ทูตฝรั่งเศสด้านสิทธิ LGBTQ+ ร่วมประชุม 'กฎหมายสมรสเท่าเทียมไทย' 19-20 มี.ค.

ทูตฝรั่งเศสด้านสิทธิ LGBTQ+ ร่วมประชุม 'กฎหมายสมรสเท่าเทียมไทย' 19-20 มี.ค.

ฌ็อง-มาร์ก แบร์ตง (Jean-Marc Berthon) เอกอัครราชทูตด้านสิทธิของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ของฝรั่งเศส เตรียมเดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับ "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" ในวันที่ 19-20 มี.ค. นี้

ฌ็อง-มาร์ก แบร์ตง (Jean-Marc Berthon) เอกอัครราชทูตด้านสิทธิของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตด้านสิทธิของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศคนแรกของฝรั่งเศส ได้รับแต่งตั้งเมื่อเดือนต.ค.ปี 2565 มีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18-20 มีนาคม 2567 นี้ เพื่อเข้าร่วมการประชุม เรื่อง “กฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศฝรั่งเศสและในประเทศไทย” ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยร่วมกับกระทรวงยุติธรรมสาธารณรัฐฝรั่งเศส กระทรวงยุติธรรมไทย และองค์กร Continental Law Foundation (Fondation pour le droit continental) สาธารณรัฐฝรั่งเศส จัดขึ้นในวันอังคารที่ 19 มี.ค. 2567 เวลา 13.00-18.00 น. ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ เนื่องในสัปดาห์กฎหมายและความยุติธรรมฝรั่งเศส-ไทย ครั้งที่ 1

นอกจากนี้ ฌ็อง-มาร์ก แบร์ตง ยังมีกำหนดเข้าเยี่ยมคารวะและพบหารือกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ณ อาคารรัฐสภา รวมทั้งเข้าพบชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึงหารือกับองค์กรภาคประชาสังคม

ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตด้านสิทธิของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเพื่อทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 2556 และครบรอบการประกาศใช้เป็นปีที่ 10 เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา การเยือนไทยครั้งนี้ของเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสด้านสิทธิของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ จึงเป็นโอกาสในการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของฝรั่งเศสเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไทย มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 369 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566

หากร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาไทยและประกาศใช้เป็นกฎหมาย จะทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหนึ่งในประเทศแรกในเอเชียที่มีกฎหมายรับรองการสมรสระหว่างเพศเดียวกัน

ทั้งนี้ การประชุม เรื่อง “กฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศฝรั่งเศสและในประเทศไทย” ได้มีการเชิญเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม หรือมอบหมายผู้แทนกล่าวเปิดการประชุม ร่วมกับฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ (Jean-Claude Poimbœuf) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย โดยมีฌ็อง-มาร์ก แบร์ตง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสด้านสิทธิของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวปิดการประชุม

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจะมีการหารือในประเด็นต่าง ๆ เช่น ที่มาและความท้าทายในการออกกฎหมายรับรองการสมรสระหว่างเพศเดียวกันในประเทศฝรั่งเศสและในประเทศไทย แนวปฏิบัติในเขตอำนาจศาลที่เกี่ยวข้องกับการสมรสระหว่างเพศเดียวกัน โดยมีผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสและชาวไทยร่วมเป็นวิทยากร เช่น

- นางคริสตียาน โตบีรา (Christiane Taubira) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สาธารณรัฐฝรั่งเศส ผู้เสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาฝรั่งเศส เมื่อปี 2556 (กล่าวบรรยายผ่านระบบการประชุมออนไลน์)

- ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศวิถีหรือัตลักษณ์ทางเพศแห่งสหประชาชาติ

- นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คนที่หนึ่ง

- นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

- นางเอดิต โลแน (Edith Launay) ตุลาการ ผู้ช่วยรองอธิบดีฝ่ายกฎหมายแพ่ง กรมการแพ่งและการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม สาธารณรัฐฝรั่งเศส

- นางกูแวโนลา ฌอลี โกซ (Gwenola Joly Coz) ประธานศาลอุทธรณ์เมืองปัวตีเย สาธารณรัฐฝรั่งเศส คนที่หนึ่ง

- นายเอริก กอร์โบ (Eric Corbaux) อัยการสูงสุดศาลอุทธรณ์เมืองปัวตีเย สาธารณรัฐฝรั่งเศส

- นางฟลอรา บอลแตร์ (Flora Bolter) ผู้อำนวยการร่วม กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อสิทธิของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI+ Observatory) องค์กร ฟงดาซียง ฌ็อง โฌแร็ส (Fondation Jean-Jaurès) (กล่าวบรรยายผ่านระบบการประชุมออนไลน์)

 

อนึ่ง สัปดาห์กฎหมายและความยุติธรรมฝรั่งเศส-ไทย ครั้งที่ 1 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “กฎหมายเพื่อความเสมอภาคและความหลากหลาย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสและชาวไทยได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในประเด็นหารือต่าง ๆ ซึ่งในครั้งนี้ มีการจัดการประชุม 2 เรื่อง ได้แก่ “กฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศฝรั่งเศสและในประเทศไทย” ในวันอังคารที่ 19 มี.ค. 2567 และ “การต่อต้านความรุนแรงในครอบครัวในประเทศไทยและในประเทศฝรั่งเศส” ในวันพุธที่ 20 มี.ค. 2567 โดยการประชุมทั้ง 2 เรื่องมีขึ้นระหว่างเวลา 13.00-18.00 น. ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ และมีการแปลภาษาโดยล่ามพูดพร้อมภาษาฝรั่งเศส-ไทย/ ไทย-ฝรั่งเศส