ชาวบ้านไม่ทน! โต้กลับ ‘นักท่องเที่ยวล้นเมือง’

ชาวบ้านไม่ทน! โต้กลับ ‘นักท่องเที่ยวล้นเมือง’

เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งต้องการสร้างรายได้อย่างรวดเร็ว “การท่องเที่ยว” ถือเป็นตัวเลือกที่ดีเพราะทำได้ง่าย อาศัยทุนทางธรรมชาติที่มีอยู่เดิมดึงคนต่างถิ่นมาเยี่ยมเยือน

แต่จะเป็นอย่างไรถ้านักท่องเที่ยวนิยมมากันมากจนชาวบ้านเดือดร้อน ถือเป็นบทเรียนที่ประเทศพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ควรมองข้าม

ญี่ปุ่นถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งของคนไทย กรณีล่าสุดเกิดขึ้นที่เมืองเมืองฟูจิคาวากุจิโกะ  ทางการเตรียมตั้งฉากกั้นสีดำขนาดใหญ่ ความสูง 2.5 เมตร ยาว 20 เมตรเท่าสนามคริกเก็ตบังหน้าร้านสะดวกซื้อลอว์สัน ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปหน้าร้านโดยมีฉากหลังเป็นภาพภูเขาไฟฟูจิอลังการ

จริงๆ แล้วเมืองฟูจิคาวากุจิโกะมีมุมให้ถ่ายรูปภูเขาไฟฟูจิได้มากมาย แต่หน้าร้านลอว์สันแห่งนี้ถือเป็นวิวมหาชนจากความแตกต่างกันสุดขั้วระหว่างธรรมชาติอย่างภูเขาไฟกับร้านสะดวกซื้อที่มนุษย์สร้างขึ้น

“ชาวเน็ตไปแชร์ต่อๆ กันว่า มุมนี้แหละถึงจะเป็นญี่ปุ่นจริงๆ ทำให้ผู้คนนิยมมาถ่ายรูปตรงนี้” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีและว่า ทางการเสียใจจริงๆ ที่ต้องทำเช่นนี้ แต่นักท่องเที่ยวบางคนก็เหลือเกิน “ไม่เคารพกฎระเบียบอะไรเลย ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด ไม่สนใจกฎจราจร” ชาวบ้านไม่ทน! โต้กลับ ‘นักท่องเที่ยวล้นเมือง’

พฤติกรรมดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไปมุงกันอยู่ตรงทางเดินติดกับร้านลอว์สัน ติดป้ายเตือนก็แล้ว ให้เจ้าหน้าที่เตือนก็แล้วยังทำหูทวนลม สุดท้ายทางการต้องใช้วิธีขึ้นฉากกั้นปิดวิวเสียเลย ซึ่งมาตรการนี้ยังช่วยป้องกันคลินิกทันตกรรมใกล้เคียงจากนักท่องเที่ยวได้ด้วย เพราะหลายครั้งที่นักท่องเที่ยวไปจอดรถหน้าคลินิกโดยไม่ได้รับอนุญาต ปีนป่ายบนหลังคาคลินิกเพื่อถ่ายภาพได้วิวงดงามที่สุด จึงถึงคราวที่เมืองฟูจิคาวากุจิโกะต้องแก้ปัญหา ส่วนฉากกั้นจะคงไว้นานแค่ไหนก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์

  • เกียวโตห้ามเข้าเขตเกอิชา

เมื่อเดือน มี.ค. สภาท้องถิ่น จ.เกียวโต เตรียมห้ามนักท่องเที่ยวไม่ให้เข้าไปในตรอกซอกซอยย่านกิออน จ.เกียวโต  ซึ่งเป็นเขตที่เกอิชาทำงาน หลังนักท่องเที่ยวคุกคามเกอิชามากขึ้น โดยสภาท้องถิ่นจะทำการปิดล้อมพื้นที่ตรอกซอยต่าง ๆ ในย่านกิออน ซึ่งเต็มไปด้วยร้านอาหารและร้านน้ำชาที่เกอิชาทำงาน อนุญาตให้เข้าได้เฉพาะเกอิชา ลูกค้า และคนในพื้นที่เท่านั้น

