มติหยุดยิง UNSC ‘บทพิสูจน์สหรัฐ’ สนับสนุนหรือ ‘หักสัมพันธ์’ กับอิสราเอล

มติหยุดยิง UNSC ‘บทพิสูจน์สหรัฐ’ สนับสนุนหรือ ‘หักสัมพันธ์’ กับอิสราเอล

การพิสูจน์จุดยืนของสหรัฐที่แท้จริงคือดูว่า สหรัฐจะส่งมอบอาวุธตามที่อิสราเอลร้องขอหรือไม่ ซึ่งการเยือนวอชิงตันของรมว.กลาโหมอิสราเอลน่าจับตา เพราะอาจมีการขออาวุธเฉพาะจากสหรัฐเพื่อนำไปใช้ในสงคราม

ความสัมพันธ์ระหว่าง “ประธานาธิบดีโจ ไบเดน“ แห่งสหรัฐ และ “นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู” ของอิสราเอล ดิ่งถึงจุดต่ำสุด เมื่อสหรัฐยอมให้มีการผ่านมติหยุดยิงในกาซาในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) เมื่อวันจันทร์ (25 มี.ค.) และสหรัฐถูกผู้นำอิสราเอลตำหนิอย่างรุนแรง

สำนักข่าวอัลจาซีราห์รายงานว่า สมาชิกคณะมนตรีฯ 14 คน จาก 15 คน มีมติเห็นพ้องให้อิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสหยุดยิงในกาซาทันทีและขอให้ปล่อยตัวประกันทั้งหมด ขณะที่ฝ่ายสหรัฐ “งดออกเสียง

ท่าทีของสหรัฐครั้งนี้ยังถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐในฐานะ 1 ใน 5 ชาติสมาชิกถาวรของยูเอ็นเอสซี “ไม่ใช้สิทธิวีโต้” ในการลงมติเรียกร้องข้อตกลงหยุดยิง หลังจากที่สหรัฐเคยใช้สิทธินี้มาหลายครั้ง และทำให้ที่ประชุมยูเอ็นเอสซีไม่สามารถผ่านมติหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับฮามาสออกมาได้

หลังจากสหรัฐงดออกเสียง เนทันยาฮูตอบโต้ด้วยการยกเลิกส่งคณะผู้แทนระดับสูงเยือนกรุงวอชิงตัน เพื่อหารือเกี่ยวกับการรุกพื้นที่ราฟาห์ ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา

สำนักนายกรัฐมนตรีของเบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯอิสราเอล ระบุว่า ความล้มเหลวในการยับยั้งมติยูเอ็นเอสซีของสหรัฐ เป็นการถอยจากจุดยืนที่เคยชัดเจน และอาจทำลายความพยายามทำสงครามกับกลุ่มฮามาส รวมถึงความพยายามปล่อยตัวประกันอิสราเอลในกาซา เมื่อพิจารณาถึงจุดยืนใหม่ของสหรัฐ เนทันยาฮูจึงไม่ส่งคณะผู้แทนระดับสูงไปกรุงวอชิงตันดีซี

อิสราเอลไม่ไว้หน้าไบเดน

อดัม ชาปิโร นักวิเคราะห์ทางการเมือง เผยกับอัลจาซีราห์ว่า การตอบโต้ของเนทันยาฮูดังกล่าวเหมือนเป็นการ “ตบหน้า” ไบเดน

“ณ จุดนี้ สหรัฐไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ และล้มเหลวในการบรรลุวัตถุประสงค์เชิงนโยบายอย่างสิ้นเชิง” ชาปิโรกล่าว

ขณะที่ “แนนซี โอไคล์” ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายระหว่างประเทศ สถาบันคลังสมองของสหรัฐบอกว่า สถานการณ์นี้ตึงเครียดไปไกลจากตอนที่เนทันยาฮูดูหมิ่นขอเรียกร้องของสหรัฐอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก

ด้านรอยเตอร์ระบุว่า การระงับการหารือระหว่างกัน ถือเป็นอุสรรคใหม่ต่อความพยายามของสหรัฐในการผลักดันให้นายกฯอิสราเอลพิจารณาทางเลือกอื่นแทนการรุกพื้นที่เมืองราฟาห์ เนื่องจากมีความกังวลว่าวิกฤติด้านมุนษยธรรมในกาซาอาจรุนแรงขึ้น

