ส่องภาวะ ‘เลิกจ้าง’ บริษัทใหญ่ปี 2566 ปีแย่ที่สุดตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์

ส่องภาวะ ‘เลิกจ้าง’ บริษัทใหญ่ปี 2566 ปีแย่ที่สุดตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์

สิ่งที่น่าจับตาก็คือการเลิกจ้างที่เกิดขึ้นในปี 2566 ไม่ได้จำกัดอยู่แค่วงการเทคโนโลยี แต่ยังกระจายไปยังหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในสหรัฐ หากไม่นับรวมปีที่เกิดการระบาดของโควิด-19 จะเป็นปีแห่งการเลิกจ้างที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ซับไพรม์

เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมาได้เกิดกระแสการเลิกจ้างครั้งใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หรือ The Great Layoffs ซึ่งมีการเลิกจ้างเกิดขึ้นเป็นวงกว้างในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐ กระแสนี้ยังมีขึ้นต่อเนื่องจนถึงปี 2566 เมื่อกลุ่มบิ๊กเทคยังคงเดินหน้าเลิกจ้างขนานใหญ่ต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกปีนี้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าจับตาก็คือการเลิกจ้างที่เกิดขึ้นในปี 2566 ไม่ได้จำกัดอยู่แค่วงการเทคโนโลยีอีกต่อไป แต่ยังกระจายไปยังหลายอุตสาหกรรมและทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐนั้น หากไม่นับรวมปีที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ก็จะถือเป็นปีแห่งการเลิกจ้างที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ซับไพรม์

รายงานจากบริษัทติดตามข้อมูลการจ้างงาน ชาเลนเจอร์ เกรย์ แอนด์ คริสต์มาส ระบุว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ มีการเลิกจ้างทั่วสหรัฐแล้ว 686,860 อัตรา หรือเพิ่มขึ้น 115% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

หากไม่นับรวมปีแห่งการระบาดของโควิดในปี 2563 ที่ครั้งนั้นมีการเลย์ออฟสูงถึงกว่า 2.2 ล้านคน ตัวเลขการเลย์ออฟในปีนี้จะถือเป็นปีที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 หรือหนึ่งปีหลังเกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินครั้งใหญ่ขึ้นในสหรัฐ โดยมีการเลิกจ้างไปแล้วถึง 1.242 ล้านคน ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 นี้

ส่องภาวะ ‘เลิกจ้าง’ บริษัทใหญ่ปี 2566 ปีแย่ที่สุดตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์

“กลุ่มเทคโนโลยี” เป็นอุตสาหกรรมที่มีการเลิกจ้างมากที่สุดในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นความต่อเนื่องเนื่องที่มาจากแผนการปรับโครงสร้างใหญ่ตั้งแต่ปลายปี 2565 นำโดยกลุ่มบริษัทบิ๊กเทคตั้งแต่ เมตา อเมซอน และไมโครซอฟท์

“กูเกิล” ประกาศเลิกจ้างครั้งใหญ่ 12,000 อัตรา เมื่อวันที่ 20 ม.ค. หรือหลังผ่านการฉลองปีใหม่ยังไม่ถึงเดือน ซึ่งในครั้งนั้นซุนดาร์ พิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกูเกิลให้เหตุผลว่า เพราะการให้ความสำคัญไปที่ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ซึ่งในปีนี้หลายบริษัทเทคโนโลยีหันมาให้ความสำคัญกับเอไอมากขึ้นจนอาจเรียกได้ว่าเป็นปีแห่งเอไอ นับตั้งแต่บริษัทโอเพ่นเอไอเปิดตัวแชทบอตชื่อ แชทจีพีที ตั้งแต่ปลายปี 2565

ด้าน “ไมโครซอฟท์” ประกาศเลิกจ้าง 10,000 อัตรา หรือราว 5% ของพนักงานทั้งหมดในเดือนเดียวกัน มีผลต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 3 ปีนี้ โดยในครั้งนั้นสัตยา นาเดลลา ซีอีโอของไมโครซอฟท์ไม่ได้อ้างถึงเอไอ แต่ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะสภาพการณ์ของเศรษฐกิจมหภาคและความสนใจของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

ขณะที่ “อเมซอน” ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซประกาศเลย์ออฟครั้งใหญ่ในปีนี้ถึง 2 ครั้ง คือ ในเดือน ม.ค. ที่เลิกจ้างไป 8,000 คน และในเดือน มี.ค. อีก 9,000 คน และหากรวมกับงวดปลายปี 2565 ถือว่าอเมซอนลดพนักงานไปถึงกว่า 27,000 คนทั่วโลกแล้ว และยังไม่นับรวมการทยอยเลิกจ้างเล็กๆ ที่ตามมาอีกในปีนี้

ส่องภาวะ ‘เลิกจ้าง’ บริษัทใหญ่ปี 2566 ปีแย่ที่สุดตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์

