ครอบครัวยุค New Normal ยัง “สุข” ดีหรือไม่

ครอบครัวยุค New Normal ยัง “สุข” ดีหรือไม่

ครอบครัวคือสถาบันที่เล็กสุดของสังคม แต่กลับมีความสำคัญมากที่สุด เพราะหน่วยๆ เล็กๆ นี้กลับมีหน้าที่ต้องบ่มเพาะสร้างประชากรคุณภาพของประเทศให้กับสังคมไทย

ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดนั้นได้ส่งผลกระทบไม่น้อยต่อแทบทุกครอบครัว ไม่ใช่เพียงแต่ด้านเศรษฐกิจ หากยังเลยไปถึง “ความสุข” ในครอบครัวด้วย

เมื่อโควิด ทำให้หลายครอบครัวเริ่มมีความสุขน้อยลง แล้วเราควรจะแก้ยังไง

ฟังหลายเสียงร่วมสะท้อนภาพ และหลากหลายมุมมองจริง ใน Live เสวนา "สถานการณ์ครอบครัวอบอุ่น ยุค New Normal วิถีชีวิตใหม่หลังโควิด-19" ที่จัดโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล  และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ครอบครัวยุค New Normal ยัง “สุข” ดีหรือไม่

เริ่มที่ข้อมูลการสำรวจจาก ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่า จากการสำรวจครอบครัวอบอุ่นมีสุข ในกลุ่มคนทำงานกว่า 3,000 คน ใน 60 องค์กร ในช่วงโควิด พบว่ากว่าร้อยละ 90 ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมีระดับแตกต่างกัน แต่หนักสุดคือความเครียดอันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายกับรายได้ไม่สมดุลกัน

“การต้องปรับตัวสู่ชีวิตวิถีใหม่ ทำให้ทุกคนต้องเปลี่ยนตัวเอง รู้สึกว่าไม่ใช่  comfort zone ย่อมเป็นเรื่องยากที่สถานการณ์โดยรวมในด้านความสุขความอบอุ่นในครอบครัวจะอยู่ในระดับสูง”

ณัฐยาเอ่ยต่อว่า จากข้อเท็จจริงคือแม้จะไม่ได้ต้องเสียค่าเดินทางไปทำงาน แต่การต้องอยู่บ้านทำให้หลายครอบครัวไม่ได้ประหยัดอย่างที่คิด กลับมีรายจ่ายสูงขึ้น สวนทางกับรายได้ที่เท่าเดิมหรือลดลง รวมถึงการถูกจำกัดพื้นที่ให้ไม่สามารถทำกิจกรรมหรือไปไหนไม่ได้ยิ่งทำให้เครียดเพิ่มขึ้น

แต่ยังมีเรื่องที่น่าชื่นใจคือ แม้จะมีปัญหาแต่ก็ยังได้รับการหยิบยื่นความช่วยเหลือทั้งจากเพื่อนและภาครัฐหรือสังคมปรากฏให้เห็น

“นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าครอบครัวที่มีเด็กปฐมวัยหรือเด็กเล็กได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะค่าใช้จ่ายสูงกว่า ซึ่งความเครียดในครอบครัวยังมีผลต่อพัฒนาการเด็กในวัยนี้  ดังนั้นปัญหาสำคัญคือ เราจะฟื้นฟูพลเมืองเด็กเหล่านี้อย่างไรให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ”

สำรวจความอักเสบของครอบครัว

“New Normal กระทบกับความสัมพันธ์ในครอบครัวจริง โดยเฉพาะหากไม่มีเงินในกระเป๋า ข้อมูลวิจัย ที่เราสำรวจร้อยละ 90 มีรายได้ลดลง และมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น รวมถึงส่วนใหญ่มีหนี้สิน ในช่วงโควิดทำให้เขาไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ยกตัวอย่าง เราสำรวจครอบครัว หลังเด็กต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปเรียนออนไลน์ มีแค่ ร้อยละ 38 ที่พร้อมเรียนออนไลน์ ที่เหลือยังไม่มีอินเตอร์ หรือไม่มีเครืองมือพร้อม ซึ่งมองว่าต้องได้รับความสนับสนุนอย่างเร่งด่วน

