"สุพัฒนพงษ์" โชว์นโยบาย EV ดันยอดขาย 9 เดือน 1.3 หมื่นคัน

"สุพัฒนพงษ์" โชว์นโยบาย EV ดันยอดขาย 9 เดือน 1.3 หมื่นคัน

"สุพัฒนพงษ์" โชว์ความสำเร็จมาตรการอีวี 3 อุดหนุนผู้ซื้อ กระตุ้นดีมานต์รถยนต์นั่งประเภทแบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) ในไทย เผยยอดขาย 9 เดือนแรกทะลุ 13,000 คัน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนาประจำปี Delta Future Industry Summit 2022 ในหัวข้อ "Smart Green Energy for a Resilient and Sustainable Thailand" ว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นวาระหลักของโลกที่ต้องการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการร่วมขับเคลื่อนนโยบายและสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อควบคุมให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งภาคพลังงานถือเป็นภาคส่วนหลักที่มีการรปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสัดส่วนกว่า 70% 

กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนพลังงานแห่งชาติปี 2565 ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามเป้าหมายที่ไทยได้ประกาศไว้ว่าจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือกระจกเป็นศูนย์ในปี 2065 พร้อมกับรักษาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ โดยมีแผนดังนี้

1. การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 50% ภายในปี 2043 โดยการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ พลังงานลม ไบโอแก๊สและไบโอแมส ควบคู่กับดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) 

2. ส่งเสริมนโยบาย 30@30 ให้มีการผลิตรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ 30% ของการผลิตทั้งหมดภายในปี 2030 รวมทั้งอีโคซิสเต็มของรถอีวี ด้านสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า ให้มีการติดตั้ง 12,000 สถานีทั่วประเทศ และโรงงานผลิตแบตเตอรี่ 40 เมกะวัตต์ 

โดยในปีนี้ไทยได้มีการประกาศมาตรการอีวี 3 อุดหนุนผู้ซื้อรถยนต์นั่งไฟฟ้า (อีวี) เพื่อเร่งให้เกิดดีมานด์การใช้รถอีวีประเภทแบตเตอรี่ไฟฟ้าภายในประเทศ  ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลให้ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.65) มียอดจดทะเบียนใหม่ยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) อยู่ที่ 13,298 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 223% ซึ่งสะท้อนให้เห็นผลตอบรับจากการใช้นโยบายของภาครัฐรวมถึงศักยภาพความพร้อมของตลาดในประเทศซึ่งถือเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สร้างความเชื่อมมั่นให้กับนักลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

สำหรับยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV สะสมณ วันที่ 30 ก.ย.2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 24,570 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 155% นอกจากนี้ ยอดขายรถอีวียังมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถโดยสารและรถบรรทุก ภาพรวมทั้งประเทศมีสัดส่วนรถอีวี 11.9% ต่อยอดขายรถยนต์ทั้งหมด

3. การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ได้ 40% ภายในปี 2050 โดยการใช้เทคโนโลยีการบริหารจัดการพลังงาน 

4. การพัฒนาระบบดิจิทัลด้านไฟฟ้า หรือ สมาร์ทกริด เพื่อการเตรียมพร้อมรับความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งานพลังงานไฟฟ้าจากเดิมและเพิ่มตลาดใหม่ 

"ประเทศไทยมีศักยภาพในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการบรรลุเป้าหมายเน็ตซีโร่ โดยแนวทางการพัฒนาอย่างสมาร์ตและกรีน จะเป็นสองคอนเซ็ปต์หลักในการพัฒนาประเทศไทยให้มีความยืดหยุ่นและเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยให้พร้อมรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรม New S-Cuvre อาทิ อีวี แบตเตอรี่ สมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล"