เทศกาล ‘ชายเปลือย’ วัดโคคุเซกิ เจอวิกฤติสูงวัย ไปต่อไม่ไหว เลิกจัด!

เทศกาล ‘ชายเปลือย’ วัดโคคุเซกิ เจอวิกฤติสูงวัย  ไปต่อไม่ไหว เลิกจัด!

เทศกาลชายเปลือย “โซมินไซ” วัดโคคุเซกิของญี่ปุ่นที่จัดต่อเนื่องกันมานับพันปี ถึงเวลายุติ ปีนี้เป็นปีสุดท้ายผู้จัดยอมรับว่าเป็นภาระหนักสำหรับผู้จัดงานที่สูงวัยกันไปหมดแล้ว

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน เทศกาลโซมินไซของวัดโคคุเซกิ  ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเทศกาลสุดแปลกของญี่ปุ่น เป็นประเพณีล่าสุดที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติสูงวัย การจัดเทศกาลที่ต้องใช้ผู้เข้าร่วมหลายร้อยคน และดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายหมื่นคนในแต่ละปีกลายเป็นภาระหนักหน่วงของผู้จัดที่ต้องทำพิธีกรรมมากมาย ซึ่งผู้จัดล้วนแล้วแต่อายุมากกันทั้งนั้น

การจัดงานปีนี้จบลงด้วยดี แต่วัดตัดสินใจเลิกจัดเทศกาลโซมินไซแล้ว 

“มันยากมากที่จะจัดเทศกาลใหญ่ขนาดนี้ คุณเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ คนมากันมากด้วยความตื่นเต้น แต่หลักฉากมีพิธีกรรมและงานการให้ต้องทำมากมาย อาตมาไม่อาจมองข้ามความยุ่งยากที่เกิดขึ้นได้” ไดโกะ ฟูจินามิ พระลูกวัดโคคุเซจิ ที่เปิดมาตั้งแต่ ค.ศ.729 เผยความลำบากใจ

ประชากรสูงวัย

สังคมญี่ปุ่นสูงวัยเร็วกว่าประเทศอื่น เทรนด์นี้ทำให้โรงเรียน ร้านค้า และบริการหลายอย่างต้องปิดตัวลง โดยเฉพาะในชุมชนเล็กๆ หรือในชนบท

เทศกาลโซมินไซของวัดโคคุเซกิ เคยจัดขึ้นตั้งวันที่ 7 นับจากวันปีใหม่ทางจันทรคติไปจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น แต่ช่วงโควิดระบาด งานจัดเล็กลงมีแค่การสวดมนต์และพิธีกรรมเล็กๆ

ชาวบ้านเล่าว่า เทศกาลครั้งล่าสุดจัดแบบย่อนย่อ จบลงราว 23.00 น. แต่ก็เรียกคนได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับเทศกาลช่วงหลังๆ

เมื่อพระอาทิตย์ตก กลุ่มผู้ชายสวมผ้าเตี่ยวสีขาว อาบน้ำเย็นในลำห้วยแล้วเดินขบวนกันรอบลานวัด มือชูกำปั้นโบกสะบัดท่ามกลางสายลมหนาว พร้อมคำสวด“jasso joyasa” (สิ่งชั่วร้ายจงหายไป)

บางคนถือกล้องตัวเล็กๆ บันทึกประสบการณ์ของตน ขณะที่ช่างภาพโทรทัศน์หลายสิบคนติดตามผู้ชายกลุ่มนี้ขึ้นบันไดหิน จุดไคลแม็กซ์อยู่ที่ผู้ชายหลายร้อยคนแออัดกันในวิหารไม้ แย่งชิงถุงโชคดี หรือ โซมินไซที่ซ่อนอยู่ภายในวัด เชื่อกันว่าผู้ชนะและได้รับถุงโชคดีนี้ชีวิตจะราบรื่น มีแต่ความสุข และผลผลิตเก็บเกี่ยวดี

ปทัสถานเปลี่ยนแปลง

โทชิอากิ คิคูชิ ชาวบ้านผู้ได้ถุงโชคดีและช่วยจัดเทศกาลมาหลายปี หวังว่าเทศกาลจะได้จัดอีกในอนาคต

“แม้จะจัดในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ผมก็หวังจะได้รักษาประเพณีนี้ ความภาคภูมิใจหลายอย่างเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณมีส่วนร่วมกับงานเท่านั้น” คิคูชิกล่าวหลังจบเทศกาล

ขณะที่ผู้มีส่วนร่วมและนักท่องเที่ยวอีกหลายคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกัน ทั้งเสียดายและเข้าใจว่าทำไมเทศกาลต้องมีอันยุติ

“นี่คือการจัดเทศกาลอันยิ่งใหญ่ยาวนาน 1,000 ปีเป็นครั้งสุดท้าย ผมอยากมีส่วนร่วมในเทศกาลนี้จริงๆ ครับ” ยาสุโอะ นิชิมูระ บุรุษพยาบาลวัย 49 ปีจากโอซากากล่าวกับเอเอฟพี

วัดอื่นๆ ทั่วญี่ปุ่นยังคงจัดเทศกาลคล้ายๆ กันนี้ต่อไป แต่บางที่ต้องปรับกฎตามประชากรและปทัสถานสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น อนุญาตให้ผู้หญิงเข้ามีส่วนร่วมจากเดิมเฉพาะผู้ชายอย่างเดียว

ตั้งแต่ปีหน้า วัดโคคุเซกิ ต้องจัดงานสวดมนต์และอื่นๆ ขึ้นมาแทนที่เพื่อให้พิธีปฏิบัติดำรงอยู่ต่อไปได้

“ญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาการเกิดลด สังคมสูงวัย และไม่มีคนหนุ่มสาวสืบทอดหลายๆ สิ่ง บางทีการจะทำแบบที่เคยทำกันมาในอดีตย่อมเป็นเรื่องยาก” นิชิมูระกล่าวทิ้งท้าย