ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพเอเปคมุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากพิษโควิด
ครบรอบ 20 ปี ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปค ปี 65 เดินหน้าจัดทำเขตการค้าเสรี เอเชีย-แปซิฟิก พร้อมชูโมเดลเศรษฐกิจสีเขียวหรือ BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจกลุ่มเอเปค ด้านพาณิชย์รับไม้จัดประชุมเศรษฐกิจการค้า 2ระดับ ทั้งระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส
ปี 2565 ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย –แปซิฟิก หรือเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ต่อจากประเทศนิวซีแลนด์ หลังจากประเทศเคยเป็นเจ้าภาพครั้งล่าสุด เมื่อปี 2546 โดย เอเปคมีสมาชิกทั้งสิ้น 21 เขตเศรษฐกิจ (20 ประเทศ 1 เขตเศรษฐกิจ) ประกอบด้วยประเทศมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่น รวมทั้งสมาชิกอาเซียน และประเทศในอเมริกาเหนือและใต้ โดยกลุ่มเศรษฐกิจเอเปคมีประชากรครอบคลุม 38.2% ของสัดส่วนประชากรโลก และมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (Gross Domestic Product : GDP) หรือมูลค่าตลาดของสินค้าและบริการรวมกันมากกว่า 60% ของ GDP โลก
การประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพได้กำหนดการประชุมตั้งแต่เดือนช่วงเดือนธ.ค. 2564 – พ.ย. 2565 ซึ่งจะมีการประชุม 15 ครั้ง ประกอบด้วยการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส 5 ครั้ง การประชุมระดับรัฐมนตรี 9 ครั้ง และการประชุมระดับผู้นำ 1 ครั้ง นอกจากนี้ ยังมีการประชุมและกิจกรรมอื่น ๆ เพิ่มเติมตามที่ส่วนราชการจะเป็นเจ้าภาพ โดยชูประเด็นหลักคือ 1. ความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างกันและการท่องเที่ยว 2. การกระตุ้นการค้าและการลงทุน 3. การพลิกโฉมเศรษฐกิจ โดยนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model)
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล ย้ำว่า การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ในปี 2565 ไทยพร้อมจะผลักดันวาระต่างๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะ BCG Economy ในระดับกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ นอกจากนี้ การฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด -19 จะเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้นำโลกจะใช้โอกาสนี้ในการประชุมหารือ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีที่ไทยจะได้แสดงศักยภาพในระดับนานาชาติ
ประเด็นในการประชุมเอเปคที่สำคัญคือ ประเด็นทางเศรษฐกิจ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์รับหน้าเสื่อเป็นแม่งานในการประชุม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ “นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม “ เผยว่า เบื้องต้นได้วางแนวทางสานต่อการต่อสู้กับโควิด 19 โดยไทยจะผลักดันทิศทางความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากผลของของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และวางแนวทางเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนประเด็นการค้าการลงทุนของเอเปคภายใต้ยุค New Normal
โดยได้เตรียมจัดการประชุมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการค้าใน 2 ระดับ 1. ระดับรัฐมนตรี ได้แก่ 1.การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (Ministers Responsible for Trade Meeting: MRT) ในเดือน พ.ค. ปี 2565 ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทยในการผลักดัน และขับเคลื่อนความร่วมมือเอเปคในเรื่องที่สำคัญ เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหลังยุคโควิด-19 การจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) เอเชีย-แปซิฟิก ในบริบทการค้ายุคใหม่ และการผลักดันให้ผู้ประกอบการ และ SME ให้ความสำคัญกับหลักการ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) ในการประกอบธุรกิจ เป็นต้น
2. ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และเจ้าหน้าที่เทคนิค เช่น การประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและ การลงทุน (Committee on Trade and Investment: CTI) ซึ่งเป็นเวทีการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และ แนวปฏิบัติที่ดีของสมาชิกเอเปค ในเรื่องการขยายการค้าการลงทุน ลดอุปสรรคทางการค้า และอํานวยความสะดวกทางการค้า การลงทุนในภูมิภาค
การประชุมกลุ่มการเปิดตลาด (Market Access Group: MAG) กลุ่มการค้าบริการ (Group on Services: GOS) และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Rights Experts' Group: IPEG) เป็นต้น ซึ่งจะเน้นการหารือเชิงเทคนิค การพิจารณาข้อริเริ่มใหม่ ๆ และการจัดสัมมนา ฝึกอบรมต่างๆ
เวทีประชุมเอเปค ถือเป็นเวทีสำคัญระดับโลกที่จะมีผู้นำทั่วโลกเข้าร่วมประชุม โดยการประชุมเอเปคล่าสุดที่ไทยจัด ย้อนกลับไปปี2546 ซึ่งครั้งนั้นบรรดาผู้นำทั่วโลกเดินทางมาร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียงถือได้ว่าปีนั้นประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพเอเปค ผ่านมา 20 ปี ไทยได้กลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในระหว่างการฟื้นฟูจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด -19 จึงเป็นโอกาสที่จะชูบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตและยั่งยืน