ที่สำคัญโควิดยิ่งทำให้เราเห็นเรื่องความเท่าเทียม ครอบครัวที่มีต้นทุนไม่เท่ากันได้ผลกระทบไม่เท่ากันอยู่แล้ว”

รศ.ดร.อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้มุมมองด้านผลกระทบที่ครอบครัวได้รับ พร้อมมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือความสามารถในปรับตัวของคนเรา จะชี้วัดได้ว่าดูแลได้ดีหรือไม่

ด้าน ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต หัวหน้าโครงการ Happy Family ฉายภาพสถิติคนวัยทำงานในบ้านเราว่าจากทั้งหมดประมาณ 56 ล้านคน  มี 31 ล้านคนเป็นคนทำงาน และการสำรวจครัวเรือนล่าสุด จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีครัวเรือน 21 ล้านครัวเรือน หลังมีการสำรวจถึงผลกระทบที่ได้รับในชีวิตประจำวัน พบว่าความสุขคนทำงานลดไปเหลือไม่ถึงร้อยละ 50    

“New Normal ก่อให้เกิดผลกระทบกับคนทำงานมาก โดยเฉพาะคนทำงานเจนฯ วายที่หนักสุด แต่รับภาระเยอะ ขณะที่เจนฯ เอ็กซ์กับเบบี้ บูมเมอร์ ต้องการความช่วยเหลือเรื่องรายได้การเงิน แต่เจนฯ วาย อยากได้ความช่วยเหลือเรื่องการงาน นอกจากนี้ ในครอบครัวรูปแบบพ่อแม่ลูกจะได้รับผลกระทบมากกว่าครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว หรือคนที่ยังไม่มีลูก แต่เราอยากให้ทุกครอบครัวมีวัคซีน 4 ตัว ครอบครัวอบอุ่น สงบสุข เข้มแข็ง และพอเพียง”

ครอบครัวยุค New Normal ยัง “สุข” ดีหรือไม่

สื่อสารวัคซีนครอบครัวทุกสถานการณ์

ด้านพิธีกรชื่อดัง และยังเป็นคุณพ่อลูกสอง ดร.อั๋น ภูวนาท คุนผลิน พิธีกรแห่ง Club Friday เอ่ยว่า

“จริงๆ โควิด ทำให้เรากลับมาใช้ชีวิตที่ถูกที่ควรมากขึ้น จากเดิมที่เราใช้ชีวิตเกินเลยไปเยอะ ให้ความสำคัญกับเรื่องที่เกินพอดีไป แต่โควิดจะทำให้เรารู้จักความพอดีมากขึ้น จากแต่ก่อนมองปัจจัยสี่ไม่พอ แต่ตอนนี้ความสำคัญเหลือแค่ปัจจัย และสิ่งที่สำคัญกับเราจริงๆ คือครอบครัว เพราะถ้าครบครัวดี ทุกอย่างดีหมด”

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ใด มองว่าสิ่งสำคัญของครอบครัว จะต้องมีความมั่นคงทั้งทางใจและทางการเงิน ก็จะช่วยสร้างสมดุลภายในครอบครัว โดยแนะว่าคู่ชีวิตควรมีการพูดคุยทำความตกลงกันก่อนตั้งแต่ก่อนจะใช้ชีวิตร่วมกัน ก็จะทำให้ไม่มีปัญหาตามมา เพราะมีการสื่อสารกันแล้ว และเช่นเดียวกับในบริษัทหรือองค์กร หากในองค์กรที่นายจ้างเห็นความสำคัญกับลูกจ้าง และรู้จักพูดคุยสื่อสารกันจะทำให้พนักงานมีกำลังใจและร่วมกันฝ่าฟันวิกฤตไปได้

