"บิตคอยน์" สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พึงสังวร

"บิตคอยน์" สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พึงสังวร

ในยุค ESG (Environmental Social Governance) ที่เน้นการลงทุนแบบยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและมีธรรมภิบาลนั้น บิตคอยน์ถูกตั้งคำถามเป็นอย่างมาก  แม้คนเล่นบิตคอยน์อาจไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ แต่การลงทุนขุดบิตคอยน์ทำลายสิ่งแวดล้อมหนักมาก

เมื่อปลายปี 2566 หรือราว 6 เดือนก่อนมีการเผยแพร่ผลการศึกษาของสหประชาชาติเรื่องผลกระทบของบิตคอยน์ต่อสิ่งแวดล้อมที่ซ่อนอยู่: คาร์บอนไม่ใช่เพียงผลพลอยได้ที่เป็นอันตรายเท่านั้น ที่รายงานโดยสถาบันน้ำ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ มหาวิทยาลัยแห่งสหประชาชาติ

ชี้ว่าการขุดบิตคอยน์ทั่วโลกนั้นขึ้นอยู่กับเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นอย่างมาก โดยมีผลกระทบที่น่ากังวลต่อน้ำและที่ดิน นอกเหนือจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างมีนัยสำคัญ

บิตคอยน์ได้รับความเชื่อถือจากนักลงทุนชั้นนำของโลก ตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่และเศรษฐีด้านเทคโนโลยี ไปจนถึงอาชญากร และผู้ฟอกเงิน (เพราะไม่มีการเปิดเผยชื่อ-สกุลจริงของคนซื้อ-ขาย)

อย่างไรก็ตามการขุดบิตคอยน์ อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญต่อสภาพภูมิอากาศ น้ำ และที่ดิน ทั้งนี้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนมาก

คณะผู้ศึกษาไม่ได้ต่อต้านบิตคอยน์แต่ควรมีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการขุดโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ตามผลการศึกษาเครือข่ายการขุดบิตคอยน์ทั่วโลกใช้ไฟฟ้า 173.42 เทราวัตต์ชั่วโมง ซึ่งหมายความว่าหากบิตคอยน์เป็นประเทศหนึ่ง การใช้พลังงานจะอยู่ในอันดับที่ 27 ของโลก นำหน้าประเทศอย่างปากีสถาน ซึ่งมีประชากรมากกว่า 230 ล้านคน

ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่วัดผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อระบบสิ่งแวดล้อม (Carbon Footprint) ที่เกิดขึ้นนั้นเทียบเท่ากับการเผาไหม้ถ่านหินจำนวน 84 พันล้านปอนด์ หรือการดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง 190 แห่ง

เพื่อชดเชยการนี้ ควรปลูกต้นไม้ 3.9 พันล้านต้น ครอบคลุมพื้นที่เกือบเท่ากับพื้นที่ของเนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ หรือเดนมาร์ก หรือ 7% ของป่าฝนอเมซอน

ยิ่งกว่านั้นผลกระทบต่อน้ำก็พอๆ กับปริมาณน้ำที่ต้องใช้ในการเติมสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิกกว่า 660,000 สระ ซึ่งเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการน้ำในประเทศในปัจจุบันของผู้คนมากกว่า 300 ล้านคนในชนบททางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา แอฟริกา

ส่วนผลกระทบต่อที่ดินในกิจกรรมการขุดบิตคอยน์ทั่วโลกเท่ากับ 1.4 เท่าของพื้นที่นครลอสแองเจลิส 

\"บิตคอยน์\" สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พึงสังวร

การขุดบิตคอยน์ต้องอาศัยแหล่งพลังงานฟอสซิลเป็นอย่างมาก (รวม 67%) โดยถ่านหินคิดเป็น 45% ของแหล่งพลังงานของบิตคอยน์ตามด้วยก๊าซธรรมชาติ (21%) ไฟฟ้าพลังน้ำ แหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีผลกระทบต่อน้ำและสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ

เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญที่สุดของเครือข่ายการขุดบิตคอยน์ซึ่งตอบสนองความต้องการไฟฟ้าได้ถึง 16% พลังงานนิวเคลียร์มีส่วนแบ่งอย่างมากถึง 9% ในการจัดหาพลังงานของบิตคอยน์ในขณะที่พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และลมให้พลังงานไฟฟ้าเพียง 2% และ 5% ของพลังงานทั้งหมดที่บิตคอยน์ใช้ 

สิ่งที่ควรทำก็คือ

1. รัฐบาลควรตรวจสอบและบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสกุลเงินดิจิทัล 

2. นักลงทุนควรลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลประเภทอื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในแง่ของการใช้พลังงานและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

หลัง Bitcoin Halving เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2567 ปรากฏว่าต้นทุนการขุดบิตคอยน์ใหม่สูงกว่าราคาบิทคอยน์ที่ซื้อขายกันในท้องตลาดแล้ว และขณะนี้เหลือบิตคอยน์ที่ยังไม่ได้ขุดอีกราว 2 ล้านจาก 21 ล้านเหรียญ หรือเกือบ 10%

\"บิตคอยน์\" สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พึงสังวร

ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ

1. อาจเป็นข้ออ้างว่าอุปทานน้อย ราคาบิตคอยน์จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

2. ถือเป็นโอกาสที่พวกที่ต้องการขายเพื่อทำกำไร ได้ฉวยขายเพื่อทำกำไร

3. นักขุดรายเล็กๆ จะไม่รอด เหลือแต่รายใหญ่ ทำให้บิตคอยน์ถูกผูกขาดกินรวบโดยคนกลุ่มน้อยยิ่งขึ้น

4. นาย “ซาโตชิ นากาโมโตะ” ผู้สร้างบิตคอยน์ยังถืออยู่ 1.1 ล้านเหรียญจาก 22,000 บัญชี นี่จึงถือเป็นการสร้างความรวยได้อย่างยิ่งใหญ่ และยิ่งรวยก็คงยิ่งมีอำนาจทางการเมืองในอนาคต

ในกรณีความรวยขอนายซาโตชิ บางคนก็ออกมาแก้ต่างให้ว่านายอีลอน มัสก์ บ้างแก้ตัวให้ซาโตชิว่าอีลอนก็รวยเร็วเช่นกัน กรณีนี้คงไม่ใช่ นายอีลอน มัสก์ รวมต่อเนื่องมา 30 ปีแล้ว โดยเมื่อ 25 ปีก่อน (พ.ศ.2542) ก็ขายกิจการได้เงินมา 11,000 ล้านบาทแล้ว แต่ในกรณีนายซาโตชิที่เพียงสร้างบิตคอยน์ขึ้นมา และชักชวนคนมาเล่นกัน กลับอยู่เฉยๆ รวยติดอันดับโลกภายในเวลาเพียง 15 ปี 

อันที่จริงนายอีลอน มัสก์ยังได้สร้างสรรค์สินค้าและบริการออกมาให้ประชาชนได้ใช้ แต่นายซาโตชิ เพียงแต่สร้างบิตคอยน์ออกมาเท่านั้น

อย่างไรก็ตามบางคนอาจแย้งว่าเหมืองทองคำ ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่งก็ทำลายสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน อันที่จริงการขุดหาสินแร่ใดๆ ก็สามารถทำลายสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน อยู่ที่การป้องกัน แม้แต่การขุดหาถ่านหินก็สามารถทำเหมืองถ่านหินอย่างยั่งยืนได้

ผิดกับบิตคอยน์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากมาย ในกรณีขุดทอง ก็ไม่ได้ใช้ไฟฟ้ามากมายขนาดมหาศาลเยี่ยงการขุดบิตคอยน์ การทำเหมืองทองคำยังต้องมีค่าภาคหลวงหรือค่าสัมปทานในการขุด ขุดได้แล้วยังมีภาษีเงินได้เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่บิตคอยน์ไม่เคยต้องเสียภาษีเหล่านี้

