"อรุณ พลัส"ถอดรหัสตลาดอีวี ปูทางแผนวางนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า

"อรุณ พลัส"ถอดรหัสตลาดอีวี ปูทางแผนวางนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า

ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นเรื่องท้าทายของประเทศไทย และจากการที่ กลุ่ม ปตท. ดำเนินธุรกิจที่สำคัญในหลายด้านเพื่อตอบโจทย์ในการสร้างอีโคซิสเต็มอีวีประเทศ ยังมีนิเวศที่หายไป “อรุณ พลัส” จะเข้ามาเติมจิ๊กซอว์ให้ครบทั้งระบบ และสิ่งสำคัญภาคอุตสาหกรรมต้องอยู่ด้วยกันได้

เอกชัย ยิ้มสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) กล่าวว่า เมื่อมองในเรื่องของการสร้างอีโคซิสเต็ม อีวีระบบนิเวศที่ยังขาดหายไป อรุณ พลัส ที่จะตอบโจทย์ในส่วนที่ขาดหายไป โดยเฉพาะ การสร้างระบบนิเวศเรื่องของอีวีที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทย

“วันนี้รถอีวี ที่หน้าตาเหมือนกัน ขนาดเท่ากันกับรถสันดาป รถอีวีจะยังคงมีราคาสูงกว่าราว 10-15% ถือเป็นโจทย์ของผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่ต้องดูว่าราคาที่สูงกว่าตรงนี้จะบิดด้วยอะไร เช่น เทคโนโลยี เพราะด้วยการรอดีมานด์ที่จะทำให้เกิดการแข่งขันนั้น ท้ายที่สุดจะเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคว่าจะเลือกอีวีที่เหมาะกับตัวเองอย่างไร ซึ่งข้อดีของรถอีวี คือเทคโนโลยีที่สามารถออกแบบให้เหมาะกับการใช้งาน”

"อรุณ พลัส"ถอดรหัสตลาดอีวี ปูทางแผนวางนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า เอกชัย กล่าวว่า ผู้ประกอบการจะต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า เมื่อเปลี่ยนมาใช้รถอีวีแล้ว การใช้ชีวิตเปลี่ยนไปหรือไม่ ถือเป็นโจทย์ที่ต้องหาคำตอบ เพราะจากเดิมเมื่อรถน้ำมันหมดก็แค่เข้าไปเติมที่สถานีบริการน้ำมัน แต่ขณะนี้ หากเป็นรถอีวีจะต้องวางแผนในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น เช่น การชาร์จแบตเตอรี่ว่าจะชาร์จที่ไหน เช่น ชาร์จที่บ้าน จะชาร์จกี่เปอร์เซ็นต์ จำนวนระยะทางที่ต้องวิ่งในแต่ละวันจะวิ่งกี่กิโลเมตร เป็นต้น

“การเปลี่ยนมาใช้รถอีวีนั้น หากถามว่าเปลี่ยนไปในทางที่ดีหรือไม่ ยืนยันว่า "เปลี่ยนไปในทางที่ดี" แน่นอน ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่ถูกกว่ามาก การขับเคลื่อนที่ดี เป็นพลังงานสะอาด การโปรโมทเรื่องของรถอีวีมีข้อดีเยอะ ถ้าถามว่ารถอีวีจะมาหรือไม่ ยืนยันว่ามาแน่แต่มาช้ามาเร็วก็อีกเรื่องหนึ่ง”

สำหรับจำนวนรถที่สะสมที่วิ่งอยู่บนท้องถนนทั่วโลกปัจจุบันมีประมาณ 1,200-1,300 ล้านคัน แบ่งเป็นรถอีวี 11 ล้านคัน ดังนั้น จากตัวเลขดังกล่าวถือว่าจำนวนการใช้รถอีวียังน้อยมากไม่ถึง 1% ส่วนรถที่ผลิตทุก ๆ ปี จากข้อมูลปีที่ผ่านมา มีการผลิตทั้งโลกที่ 75 ล้านคัน เป็นรถอีวีที่เป็นแบตอตอรี่ 100% และเติมน้ำมันไม่ได้จำนวน 4.6 ล้านคัน คิดเป็น 5-6 % ถือว่าช่องว่างยังน้อย อัตราการเติบโตหากมองในผู้ประกอบการยังเป็นโอกาสทางธุรกิจ เพราะยังเหลือพื้นที่อีกมหาศาล

อย่างไรก็ตาม ด้วยเทรนด์ทั้งโลกที่ต้องปรับเข้าสู่พลังงานสะอาด ถือเป็นเป้าหมายทั่วโลกในการลดโลกร้อน การทำในเรื่องของเป้าหมายในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ดังนั้น จากเทรนด์ดังกล่าว ผู้ประกอบการต่างกำหนดเป้าหมายของการลดและเลิกผลิตรถยนต์สันดาป และปรับมาผลิตรถอีวีแทน ถือเป็นโจทย์ใหญ่และเป็นทางเลือกที่จะส่งผลให้รถอีวีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งคิดทำ ผู้ประกอบการได้เตรียมตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของประเทศบ้างแล้ว

นอกจากนี้ ในมุมมองของลูกค้าที่ซื้อรถอีวีนอกจากจะประหยัดน้ำมันแล้ว จากการศึกษาจะพบว่าเป็นกลุ่มที่ชอบเปลี่ยนเทคโนโลยี การซื้อรถอีวีถือเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ที่สุดและไม่เหมือนใคร จะเหมือนกับการเปลี่ยนสมาร์ทโฟนเมื่อออกรุ่นใหม่มา และเทคโนโลยีล้ำกว่าก็จะสนใจ ดังนั้น อรุณ พลัส จึงได้ตั้งบริษัท อีวีมี พลัส ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ให้ลูกค้าที่สนใจเช่าใช้รถอีวีผ่านแอปพลิเคชั่น EVme