ส่วนณัฐยาให้ข้อเสนอว่า สิ่งแรกที่ควรทำคือทุกบ้านต้องมาคุยกัน สื่อสารกัน ว่ามาตรการบ้านอย่างไร ป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงเรื่องโรค การดูแลกันและกันอย่างไร

“รวมถึงการอยู่ในพื้นที่จำกัด และกดดันอีก ดังนั้นอย่าใช้ชีวิตโดยไม่คุยกันเพราะหลายสิ่งหลายอย่างเป็นเรื่องไม่คุ้นเคย จะยิ่งทำให้เกิดความเครียดและกระทบกระทั่งกัน ส่วนองค์กรเป็นสถานที่ที่สองของคนทำงาน ก็มีส่วนอย่างมากในการให้ความรู้ จัดระบบใหม่ให้พนักงานสามารถดำเนินสอดคล้องไปกับความเปลี่ยนแปลง”

 

ครอบครัวนักวิจัยรับมือแบบไหน

มาฟังเสียงจากครอบครัวตัวอย่างบ้าง เริ่มที่ครอบครัวนักวิจัยของ ศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาแชร์ประสบการณ์ในฐานะตัวแทนคนที่มีครอบครัวว่า ตนเองและคู่ชีวิตทำงานเป็นอาจารย์ทั้งคู่มีลูกสองคน ซึ่งทุกคนต่างมีภารกิจค่อนข้างมาก จึงมองว่า สำหรับครอบครัวแล้วการสื่อสารสำคัญมาก

“ลูกกำลังเรียนหนังสือ เขามีกิจกรรมของเขา อีกคนเป็นนักกีฬาโรงเรียน ทำให้เราลำบากใจที่สุดคือการจัดการเรื่องเวลา เพราะเราทำงานทั้งคู่ เช้าไปส่ง กลางวันทำงาน เย็นต้องพาลูกไปซ้อมเทนนิส ตอนเย็นจะให้เวลากับลูก จนลูกเข้านอนแล้ว พ่อแม่ถึงทำงานต่อจนถึงตีหนึ่งตีสอง

“ดังนั้นสิ่งที่เราคิดว่ามีความสำคัญในการจัดการคือต้องคุยกันให้รู้เรื่อง ว่าแต่ละคนมีหน้าที่ของตัวเอง ที่ต้องรับผิดชอบให้ดี ซึ่งลูกที่บ้านเราไม่ให้รียนพิเศษ ดังนั้นเขาต้องทำเองให้ดี ส่วนพ่อแม่ต้องวางแผนอย่างดี

ศ.ดร.ปังปอนด์ เอ่ยต่อว่า กรณีของเธอโชคดีที่การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยยังสามารถบริหารจัดการหรือยืดหยุ่นเวลาได้มากกว่าอาชีพอื่น โดยยังสื่อสารกับที่ทำงานเกี่ยวกับการจัดการเวลาและการทดแทนเวลาทำงาน

“เราเคยผ่านการทำงานมาแล้วหลายที่ ซึ่งถ้าที่ทำงานเห็นความสำคัญตรงนี้ เราบอกเลย เรามีกำลังใจในการทำงานมาก เพราะครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญมากของคนทำงาน สำหรับคนที่เป็นพ่อแม่หรือคนที่ต้องดูแลสมาชิกในครอบครัว ซึ่งหากองค์กรให้โอกาสสามารถบาลานซ์ระหว่างสองเรื่องได้ดี เขาจะรู้สึกว่ามีความรับผิดชอบมากขึ้น”

ศ.ดร.ปังปอนด์ เอ่ยว่า ส่วนตัวคิดว่า New Normal ไม่เกิด แต่สิ่งที่จะเกิดคือ Realization คือความตระหนัก เข้าใจสถานการณ์มากขึ้น