แผนการบุกรุกพื้นที่ดังกล่าวได้สร้างความตึงเครียดระหว่างพันธมิตรเก่าแก่อย่างสหรัฐและอิสราเอลมากขึ้น และเกิดคำถามว่า สหรัฐจะจำกัดการช่วยเหลือทางทหารแก่อิสราเอลหรือไม่ หากเนทันยาฮูท้าทายไบเดนและเดินหน้าภารกิจของตนเองต่อไป

“อารอน เดวิด มิลเลอร์” อดีตนักเจรจาไกล่เกลี่ยในตะวันออกกลางของรัฐบาลสหรัฐทั้งในยุครีพับลิกันและเดโมแครต กล่าวว่า

“สถานการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นระหว่างรัฐบาลไบเดนและเนทันยาฮูอาจพังทลาย หากวิกฤตินี้ไม่ได้รับการจัดการอย่างระมัดระวัง และจะยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก”

อย่างไรก็ตาม“จอน อัลเทอร์แมน” ผู้อำนวยการโครงการตะวันออกกลาง จากศูนย์ยุทธศาสตร์และการต่างประเทศศึกษาซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองในกรุงวอชิงตัน บอกว่า ไม่มีเหตุผลที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะหมดไป

สอดคล้องกับที่ “จอห์น เคอร์บี” โฆษกทำเนียบขาวเผยว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐยังคงมีกำหนดหารือกับโยอาฟ แกลแลนท์ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอลที่อยู่ในกรุงวอชิงตันขณะนี้ในหลายประเด็น อาทิ ตัวประกัน, การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการปกป้องพลเรือนในราฟาห์

พิสูจน์จุดยืนสหรัฐ

ทาริก เคนนีย์-ชาวา นักวิชาการด้านนโยบายสหรัฐจากอัล-ชาบาคา สถาบันคลังสมองของปาเลสไตน์เผยผ่านอีเมลกับอัลจาซีราห์ว่า การพิสูจน์จุดยืนของสหรัฐที่แท้จริงคือดูว่า สหรัฐจะส่งมอบอาวุธตามที่อิสราเอลขอหรือไม่ ซึ่งการเยือนวอชิงตันของรมว.กลาโหมอิสราเอลน่าจับตา เพราะอาจมีการขออาวุธเฉพาะจากสหรัฐเพื่อนำไปใช้ในสงคราม

เคนนีย์-ชาวา ระบุว่า นโยบายจัดหาอาวุธเฉพาะให้อิสราเอลตามที่เนทันยาฮูต้องการใช้โจมตีกาซานั้น ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 แล้วเขาจึงมองว่าแนวโน้มสนับสนุนหยุดยิงของสหรัฐเป็นแค่ “กระแส

“รัฐบาลไบเดน ดำเนินการตามสิ่งที่มองว่าเป็นแนวทางที่จำเป็นต่อการทำให้รัฐบาลดูเหมือนว่าพยายามทำทุกวิถีทางที่สามารถทำได้แล้วเพื่อยับยั้งการทำสงครามของอิสราเอล แต่ในความเป็นจริง พวกเขากำลังอำนวยความสะดวก และหนุนให้อิสราเอลเดินหน้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และสหรัฐยังไม่ดำเนินการอะไรที่เป็นรูปธรรมต่อการทำสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของอิสราเอล”

อย่างไรก็ตาม โอไคล์ มองว่า มติเกี่ยวกับการหยุดยิงในวันจันทร์มีความสำคัญ เพราะทำให้เห็นว่านโยบายสหรัฐมีแนวโน้มสนับสนุนการยุติสงคราม และต่อต้านการคุกคามของเนทันยาฮู แต่มตินี้ยังไม่เพียงพอ สหรัฐต้องมีมาตรการที่เป็นรูปธรรม เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสหรัฐสนับสนุนการหยุดยิงและสร้างความมั่นใจว่าให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวปาเลสไตน์มากพอและทันเวลา

“ดังนั้นต้องดูว่า สหรัฐจะดำเนินการจัดส่งอาวุธให้อิสราเอลต่อไปหรือไม่” โอไคล์ย้ำ

ด้านชาปิโรบอกว่า “การตัดสินใจขึ้นอยู่กับรัฐบาลไบเดน และพวกเขามีทางเลือก” ซึ่งหมายถึงการระงับความช่วยเหลือและส่งอาวุธให้อิสราเอล

“มีทางเลือกมากมายที่อาจทำให้รัฐบาลไบเดนได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอเมริกันล้นหลาม ถ้าพวกเขาเลือกที่จะใช้มัน”