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นมาตรการปกป้องเกอิชาหลังจากสภาท้องถิ่น และรัฐบาลออกมาตรการจำกัดนักท่องเที่ยวในพื้นที่มานานสิบปี เนื่องจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาก และ “ปาปารัซซีเกอิชา” ได้สร้างความยากลำบากให้กับสาว ๆ ในพื้นที่ดังกล่าว

เซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์ เผยว่า ย่านกิออนมักเกิดเหตุกลุ่มนักท่องเที่ยวปิดกั้นเส้นทางการทำงานของเกอิชา เพราะมีแต่คนเข้าไปขอถ่ายรูปหญิงสาวที่ใส่ชุดกิโมโน

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่านักท่องเที่ยวบางคนอยากให้เกอิชาโพสต์ท่าถ่ายรูป และขอให้พวกเธอหยุดเดินไปยังร้านชาที่เธอนัดหมายลูกค้าไว้

นักท่องเที่ยวไม่ได้รบกวนแค่เกอิชาเท่านั้น หลายคนยังไปจับโคมไฟที่แขวนนอกร้านอาหารและร้านน้ำชา หรือเข้าไปในพื้นที่ส่วนบุคคลเพื่อถ่ายรูปก็มี

  • รถโดยสารสาธารณะแออัด 

ชีวิตชาวเกียวโตไม่สะดวกสบายอีกต่อไป เมื่อต้องยืนรอรถโดยสารสาธารณะ 3-4 คัน กว่าจะได้ใช้บริการ แต่เมื่อได้ขึ้นแล้วก็ไม่ได้นั่ง แถมยังต้องเบียดเสียดไปกับผู้โดยสารคนอื่น ๆ รวมถึงกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ของบรรดานักท่องเที่ยวด้วย

 ปัญหาการใช้รถโดยสารสาธารณะย่ำแย่ลงไปอีก เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของจ.เกียวโตตึงเครียดมากขึ้น ความไม่พอใจของประชาชนในพื้นที่ ถึงขั้นหนุนผู้ลงสมัครนายกเทศมนตรีคนใหม่ที่หาเสียงโดยให้คำมั่นว่าจะจัดการปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมืองได้คว้าชัยชนะเลือกตั้งเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

“โคจิ มัตสึอิ” ผู้ลงสมัครอิสระที่เคยเป็นรองหัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเผยว่า ตนได้รับคำร้องเรียนมากมายจากคนท้องถิ่น ขอให้ทำให้อะไรสักอย่างเกี่ยวกับขนส่งสาธารณะ   เนื่องจากโครงสร้างของเกียวโตนั้นสถานที่ท่องเที่ยวและพื้นที่ที่คนในท้องถิ่นใช้ชีวิตมีความทับซ้อนกันมาก"

 ทั้งนี้ จ.เกียวโต ซึ่งมีประชากรราว 2.5 ล้านคนนั้น มีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักมาถึง 32 ล้านคนในปี 2566 ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่านักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลพวงเงินเยนอ่อนค่า

  • นักท่องเที่ยวเดือน มี.ค.ทุบสถิติ

จะว่าไปแล้วการท่องเที่ยวญี่ปุ่นประสบความสำเร็จมากจริงๆ ข้อมูลจากองค์การการท่องเที่ยวแห่งชาติญี่ปุ่น (เจเอ็นทีโอ) เผยว่า ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมายอดนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 3.08 ล้านคน เพิ่มขึ้น 69.5% จาก มี.ค.2566 และเพิ่มขึ้น 11.6% เมื่อเทียบกับ มี.ค.2562 ก่อนโควิด-19 เล่นงานการท่องเที่ยวโลก ถือเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบหนึ่งเดือน และเป็นครั้งแรกที่จำนวนนักท่องเที่ยวเกิน 3 ล้านคน