“กับอีกอย่าง เราจะมีความรู้สึกว่า ทักษะสำคัญที่ครอบครัวต้องมีคือความยืดหยุ่นและการสื่อสารของครอบครัวนั้น ๆ รวมถึงการวางแผนหรือมาตรการแก้ปัญหาที่จะคิดและตัดสินใจเร็วขึ้นเมื่อเกินสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน”

ครอบครัวยุค New Normal ยัง “สุข” ดีหรือไม่

เปลี่ยนวิกฤตเป็น “สุข”

อีกหนึ่งครอบครัวที่มีสถานการณ์แตกต่างไป เพราะมองว่าวิกฤตบางครั้งก็ทำให้ครอบครัวปรับตัว มีสัมพันธภาพดีมากขึ้น ปราณี งอกงาม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านไอริช เห็นด้วยว่า ครอบครัวที่มีปัญหาส่วนใหญ่ คือไม่คุยไม่สื่อสารกัน พูดคุยกัน

โดยครอบครัวของเธองประสบปัญหา ในขณะที่ชีวิตการทำงานกับไปได้ดี กลับต้องเผชิญปัญหาเรื่องคู่ชีวิตนอกใจและทะเลาะเบาะแว้งกัน จนทำให้ลูกๆ ที่เริ่มคิดมากกลายเป็นมีปัญหา

“ยิ่งเป็นเด็กวัยรุ่นปัญหายิ่งเยอะ เขาคิดมาก ตอนแรกก็ต่างคนต่างแก้ปัญหา ต่างคนต่างใช้อารมณ์ “

แต่ในช่วงเวลานั้น ตัวเองก็ต้องพยายามลุกขึ้นยืนเพื่อเผชิญปัญหา ขณะเดียวกันก็ต้องคอยดูแลจิตใจลูกๆ มากขึ้น

“ สำหรับดิฉัน อยากขอบคุณปัญหา เพราะมันทำให้เราเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ จากที่เมื่อก่อนพึ่งแต่สามีอย่างเดียว และทำให้เราค้นพบชีวิตการทำงานที่ดี นอกจากนั้น เราเริ่มมีการสื่อสารกับลูกมากขึ้น ซึ่งวันนี้เราได้ยินเสียงหัวเราะของลูกๆ มากขึ้น ได้ยินเสียงพูดคุยของลูกๆ มันทำให้ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น เพราะเราคุยกันเข้าใจเป้าหมายเดียวกัน”

เราแก้ได้ เมื่อเราหยุดตั้งคำถามกับตัวเอง เราอยากได้คำตอบถูกใจ แต่มันไม่มีคำตอบที่ถูกใจให้เรา เราต้องลุกออกจากคำถามนั้น” ปราณีเอ่ย

โดยยังมีความเห็นเสริมจาก ดร.อั๋น ภูวนาท ที่ร่วมบอกเคล็ดลับว่า

“ปัญหาส่วนใหญ่คือ คนเรามักคิดเป็นวงกลม วนอยู่กับปัญหา ตั้งคำถามที่รู้อยู่แล้วว่าได้คำตอบแล้วชีวิตก็ไม่เปลี่ยน  และทำให้เราไม่มีประสิทธิภาพ ผมมองว่า อย่างน้อยถ้าออกจากวงกลมไม่ได้อย่าให้อยู่กับที่ ให้เคลื่อนไป แล้วค่อยๆ เปลี่ยนให้เป็นเส้นตรงพุ่งไปข้างหน้า”

 

จาก happy work place สู่ Happy family

มาถึงตัวอย่างเจ้านายในฝันใครหลายคน อลิสรา ศิวยาธร ผู้บริหารและเจ้าของโรงแรม Sivatel ที่ร่วมเล่าถึงแนวทางการให้ความสำคัญกับพนักงานและครอบครัวว่า