บางคนมองว่าระบบธนาคารและกลไกของรัฐทั่วโลกล้มเหลว คิดว่าบิตคอยน์เป็นอนาคตของเงิน  ส่วนเงินกระดาษทั่วไปถึงจุดสิ้นสุดของสกุลเงิน

\"บิตคอยน์\" สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พึงสังวร

แต่ในความเป็นจริง ตราบใดที่โลกยังมีรัฐบาลที่มีอำนาจในการเก็บภาษีและการใช้จ่าย สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น  รัฐบาลจัดเก็บภาษีในสกุลเงินเดียวกัน (สร้างความรับผิดชอบต่อผู้เสียภาษี) และใช้เงินนั้นเพื่อจ่ายเงินให้กับข้าราชการและจัดหาสินค้าและบริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน

เช่น การศึกษา การดูแลสุขภาพ หรือสาธารณูปโภค หรือแจกเป็นสวัสดิการ ที่ประชาชนยากจนสามารถใช้จ่ายได้ ทำให้สกุลเงินมีบทบาทหลักในฐานะหน่วยบัญชี  ท่านจะไม่เห็นบริษัทหรือผู้คนกรอกแบบฟอร์มการคืนภาษีเป็นบิตคอยน์

ยิ่งกว่านั้น ดร.เซเฟเดียน แอมมัส (Saifedean Ammous) ผู้เขียนหนังสือ The Bitcoin Standard: the Decentralized Alternative to Central Banking ยังเคยบอกว่าเงินด้อยค่าลง 14% ต่อปี ซึ่งหากศึกษาจากข้อมูลของ Broad Money Growth ของธนาคารโลก ก็อาจไม่เช่นนั้น กล่าวคือ

1. หากนำตัวเลขของอัตราเพิ่มของอุปทานเงินต่อปีตั้งแต่ปี 2503-2565 มาเฉลี่ยก็จะเป็นอัตราเพิ่มถึง 29.5% สูบงกว่าที่ ดร.เซเฟเดียนกล่าวถึง 14% เสียอีก

2. อย่างไรก็ตาม เมื่อตัดข้อมูลที่เป็น Outliers ออกไปเพราะมีการเพิ่มขึ้นของบางประเทศเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่นเปอร์เซ็นต์รวมทั้งที่ลดลงอย่างฮวบฮาบในช่วงหลังวิกฤติของบางประเทศ ก็จะได้ค่าที่ 16.3% ใกล้เคียงกับของ ดร.เซเฟเดียน

3. และเมื่อพิจารณาในรายละเอียดโดยถ่วงน้ำหนักขนาดความมั่งคั่งของแต่ละประเทศแล้ว และดูเฉพาะในช่วง 15 ปีหลังที่เศรษฐกิจได้รับการจัดระเบียบมากกว่าในช่วงแรกๆ ที่มีสงครามเย็นและปัญหาความขัดแย้งรุนแรงอื่นที่ควบคุมได้ยาก ก็จะพบว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเป็นเพียง 9.4% เท่านั้น

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาที่ถูกหาว่าพิมพ์ “แบงค์กงเต็ก” ออกมามหาศาล ก็มีการเพิ่มอุปทานเงินเพียง 6.2% ต่อปีโดยเฉลี่ยเท่านั้น  การอ้างอุปทานเงินมาก ทำให้เงินเฟ้อจึงไม่เป็นความจริง และที่สำคัญอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสุทธิของทั่วโลกก็ยังเติบโตที่ 2.9% (หักเงินเฟ้อแล้ว)

ด้วยเหตุนี้ในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ผู้เขียนจึงมองว่าบิตคอยน์ไม่ใช่ทรัพย์สิน แต่มีราคาที่ขึ้นอยู่กับการซื้อขายเก็งกำไรเท่านั้น

\"บิตคอยน์\" สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พึงสังวร

คอลัมน์ อสังหาริมทรัพย์ต่างแดน

ดร.โสภณ พรโชคชัย 

ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย 

บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส 

www.area.co.th