“ประยุทธ์” เสนอผู้นำเอเปค ใช้วิกฤติโควิด พลิกโฉม ศก.ยั่งยืน
"ประยุทธ์ จันทร์โอชา" เข้าร่วมประชุมเอเปคซัมมิท หนุนแนวทางกลับคืนสู่เข้มแข็งให้ระบบการค้าพหุภาคี มีเป้าหมายบรรลุเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก ท่ามกลางวิกฤติโควิด จะเป็นโอกาสพลิกฟื้นเศรษฐกิจแบบยั่งยืน
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวสรุปสาระสำคัญภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 28 ซึ่งนิวซีแลนด์จัดขึ้นผ่านระบบทางไกลในวานนี้ (12 พ.ย.) ว่า
ผู้นำเอเปคหารือ 3 ประเด็นสำคัญคือ
1.บทบาทของเอเปคในการแก้ปัญหาวิกฤติจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างเร่งด่วน ผู้นำเอเปคย้ำความสำคัญของการค้าและการลงทุนเพื่อเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนและเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพิ่มการแบ่งปันวัคซีนและขยายการผลิตวัคซีน และอำนวยความสะดวกทางการค้าผ่านมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนวัคซีน พร้อมทั้งสนับสนุนการเดินหน้าเปิดพรมแดนอย่างปลอดภัย
2.การทำงานเพื่อเร่งรัดการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม การสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจดิจิทัลที่เปิดกว้าง เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ และย้ำความสำคัญของการยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคี พร้อมทั้งคาดหวังให้ที่ประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 (MC12) มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ได้ตระหนักถึงการส่งเสริมการกำหนดนโยบายการคลังที่เน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคงทางการคลังในระยะยาว และสนับสนุนการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
3.การสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมในระยะยาว เรียกร้องให้เอเปคเดินหน้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และบรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส โดยเอเปคจะเดินหน้าทำงานเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป ทั้งนี้ ผู้นำเอเปคได้ย้ำความสำคัญในการสนับสนุน MSMEs สตรี และกลุ่มที่ยังไม่ได้แสดงศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ให้เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยขับเคลื่อน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำความสำคัญของการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว และเสนอแนะ 3 ประเด็นที่เอเปค ควรให้ความสำคัญ ได้แก่
1.การเร่งให้ภูมิภาคกลับมาเชื่อมโยงกัน โดยสนับสนุนการกำหนดมาตรการส่งเสริมการเดินทางข้ามพรมแดนที่ปลอดภัย
2.กระตุ้นการค้าการลงทุน ผลักดันการเปิดเสรีการค้า และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบการค้าพหุภาคี และผลักดันการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายคือการบรรลุเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP)
3.การพลิกโฉมเศรษฐกิจเพื่อสร้างการเจริญเติบโตในระยะยาวที่ยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม โดยนำแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ไปแลกเปลี่ยนในที่ประชุมด้วย
การประชุมผู้นำเอเปคครั้งนี้ จัดขึ้นในสภาวการณ์ที่ สมาชิกเอเปค ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปีที่สองผ่านระบบการประชุมทางไกล แต่ก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยผู้นำเอเปคสามารถรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมที่สำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ 1.แผนปฏิบัติการ “เอาทีอารอ” (Aotearoa Plan of Action) ซึ่งกำหนดกรอบการทำงานของเอเปคในอีก 20 ปีข้างหน้าเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 และ 2.ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 28 ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งนี้
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสุนทรพจน์รับตำแหน่ง เจ้าภาพเอเปค และประกาศหัวข้อหลักการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ปี 2565 คือเปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล ซึ่งเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคต่างต้อนรับเป็นอย่างดี