“เราเชื่อว่าความสุขของคนทำงาน มีผลต่อความสุขของที่ทำงานและการงาน  การจะให้บริการที่ดีต้องมาจากใจพนักงานที่มีความสุขก่อน เพราะเขาจะส่งต่อความสุขไปสู่ลูกค้า ซึ่งที่โรงแรมเรามีแนวคิดว่าที่นี่คือครอบครัวที่สองของพนักงาน หากพนักงานดีก็จะสะท้อนมาผ่านฟีดแบ็คหรือรีวิวของลูกค่า”

โดยโรงแรมได้จัดกิจกรรมต่างๆ รวมถึงกิจกรรมโครงการธนาคารขยะของโรงแรม ที่เรียกว่า “ขยะทองคำ” ซึ่งไม่เพียงการสร้างวัฒนธรรมสร้างวินัยในด้านการแยกขยะแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเปิดให้สมาชิกครอบครัวพนักงานมาร่วมกันแยกขยะที่โรงแรม ซึ่งไม่เพียงมีรายได้เสริม แต่ทุกคนยังมีความสุขที่ได้ทำกิจกรรมนี้ร่วมกัน

 

ทุกครอบครัว ควรมี “เครื่องมือ” ช่วย

ด้าน พงศ์ปณต ดีคง นักกิจกรรมสังคมผู้ก่อตั้งเพจ leeway การเรียนรู้ผ่านการเล่น ให้ไอเดียว่า การสร้าง “เครื่องมือ” ที่ช่วยสื่อสารหรือสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวมีประโยชน์มาก

โดยหนึ่งในเครื่องมือที่ leeway ใช้คือ โครงการ truthful parent ที่มีเป้าหมายการสร้าง Mind set ใหม่ให้กับพ่อแม่ที่เปลี่ยนจากการชี้นำลูก มาเป็นการต้องเชื่อว่าลูกมีดีและปล่อยให้ลูกเรียนรู้ด้วยตัวเองในสิ่งที่เขาอยากรู้

“เครื่องมือแรกที่เราใช้ คือการเปิดเพจเฟสบุ๊ค เรานำข้อมูลเชิงวิชาการ มาแปลงเป็นข้อมูลแบบอินโฟกราฟฟิค เพื่อที่จะสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจง่ายคือพ่อแม่”

ส่วนเครื่องมือที่สอง คือการจัดตั้งกลุ่ม Parent Support Group โดยการดึงประเด็นเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกหรือความสัมพันธ์ในครอบครัวที่พบเจอในกระแส หรือในโซเชียลมีเดียนำมาตั้งคำถามในกลุ่ม เพื่อให้ช่วยกันหาระดมความคิด หาแนวทางออก

เครื่องมือที่สาม คือการทำเวิร์คช็อป แต่ทาง leeway มองว่าแค่การเวิร์คช็อประหว่างแลกเปลี่ยนพ่อแม่และลูกไม่เพียง จึงมี บุคคลาที่สาม นั่นคือผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัวมาให้คำแนะนำด้วย

“ส่วนเครื่องมือสุดท้าย เกิดในช่วงวิกฤตโควิด จากการที่เราเห็นพ่อแม่ทำงานที่บ้าน (work from home) กันมาก จึงเปิดกลุ่มในฟสบุ๊ค ที่ชื่อว่า The Parents Lack โดยจะเป็นสื่อกลางในการเแลกเปลี่ยนไอเดียของพ่อแม่ในการคิดหากิจกรรมเล่นกับลูกที่บ้าน

นอกจากนี้พงศ์ปณต เสนอให้ทุกครอบครัวเห็นโอกาสการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างพ่อแม่กับโรงเรียน เมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์

“นอกจากการสื่อสารกับครอบครัว ยังมีการสื่อสารกับคุณครู ในอดีตพ่อแม่เจอครูปีละครั้ง แต่ New Normal จะทำให้พ่อแม่จะได้รับการพัฒนาศักยภาพ ในการเตรียมพร้อมและวิธีส่งเสริม”