ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นหลังจากเศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว

ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นหลังจากเศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว

ราคาน้ำมันดิบในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น นักลงทุนคลายความวิตกกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจจากวิกฤต COVID-19 หลังนานาประเทศเริ่มเปิดเมือง ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการสัญจรอย่างเข้มงวด (Lockdown)

ราคาน้ำมันดิบในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น นักลงทุนคลายความวิตกกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจจากวิกฤต COVID-19 หลังนานาประเทศเริ่มเปิดเมือง ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการสัญจรอย่างเข้มงวด (Lockdown) และธุรกิจเริ่มกลับมาตามปกติ ประกอบกับมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากทั้งรัฐบาลและธนาคารกลาง ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าอุปสงค์พลังงานจะฟื้นตัวตาม อีกทั้งผู้ผลิตน้ำมันกลุ่ม OPEC และประเทศพันธมิตร (OPEC+) เริ่มดำเนินมาตรการลดการผลิตครั้งประวัติศาสตร์ ปริมาณ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงพฤษภาคม - มิถุนายน 2563 ส่งผลสนับสนุนให้ราคาน้ำมันดิบในเดือนมิถุนายน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2563 กลุ่ม OPEC+ ขยายเวลาการลดการผลิตน้ำมัน ออกไปถึงเดือนกรกฎาคม 2563 แต่เม็กซิโกปฏิเสธร่วมลดการผลิตต่อด้วย ดังนั้นเป้าหมายในเดือนกรกฎาคม จะลดลง 100,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดิม อยู่ที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน และผ่อนคลายเป้าหมายการลดปริมาณการผลิต ช่วงสิงหาคม – ธันวาคม 2563 ลงมาอยู่ที่ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ OPEC คาดว่าในปี 2563 นี้ ความต้องการใช้น้ำมันโลกจะลดลงจากปีก่อน 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน และให้คณะกรรมการร่วมตรวจสอบในระดับรัฐมนตรี (Joint Ministerial Monitoring Committee) หรือ JMMC จัดประชุมเพื่อติดตามผลการปฏิบัติตามข้อตกลงทุกเดือนจนถึงเดือนธันวาคม 2563 โดยเมื่อ 18 มิถุนายน 2563 JMMC เพิ่มความเข้มงวดต่อประเทศที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงได้ เช่น อิรัก ไนจีเรีย และคาซัคสถาน ให้ลดปริมาณการผลิตน้ำมันชดเชยในไตรมาส 3/63 (กรกฎาคม - กันยายน 2563) เพื่อบรรลุอัตราความร่วมมือ (Compliance Rate) ที่ระดับ 100%

ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นหลังจากเศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว

 

ด้านอุปสงค์ จีนเริ่มกลับมาใช้น้ำมันสูงขื้น โดยสำนักสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics) หรือ NBS รายงานปริมาณน้ำมันดิบเข้ากลั่น ในเดือนพฤษภาคม 2563 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.2% อยู่ที่ 13.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นอันดับ 4 จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อ ธันวาคม 2562 ที่ 13.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และทางการจีนแถลงสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในกรุงปักกิ่งได้แล้ว

รายงานจากทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) หรือ IEA ฉบับเดือนมิถุนายน 2563 ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 2563 โดยเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาถึง 470,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามความต้องการการใช้น้ำมันโลกนั้นก็ยังคงลดลงจากปีก่อนถึง 8.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 91.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจะยังไม่สามารถกลับสู่ระดับก่อนการเกิดวิกฤต COVID-19 จนถึงปี 2565 ทั้งนี้หากเหล่าประเทศผู้ผลิตสามารถควบคุมอุปทานน้ำมันโลกให้ลดลงในระดับเดือนพฤษภาคม 63 ซึ่งลดลงจากปีก่อน 11.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็จะทำให้ตลาดเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะสมดุลภายในไตรมาสที่ 3/63

ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นหลังจากเศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว

อย่างไรก็ตามรัสเซียเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอย่างรวดเร็ว เมื่อตลาดโลกฟื้นตัว ด้วยกลยุทธ์เดียวกับผู้ผลิต Shale Oil ของสหรัฐฯ โดยธนาคารของรัฐบาลมีแผนจะปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้บริษัทน้ำมันรัสเซียเป็นมูลค่ารวมประมาณ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อขุดเจาะหลุมน้ำมันราว 3,000 แห่ง ซึ่งจะช่วยให้สามารถกลับมาเปิดหลุมและเริ่มผลิตเร็วได้กว่าการเริ่มต้นขุดเจาะใหม่ทั้งหมด ที่ปรึกษาทางธรณีวิทยาคาดว่าจะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันขึ้นอีกอย่างน้อย 200,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้รัสเซียผลิตน้ำมันในปี 2562 ปริมาณรวม 11.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จาก 180,000 หลุม

ให้จับตาสภาวะเศรษฐกิจโลก หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) หรือ IMF ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Gross Domestic Product) หรือ GDP ในปี 2563 ว่าจะถดถอยจากปีก่อน 4.9% จากคาดการณ์เดิมในเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่าจะถดถอย 3% รวมไปถึงผลกระทบจาก COVID-19 ที่อาจระบาดอีกระลอก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ในสัปดาห์สิ้นสุด 21 มิถุนายน 2563 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 25% เพิ่มขึ้นมากสุดเป็นอันดับ 2 รองจากสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมี 10 รัฐที่เพิ่มขึ้นเกิน 50% และมี 12 รัฐที่ทำสถิติสูงสุดใหม่ เช่น รัฐเท็กซัส เพิ่มขึ้น 24,000 รายหรือประมาณ 84% ทำให้สหภาพยุโรปอยู่ระหว่างพิจารณาหากจะห้ามผู้เดินทางจากสหรัฐฯ เข้าประเทศ เช่นเดียวกับผู้เดินทางจากรัสเซียและบราซิล