ปัจจัยที่สนับสนุนนอกเหนือจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังได้ฤดูกาลซากุระบานและวันหยุดอีสเตอร์มาเป็นตัวช่วย  ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทุบสถิตินี้มีทั้งจากอินเดีย เยอรมนี ไต้หวัน และสหรัฐ

  • เก็บค่าธรรมเนียมขึ้นภูเขาไฟฟูจิ

ฤดูร้อนนี้ญี่ปุ่นจะเก็บค่าธรรมเนียมขึ้นภูเขาไฟฟูจิคนละ 13 ดอลลาร์ เพื่อควบคุมจำนวนไม่ให้แออัดและยกระดับความปลอดภัย

ขณะที่นายกเทศมนตรีเมืองโอซากาเผยว่า กำลังพิจารณาเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวต่างชาติแยกต่างหากจากภาษีการเข้าพักโรงแรมที่เก็บอยู่ในปัจจุบัน

เรื่องราวของญี่ปุ่นถือเป็นบทเรียนของการท่องเที่ยวมหาชนล้นหลามจนสร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าถิ่น

  • เวนิซเก็บค่าเข้าเมือง

แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของยุโรปประสบปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมืองเช่นเดียวกัน อย่างเมืองเวนิซของอิตาลีรุนแรงถึงขนาดชาวบ้านต้องย้ายหนีนักท่องเที่ยวไปอยู่ที่อื่น ช่วงทศวรรษ 1970 “เซ็นโตร สโตริโก” เกาะหลักและศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์ของเวนิซมีผู้อยู่อาศัยราว 175,000 คน แต่ปี 2566 ตัวเลขเหลือไม่ถึง 50,000 คน 

ขณะที่การท่องเที่ยวเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้อยู่อาศัยต้องย้ายออกเพราะแรงกดดันทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ตอนนี้เวนิซจึงมีเตียงนักท่องเที่ยวมากกว่าชาวบ้านเสียอีก ในปี 2566 ผู้คนกว่า 20 ล้านคนมาเดินลัดเลาะในพื้นที่ 2 ตารางไมล์ของเวนิซ

เหตุนี้เองทางการต้องออกมาตรการรับมือนักท่องเที่ยวล้นด้วยการเก็บค่าธรรมเนียม ใครอยากเข้ามาเที่ยวเวนิซก็ต้องจ่าย 5 ยูโรต่อคนต่อวัน มีผลตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.

ลุยจิ บรูญาโร นายกเทศมนตรีเวนิซ ระบุ การเก็บค่าธรรมเนียม “เป้าหมายไม่ได้ปิดเมือง แต่ไม่ปล่อยให้เมืองระเบิด”

  • ชาวหมู่เกาะคานารีประท้วง

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ชาวหมู่เกาะคานารี ในมหาสมุทรแอตแลนติกของสเปนราว 57,000 คน ลงถนนประท้วงการท่องเที่ยวเน้นปริมาณทำให้นักท่องเที่ยวแน่นขนัดเต็มเกาะ

สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่า ชาวบ้านรวมตัวกันแน่นขนัดในเมืองหลักทั้ง 7 เกาะ ชูป้ายเขียนข้อความ “หมู่เกาะคานารีไม่ได้มีไว้ขาย!” “ระงับการท่องเที่ยว” และ “เคารพบ้านฉันด้วย”

“นี่ไม่ใช่ข้อความต่อต้านนักท่องเที่ยว แต่เราต่อต้านการท่องเที่ยวที่ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่และจำเป็นต้องเปลี่ยน” ผู้ประท้วงคนหนึ่งเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์

การประท้วงครั้งนี้นัดหมายโดยกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมและสิ่งแวดล้อมราว 20 กลุ่ม อ้างว่า นักท่องเที่ยวที่หนาแน่นสร้างตัวแบบเศรษฐกิจที่เป็นอันตรายต่อคนท้องถิ่นทั้งยังทำลายสิ่งแวดล้อม