ทั้งนี้ อีวี มี จะตอบโจทย์คนที่ยังลังเล ซึ่งขณะนี้รถอีวีหลายคนมองว่าเป็นคอมพิวเตอร์ติดล้อ ดังนั้น จะแข่งขันกันในอนาคตด้วยเทคโนโลยี หลายคนมองว่าจะเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้า กลับถึงบ้านเสียบปลั๊ก ตื่นมาก็ใช้ได้ เป็นเหมือนมือถือ หรืออุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่ใช้ในบ้าน สิ่งที่อรุณ พลัส มอง เพราะตอนนี้ลูกค้ายังลังเล ถือเป็นความท้าทายผู้ประกอบการ ที่จะลงทุนทั้งการผลิต และลงทุนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เพราะโจทย์มีความหลากหลาย อาทิ การใช้งานของแบตเตอรี่ แรงขับเคลื่อนเมื่อต้องขับรถขึ้นเขาหรือลุยน้ำ เป็นต้น ดังนั้น ปัญหาดังกล่าวผู้ประกอบการต้องออกแบบเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์

นอกจากนี้ รถอีวีมีความหลากหลายและต้องออกแบบให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งประเทศไทยจะต้องดูในตลาดบ้านเรา เช่น รถอีวีปั๊กอัพจะมีหรือไม่ ด้วยจำนวนที่ครองตลาดในประเทศไทยถึง 50% จึงจะเป็นโจทย์ของผู้ผลิต รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีชาร์จให้เหมาะสมกับการใช้งาน อาทิ สถานีบริการน้ำมัน คอนโดฯ ที่สถานที่ต่าง ๆ จะบริหารจัดการอย่างไร ถือเป็นความท้าทาย

ทั้งนี้ ในการเปิดเช่ารถอีวีผ่าน อีวี มี นั้น เราพยายามที่จะตอบโจทย์ผู้ใช้งาน สร้างประสบการณ์ให้ผู้ที่อยากจะเปลี่ยนมาใช้รถอีวี ผ่านรถอีวีหลากหลายยี่ห้อ พร้อมออกแบบบริการระบบหลังบ้านให้ตอบโจทย์ในทุกเรื่อง เช่น เมื่อแบตเตอรี่หมดกลางทาง เราก็มีแบตเตอรี่สำรองไปเติมให้สามารถวิ่งไปชาร์จต่อได้ และสิ่งสำคัญ คือ การเก็บพฤติกรรมการใช้รถอีวี เพื่อกลับมาตอบโจทย์ดีไซน์รถอีวีแบบครบวงจร ทั้งพฤติกรรมการใช้งาน สถานีชาร์จ ซึ่งโออาร์อยู่ระหว่างขยายสถานีชาร์จอีวีให้ครอบคลุมความต้องการเช่นกัน

“จีนมีการติดตั้งสถานีชาร์จที่เป็นแบบลักษณะครอบคลุมทั่วประเทศผ่านสถานีบริการน้ำมันและพื้นที่ต่าง ๆ รูปแบบ AC Charge หรือ การชาร์จแบบธรรมดาเป็นการชาร์จไฟที่จ่ายด้วยจ่ายไฟแบบกระแสสลับ การปล่อยกระแสไฟฟ้าที่ต่ำทำให้ใช้เวลาราว 8 ชั่วโมง ราว 70% ส่วนอีก 30% เป็น DC Charge เป็นการชาร์จไฟแบบเร็วด้วยการจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง ใช้เวลาชาร์จไฟราว 45 นาที ซึ่งคนใช้งานแบบ DC ถึง 80%”

ขณะที่ประเทศไทยมีข้อดีคือ ภาคเอกชนและรัฐบาลร่วมมืออย่างดี โดยภาครัฐได้ออกมาตรการด้านภาษีต่าง ๆ ปิดช่องว่างด้านราคาถึง 10-15% พร้อมกับคงความเป็นฐานการผลิตรถอันดับ 10 ของโลกเพื่อสนับสนุนบริษัทกว่า 10,000 บริษัท ที่ทำธุรกิจในพาสอุตสาหกรรมรถยนต์ ให้อยู่รอดด้วยกัน โดยออกเงื่อนไขกับบริษัทที่นำเข้าหากต้องการที่จะรับการสนับสนุนนโยบายภาครัฐ อีก 2 ปี จะต้องผลิตรถอีวีในประเทศไทย

“กลุ่มปตท. มองความท้าทายทั้งระบบ เช่น สถานีชาร์จก็เป็นเรื่องใหญ่ ในเรื่องความเชื่อมั่น สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า แต่อีกโจทย์ในตัวรถอีวี คือ เทคโนโลยีจะต้องสอดรับกับบ้านเรา แล้วอีกสิ่งสำคัญ คือต้นทุน เราก็พยายามทำให้ต้นทุนลดลง โดยเฉพาะในองค์ประกอบสำคัญ เช่น แบตเตอรี่ เซมิคอนดัคเตอร์ หรือมอเตอร์ เป็นต้น ซึ่งวันนี้ยังไม่มีในประเทศ เราพยายามทำเรื่องนี้เพื่อลดต้นทุนและครอบคลุมที่สุด”