“วัฒนธรรมเคารพกติกา” รากฐานนิติธรรม-สังคมสันติสุข

“วัฒนธรรมเคารพกติกา” รากฐานนิติธรรม-สังคมสันติสุข

 

“ไม่ว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เขียนออกมาดีขนาดไหนก็ตาม แต่หากผู้คนในสังคมยังไม่มีวัฒนธรรมรักษากติกาแล้วไซร้ รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายนั้นๆ ก็มีสภาพอะไรไม่ต่างจากกระดาษเปื้อนหมึก”

นี่คือสัจธรรมในมิติของการอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคม ซึ่งจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมการเคารพกติกา” หรือ Culture of Lawfulness ถึงจะทำให้สังคมสงบสุขและปราศจากความขัดแย้งได้

วัฒนธรรมการเคารพกติกา เป็นรากฐานสำคัญของการสร้าง “สังคมนิติธรรม” ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งการสร้างสังคมนิติธรรมนี้เป็นพันธกิจหนึ่งของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ (Thailand Institute of Justice) ฉะนั้น เมื่อ TIJ จัดทำหลักสูตรอบรมผู้บริหารด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา หรือ TIJExecutive Program on The Rule of Law and Development (RoLD Program) จึงมีกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “วัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา” เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรด้วย

ประเด็นที่น่าพิจารณาก็คือ การจะสร้างให้ “วัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา” เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะผูกโยงกับมิติทาง “วัฒนธรรม” อันเป็นฐานรากของสังคม

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ อธิบายว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า หลักนิติธรรมเป็นปัจจัยพื้นฐานทำให้สังคมสงบสุขและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่การจะทำให้สังคมนิติธรรมเกิดขึ้นได้ ต้องสร้าง “วัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา” ให้เกิดขึ้นควบคู่กันด้วย กล่าวคือต้องทำให้คนเคารพกฎหมาย ซึ่งต้องผสานมิติของ “คน” เข้ากับมิติทาง “วัฒนธรรม” ไม่ใช่มองแค่เรื่องตัวบทกฎหมายและองค์กรบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว เรื่องหลักนิติธรรม และ วัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา มีความเกื้อกูลและสัมพันธ์เกี่ยวโยงกัน สังคมที่มีนิติธรรมที่ดีที่คนเชื่อถือศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมจะส่งเสริมให้เกิด “วัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา” และ “วัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา” จะช่วยส่งเสริมหลักนิติธรรมเช่นกัน

โจทย์ยากของเรื่องนี้ก็คือ การสร้าง “วัฒนธรรม” เพราะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมเสียก่อน ประเด็นนี้ ผศ. ดร. ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า สังคมไทยเป็นสังคมแบบผสมผสานระหว่างการใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลกับการกำกับด้วยกฎหมาย มีระบบศักดินาที่พัฒนาต่อมาเป็น “ระบบอุปถัมภ์” จนกลายเป็นปัจจัยให้เกิด “วัฒนธรรมของการไม่รักษากติกา”

ทั้งนี้เพราะคนที่มีต้นทุนในสังคมที่ดีกว่าจำนวนหนึ่ง มักใช้อภิสิทธิ์เพื่อให้พ้นจากกฎข้อบังคับ เนื่องจากอภิสิทธิ์เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงอำนาจและสถานภาพทางสังคม ขณะที่คนที่มีต้นทุนต่ำบางส่วน ก็ใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ปฏิบัติตามกฎ โดยอ้างว่าตนเองอยู่ในระดับที่ด้อยกว่า ไม่ได้รับความยุติธรรมมาตั้งแต่เกิด ดังนั้น เมื่อกระทำผิด ก็ควรจะละเว้นบ้าง เพราะสังคมไม่ยุติธรรมกับตน

เหตุนี้เอง การบังคับใช้กฎหมายเพียงมิติเดียวจึงเป็นสิ่งท้าทายสังคมไทยอย่างยิ่ง เพราะขัดกับรากวัฒนธรรมเดิม จึงเกิดพฤติกรรมการไม่เคารพกติกาอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การไม่เคารพกฎจราจร การเลี่ยงไม่จ่ายค่าปรับเมื่อกระทำผิด ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติ

แต่การพยายามทำให้ “กฎหมาย” อยู่เหนือ “วัฒนธรรม” ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ฉะนั้นจึงควรสร้างวัฒนธรรมขึ้นใหม่ ซึ่งก็คือ “วัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา” นั่นเอง

วิธีสร้างวัฒนธรรมใหม่ ผศ.ดร. ธานี เห็นว่า ควรเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนมีความเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกันก่อน พร้อมๆ กับการสร้างประสบการณ์ที่ดีในการเคารพกฎหมาย เน้นยึดถือมาตรฐานมากกว่าการใช้ดุลยพินิจ เมื่อมีการฝ่าฝืนกฎ คนกระทำผิดจะต้องถูกลงโทษในระยะเวลาอันรวดเร็ว ไม่ปล่อยปละเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้อื่น

นอกจากนั้นก็ควรใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลดโอกาสในการต่อรอง เช่น ใช้กล้องซีซีทีวี จับการละเมิดกฎจราจร ส่วนในภาพใหญ่ก็ต้องสร้างการมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้อย่างแท้จริง

ข้อเสนอของ ผศ.ดร. ธานี มีบางส่วนที่สามารถใช้ “สื่อ” เป็นพลังขับเคลื่อนได้ สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ เจ้าของรายการโทรทัศน์ออนไลน์ “Toolmorrow” ระบุว่า หากใช้สื่อชี้ให้สังคมเห็นผลกระทบเชิงลบเมื่อไม่ปฏิบัติตามกฎ ขณะเดียวกันก็สอดแทรกเนื้อหาเชิงบวกโดยถอดบทเรียนผู้ที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีได้สำเร็จ ก็น่าจะช่วยสร้าง “วัฒนธรรมแห่งการเคารพกฎหมาย” ขึ้นได้เช่นกัน

พล.ต.ต. ดร. ธัชชัย ปิตะนีละบุตร รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 กล่าวถึง ประสบการณ์จากงานตำรวจที่ต้องเผชิญแรงกดดันอย่างสูงจากระบบอุปถัมภ์ว่า แนวทางการแก้ปัญหาที่ตำรวจใช้ทางหนึ่งก็คือ เข้าไปช่วยกระตุ้นให้ชุมชนมี
ความเข้มแข็งช่วยกันดูแลคุ้มครองกฎกติกาของชุมชนและสังคมอย่างจริงจัง เพราะ informal social control เป็นรูปแบบ การควบคุมทางสังคมที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสังคมไทยมากกว่าการบังคับใช้กฎหมายตรงๆ เสียอีก

ส่วนประเด็นการสร้างชุมชนเข้มแข็ง สุทธิพงษ์ สุริยะ ผู้ก่อตั้ง “ชุมชนมีชีวิต” เน้นว่า ต้องสนับสนุนให้คนตระหนักในคุณค่าของชุมชนของตน ส่งเสริมให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนเพื่อสร้างวัฒนธรรมเชิงบวกขึ้นมา และหนึ่งในนั้นก็คือ “วัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา” นั่นเอง

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ย้ำทิ้งท้ายเป็นบทสรุปของเวทีเสวนาว่า การเริ่มปลูกฝังวัฒนธรรมของการเคารพและรักษากติกาตั้งแต่วันนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ “หลักนิติธรรม” มีโอกาสได้สถาปนาอย่างแข็งแรงในสังคมไทย และถักทอให้สังคมไทยกลายเป็น “สังคมนิติธรรม” ได้อย่างแท้จริง