นอกจากบิ๊กเทคแล้ว บริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ อาทิ เซลส์ฟอร์ซ เดลล์ ไอบีเอ็ม ทวิตเตอร์ เอสเอพี ไมครอน และวีเอ็มแวร์ ต่างก็เดินหน้าลดพนักงานกันในหลักหลายพันคนในช่วงต้นปี ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่รายงานของชาเลนเจอร์ระบุว่า ยอดการปลดพนักงานของบริษัทอเมริกันในช่วงเดือน ม.ค. - ก.พ. ปีนี้ทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปี อยู่ที่ 180,000 อัตรา ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2552 โดยบริษัทเทคโนโลยีมีสัดส่วนการปลดพนักงานมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนพนักงานที่ปรับลดลงไปในช่วงเวลา 2 เดือนแรกของปีนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ภาคเทคโนโลยีจะมีการเลิกจ้างสูงที่สุด 93,000 อัตราใน 11 เดือนจากข้อมูลของกระทรวงแรงงานสหรัฐ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาตลอดทั้งปีไม่ได้จำกัดวงแค่บริษัทเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ตั้งแต่ค้าปลีก ธนาคาร ไปจนถึงวงการรถยนต์

ด้านอุตสาหกรรม “ค้าปลีก” เป็นภาคส่วนที่มีการเลิกจ้างสูงตามมา เฉพาะในเดือน พ.ย. เพียงเดือนเดียวมีการเลิกจ้างไป 6,548 อัตรา โดยสาเหตุสำคัญเป็นเพราะดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก สถานการณ์เงินเฟ้อ และการที่หลายคนต้องกลับมาจ่ายหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาอีกครั้ง หลังจากที่ได้พักหนี้ไปในช่วงโควิด ทำให้ครอบครัวชนชั้นกลางจำนวนมากต้องประหยัดรายจ่าย

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทผู้ผลิตของเล่น “แฮสโบรว์” เพิ่งประกาศลดคนไป 1,100 อัตรา หลังจากเลิกจ้างไปแล้วก่อนหน้านี้ 800 อัตรา โดยบริษัทให้เหตุผลเรื่องยอดขายที่ต่ำกว่าคาดในช่วง 9 เดือนแรกของปี ขณะที่แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส “เอ็ตซี” ประกาศลดคน 11% เพื่อรับมือกับยอดขายที่ซบเซา

ขณะที่ “อุตสาหกรรมยานยนต์” ก็มีการเลย์ออฟทยอยเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะเมื่อยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เริ่มชะลอตัวลง โดยบริษัทที่เลิกจ้างส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอีวี เช่น อาวร์ เน็กซ์ เอ็นเนอร์จี (วัน) ที่เลิกจ้าง 128 อัตรา หรือ 5% แอลจี เอ็นเนอร์จี โซลูชัน ลดพนักงาน 10% และล่าสุด บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) เตรียมปลดพนักงานในมิชิแกนจำนวน 1,300 คน ในเดือน ม.ค. 2567

ทางด้าน“อุตสาหกรรมธนาคาร” เป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่มีการเลย์ออฟอย่างเห็นได้ชัดในปีนี้ ซึ่งซีเอ็นบีซีรวบรวมข้อมูลระบุว่า 5 บิ๊กธนาคารใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ประกอบด้วย เจพีมอร์แกน, ซีตี้กรุ๊ป, แบงก์ออฟอเมริกา, มอร์แกนสแตนลีย์, และเวลส์ฟาร์โก มีการเลิกจ้างรวมกันแล้วในปีนี้มากกว่า 20,000 อัตรา เช่นเดียวกับธนาคารในอีกหลายประเทศ เช่นบาเคลย์ส ในอังกฤษ ที่เพิ่งประกาศเลิกจ้าง 2,000 อัตราไปจนถึงปีหน้า

ปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก แนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจปีหน้าที่ไม่แน่นอน และการที่ปีนี้พนักงานสายแบงก์มีการลาออกโยกย้ายงานน้อย เป็นสาเหตุหลักที่ถูกกล่าวอ้างถึงในการลดคนของสายแบงก์ในปีนี้ และเป็นที่คาดว่าการเลย์ออฟในกลุ่มแบงก์อาจลากยาวไปถึงปีหน้า 2567

“ธนาคารกำลังลดต้นทุนเท่าที่จะทำได้เพราะสถานการณ์ต่างๆ ในปีหน้าดูยังไม่แน่นอน นอกจากนี้แบงก์ยังต้องรับมือกับการผิดนัดชำระหนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีหน้า ทั้งหุ้นกู้เอกชนและสินเชื่อส่วนบุคคล” คริส มาริแน็ค ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของบริษัทแจนนีย์ มอนต์โกเมอรี สก็อต กล่าวกับซีเอ็นบีซี