เป้าหมายฮับผลิต “อีวี” ต้องยกชั้นผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย

เป้าหมายฮับผลิต “อีวี” ต้องยกชั้นผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย

ทุกภาคส่วนต้องเตรียมความพร้อมให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยสามารถผลิตป้อนอุตสาหกรรมอื่นได้ รวมไปถึงส่งเสริมให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สามารถผลิตชิ้นส่วนเพื่อป้อนอุตสาหกรรมอื่นที่มีศักยภาพ

ประเทศไทยกำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่เพื่อสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งจะเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ซึ่งประเทศไทยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ผลิตระดับต้นของภูมิภาค จนได้ชื่อเป็น "ดีทรอยต์ ออฟ เอเชีย"

โครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปัจจุบัน ประกอบด้วยผู้ประกอบรถยนต์ 21 ราย และรถจักรยานยนต์ 12 ราย นอกจากนี้จะเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับเทียร์ 1 รวม 525 บริษัท และผู้ประกอบการในระดับเทียร์ 2 อีก 1,687 บริษัท

ถึงแม้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยจะถูกควบคุมด้วยบริษัทรถยนต์ต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยมากกว่า 50 ปี จนทำให้ฐานการผลิตในประเทศไทยสามารถประกอบรถยนต์ได้มากกว่าปีละ 2 ล้านคัน แต่ความแตกต่างของเทคโนโลยีรถยนต์สันดาปและรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้มีความจำเป็นต้องเตรียมแผนในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดผลกระทบกับซัพพลายเชนในประเทศไทยน้อยที่สุด

ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่เป็นผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าหรือผลิตชิ้นส่วนป้อนอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งในช่วงการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจะเห็นภาพชัดเจนในช่วง 5 ปี โดยจะต้องเตรียมความพร้อมให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยสามารถผลิตป้อนอุตสาหกรรมอื่นได้ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมราง อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม รวมไปถึงส่งเสริมให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สามารถผลิตชิ้นส่วนเพื่อป้อนอุตสาหกรรมอื่นที่มีศักยภาพ

ถึงแม้ในระยะเปลี่ยนผ่านจะต้องมีการปรับตัว แต่การที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นการต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ซึ่งจะช่วยต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้

ที่สำคัญ การเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะสร้างโอกาสให้บริษัทไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ได้เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยถูกควบคุมด้วยบริษัทรถยนต์ต่างชาติ

อีกส่วนที่สำคัญนอกจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีคือ การพัฒนาศักยภาพทรัพยากร ซึ่งจะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพคนต่อจากนี้ เพื่อสร้างความพร้อมการเข้าสู่เทคโนโลยีใหม่

ปัจจัยดังกล่าวจำเป็นที่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งในระดับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การพัฒนาบุคลากร เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคได้ต่อไป และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับการพัฒนาประเทศ