบของ สยย. ให้ผลการทดสอบเป็นที่ยอมรับในสากล เพิ่มศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการส่งออกยานยนต์ไทยตามนโยบายการเป็นฐานการผลิตรถยนต์แห่งอนาคต

2.GREEN GROWTH การสร้างความยั่งยืน โดยการเตรียมพร้อมห้องปฏิบัติการทดสอบการปล่อยสารมลพิษจากเครื่องยนต์ตามมาตรฐานยูโร 5 และ 6 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2024 เพื่อลดปัญหาการปล่อยมลพิษทางอากาศฝุ่น PM รวมถึงการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า โดยศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ครบวงจรที่สุดในอาเซียน ตามมาตรฐานUNECE R100 สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและ UNECE R136 สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 

รวมทั้งมีการจัดทำโปรโมชั่นสนับสนุนผู้ประกอบการที่มาใช้บริการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า จะได้รับคืนเงินค่าบริการทดสอบ 10% เมื่อมาทดสอบกับ สยย.และผ่านมาตรฐานมอก.3026-2563 หรือ มอก.2952-2536 ภายในเดือน มี.ค.-ธ.ค.2566

3.WHITE SPIRIT การสร้างความน่าเชื่อถือ มีประสิทธิภาพ และธรรมาภิบาล การปรับเปลี่ยนวิถีการบริหาร การจัดการควบคุมดูแลกิจกรรมต่างๆ ของ สยย. ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยปรับกระบวนการทำงานมุ่งสู่ความเป็นเลิศในด้านการปฎิบัติการ การบริหารจัดการองค์กรด้วยแนวคิด Smart Strong และ Slim

นอกจากนี้ Flagships ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการสนับสนุนยานยนต์สมัยใหม่ประกอบด้วย ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) และศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่สามารถทดสอบได้ตามมาตรฐานครบวงจร ซึ่งเปิดให้บริการทดสอบตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 2019 เป็นต้นมา มีผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการสนามทดสอบยางล้อแล้วจำนวน 136 ราย และได้รับใบอนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกลุ่มผลิตภัณฑ์ยานยนต์และยางล้อไปแล้วรวมทั้งสิ้น 985 ฉบับ

โดยในเดือน เม.ย.2023 จะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 2 สนาม ได้แก่ สนามทดสอบระบบเบรก และสนามทดสอบระบบเบรกมือ ส่วนสนามทดสอบพลวัต (Dynamic Platform Track) และสนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง (Skid Pad Track) พร้อมเปิดให้บริการทดสอบได้ในกลางปี 2024

สำหรับงบประมาณที่ได้รับอนุมัติมาในปี 2023 อีก 1,667 ล้านบาทนั้น จะใช้สำหรับการก่อสร้างสนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ สถานีสำหรับเตรียมสภาพรถ ทางวิ่ง LAB ทดสอบการชน รวมทั้งจัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง ชุดเครื่องมือทดสอบอุปกรณ์เลี้ยวสำหรับยานยนต์ และชุดเครื่องมือทดสอบการป้องกันผู้โดยสารเมื่อเกิดการชนด้านหน้าและด้านข้าง โดยคาดว่าศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติจะเปิดให้บริการทดสอบเต็มรูปแบบได้ภายในปี 2026