3 ชาติยุโรปตะวันตกเตรียมยอมรับรัฐปาเลสไตน์

3 ชาติยุโรปตะวันตกเตรียมยอมรับรัฐปาเลสไตน์

นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ และสเปนประกาศเตรียมยอมรับรัฐปาเลสไตน์ เป็นเหตุให้อิสราเอลต้องเรียกทูตกลับประเทศทันที

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน นายกรัฐมนตรีไซมอน แฮร์ริส ของ ไอร์แลนด์ ประกาศที่กรุงดับลินว่าชาติของตนจะยอมรับปาเลสไตน์ในฐานะรัฐ แต่ไม่ได้ระบุกรอบเวลา ขณะที่นายกรัฐมนตรีโจนัส แกห์ร สโตร์ของนอร์เวย์ ประกาศในกรุงออสโล และนายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชสของสเปนประกาศในกรุงแมดริดว่า จะยอมรับปาเลสไตน์เป็นรัฐในวันที่ 28 พ.ค.

ด้านอิสราเอลเรียกทูตประจำไอร์แลนด์และนอร์เวย์กลับประเทศทันที เพื่อ “ปรึกษาหารืออย่างเร่งด่วน”

“วันนี้ ผมกำลังส่งข้อความชัดเจนไปยังไอร์แลนด์และนอร์เวย์ อิสราเอลจะไม่ยอมให้เรื่องผ่านนี้ผ่านไปเงียบๆ”

อิสราเอล แคตซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลแถลงและว่า ตนวางแผนจะทำแบบเดียวกันกับทูตประจำสเปนด้วย

ก่อนหน้านั้นกระทรวงต่างประเทศอิสราเอลโพสต์คลิปวีดิโอผ่านแพลตฟอร์ม X ไปถึงไอร์แลนด์ เตือนว่า

“การยอมรับรัฐปาเลสไตน์เสี่ยงเปลี่ยนคุณให้กลายเป็นเบี้ยในมืองของอิหร่านและฮามาส ความเคลื่อนไหวนี้รังแต่จะเติมเชื้อความสุดโต่งและไร้เสถียรภาพ”

อิสราเอลกล่าวว่า แผนการยอมรับปาเลสไตน์เป็นการ “ให้รางวัลแก่การก่อการร้าย” ซึ่งจะลดโอกาสการเจรจาทางออกของสงครามในกาซา ที่เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 7 ต.ค. เมื่อกองกำลังฮามาสบุกเข้ามาทางภาคใต้ของอิสราเอล

 

ทางเลือกเดียวที่หลงเหลือ

อย่างไรก็ตาม นอร์เวย์ ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการทูตในตะวันออกกลางมานานหลายปี เคยเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาสันติภาพระหว่าง อิสราเอล-ปาเลสไตน์ ช่วงต้นทศวรรษ 1990 นำไปสู่ข้อตกลงออสโล (Oslo Accords) กล่าวว่า การยอมรับรัฐปาเลสไตน์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสนับสนุนแนวทางสายการท่ามกลางสงครามกาซา

"ท่ามกลางสงคราม ผู้คนบาดเจ็บล้มตายหลายหมื่น เราต้องรักษาทางเลือกเดียวที่ให้ทางออกทางการเมืองสำหรับชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์เอาไว้ นั่นคือการที่สองรัฐใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติและมั่นคง

 การยอมรับปาเลสไตน์เป็นหนทางสนับสนุนพลังสายกลางที่เริ่มสูญเสียที่มั่นในความขัดแย้งที่โหดร้ายและยืดเยื้อนี้

สุดท้ายแล้วนี่จะทำให้กระบวนการนำไปสู่แนวทางสองรัฐกลับมาอย่างมีพลังอีกครั้ง" สโตร์กล่าว

ด้านนายกรัฐมนตรีซานเชซของสเปน กล่าวในรัฐสภากรุงแมดริด “อังคารหน้า วันที่ 28 พ.ค. คณะรัฐมนตรีสเปนจะเห็นชอบยอมรับรัฐปาเลสไตน์” นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ทำให้แนวทางสองรัฐตกอยู่ใน “อันตราย” เพราะนโยบาย “สร้างความเจ็บปวดและทำลายล้าง” ในฉนวนกาซาของเขา

ส่วนนายกฯ แฮร์ริสของไอร์แลนด์ยกย่อง “วันสำคัญแห่งประวัติศาสตร์สำหรับไอร์แลนด์และปาเลสไตน์”

ทั้งนี้ หลายทศวรรษมาแล้วที่เชื่อกันว่า การยอมรับรัฐปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการคือทางออกของกระบวนการสันติภาพระหว่างชาวปาเลสไตน์กับเพื่อนบ้านอิสราเอล

สหรัฐและชาติยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่กล่าวว่า พวกเขายินดียอมรับรัฐปาเลสไตน์ในวันหนึ่ง แต่ต้องตกลงกันให้ได้เรื่องพรมแดนสุดท้ายและสถานะของเยรูซาเล็มที่ล้วนเป็นประเด็นสำคัญเสียก่อน

แต่หลังจากฮามาสโจมตีเมื่อวันที่ 7 ต.ค.แล้วอิสราเอลเอาคืนในกาซา เหล่านักการทูตเริ่มคิดเรื่องนี้อีกครั้ง

ในปี 2557สวีเดน ซึ่งมีชุมชนชาวปาเลสไตน์ขนาดใหญ่ในประเทศ เป็นยุโรปตะวันตกชาติแรกในสหภาพยุโรปที่ยอมรับรัฐปาเลสไตน์ ที่ก่อนหน้านั้นมีหกประเทศยุโรปเท่านั้นที่ยอมรับ ได้แก่ บัลแกเรีย ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี โปแลนด์ และโรมาเนีย