‘เปลี่ยนชื่อ-จ่ายเงินเยียวยา’ วิธีกู้ชื่อเสียงค่ายเพลงญี่ปุ่น

‘เปลี่ยนชื่อ-จ่ายเงินเยียวยา’  วิธีกู้ชื่อเสียงค่ายเพลงญี่ปุ่น

‘เปลี่ยนชื่อ-จ่ายเงินเยียวยา’ วิธีกู้ชื่อเสียงค่ายเพลงญี่ปุ่น โดยบริษัทตัดสินใจเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น สไมล์อัพ เริ่มให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค.เพื่อแสดงความมุ่งมั่นที่จะแยกขาดจาก“จอห์นนี คิตางาวะ” ผู้ก่อตั้งผู้สร้างเรื่องอื้อฉาว

หลังจากชื่อเสียงเสียหายในระดับที่ยากแก่การกลับมาเป็นที่นิยมเหมือนเดิม ค่ายเพลงเก่าแก่และมีชื่อเสียงของญี่ปุ่นอย่าง"จอห์นนี แอนด์ แอสโซซิเอตส์” ก็ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อบริษัท พร้อมทั้งจ่ายเงินเยียวยาเหยื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศจำนวน 325 คนที่เรียกร้องขอค่าเสียหายต่อศาล

"โนริยูกิ ฮิงะชิยามะ" ประธานบริษัทจอห์นนี แอนด์ แอสโซซิเอตส์  ซึ่งเป็นค่ายเพลงชื่อดังในวงการ J-Pop ของญี่ปุ่น แถลงเมื่อวันจันทร์ (2 ต.ค.) ว่าตัดสินใจเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น สไมล์อัพ (Smile-up) เริ่มให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. เพื่อแสดงความมุ่งมั่นที่จะแยกขาดจากจอห์นนี คิตางาวะ ผู้ก่อตั้ง ตัวการสร้างเรื่องอื้อฉาว

บริษัทสไมล์อัป จะรับผิดชอบสืบหาเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยคิตางาวะ ซึ่งมีทั้งศิลปินและเด็กฝึกในค่าย และจ่ายเงินเยียวยาให้แก่พวกเขา พร้อมทั้งเปิดเผยว่า ขณะนี้ มีเหยื่อแจ้งความประสงค์เรียกค่าเสียหายแล้ว 325 ราย ซึ่ง 150 รายเป็นอดีตศิลปินในค่าย

นอกจากนี้ ผู้บริหารยังเตรียมจัดตั้งบริษัทใหม่อีกแห่งเพื่อบริหารจัดการเกี่ยวกับศิลปินและการฝึกศิลปินเท่านั้น โดยจะเปลี่ยนชื่อใหม่ด้วย ฝ่ายบริหารของบริษัทใหม่นี้จะจัดตั้งขึ้นภายในหนึ่งเดือน และจะให้แฟนคลับช่วยกันเสนอชื่อของบริษัทใหม่

ข้อกล่าวหาพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศของคิตางาวะมีมาตลอดระยะเวลาที่เขาเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรม J-Pop ขณะที่สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นไม่ได้รายงานเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น ทำให้ถูกวิจารณ์ว่ามีส่วนปกปิด จนกระทั่งเมื่อเดือนมี.ค. สถานีโทรทัศน์บีบีซี เผยแพร่สารคดี Predator: The Secret Scandal of J-Pop ที่นำเสนอเกี่ยวกับข้อกล่าวหาล่วงละเมิดทางเพศของคิตางาวะ และจุดประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมญี่ปุ่น พร้อมทั้งมีเสียงเรียกร้องให้เปิดการตรวจสอบอย่างละเอียด หลังจากนั้นก็มีเหยื่อออกมาเปิดโปงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อเดือนก.ย. คณะกรรมการอิสระสรุปผลการตรวจสอบว่า คิตางาวะ ล่วงละเมิดทางเพศเด็กชายและชายหนุ่มหลายร้อยคนตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี แต่เขาไม่เคยถูกตั้งข้อหาดำเนินดคีทางอาญา และยังคงได้รับการเคารพนับถือจนถึงวาระสุดท้ายเมื่อเขาเสียชีวิตด้วยวัย 87 ปีในปี 2562

ต่อมาในเดือนเดียวกัน “จูลี ฟูจิชิมะ” หลานสาวของคิตางาวะ แถลงข่าวขอโทษเหยื่อและประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานบริษัท พร้อมกับสัญญาปฏิรูปบริษัท จ่ายเงินชดเชยแก่เหยื่อ  และช่วยเหลือศิลปินในค่ายที่ยังคงเจ็บปวดกับอดีต

ก่อนหน้าที่จะแถลงข่าวลาออก ฟูจิชิมะ พยายามทำคลิปความยาว 1 นาที เผยแพร่บนเว็ปไซต์ของบริษัท ขอโทษอย่างสุดซึ้งต่อบรรดาผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งพยายามอธิบายถึงความยากลำบากในการค้นหาข้อเท็จจริงจากสารพัดข้อกล่าวหาที่มีต่อน้าชาย ซึ่งเป็นผลมาจากไม่เคยได้รับการยืนยันข้อเท็จจริงจากบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องหรือแม้กระทั่งจากตัวของคิตางาวะเอง 

ที่สำคัญไปกว่านั้น ฟูจิชิมะ บอกว่าบริษัทจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่างๆ อย่างรอบคอบเพื่อแยกแยะข้อเท็จจริงออกจากข้อกล่าวหาที่มุ่งหวังผลประโยชน์

รายงานผลการสอบสวนคดีอื้อฉาวนี้ ระบุถึงปัจจัย 4 ข้อที่นำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศของคิตางาวะว่า 1. เกิดจากความหลงใหลทางเพศที่ผิดปกติของเขา 2. ความเพิกเฉยและพยายามปกปิดข้อเท็จจริงของเคโกะ แมรี คิตางาวะพี่สาวของคิตางาวะ และอดีตประธานบริหารบริษัทจอห์นนี แอนด์ แอสโซซิเอตส์ที่เสียชีวิตเมื่อปี 2564  3. การปฏิเสธที่จะดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างเป็นรูปธรรมของ จอห์นนี แอนด์ แอสโซซิเอตส์ และ 4. ความขัดแย้งระหว่างเหยื่อและความสัมพันธ์ในโครงสร้างอำนาจของผู้กระทำความผิด

ในการแถลงขอโทษและลาออก ฟูจิชิมะ บอกว่า การลาออกของเธอมีผลตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. เพื่อแสดงความรับผิดชอบ และประธานคนใหม่ที่จะรับตำแหน่งแทนเธอ คือ โนริยูกิ ฮิงาชิยามะ

ฮิงาชิยามะ อดีตสมาชิกบอยแบนด์วง Shonentai ในยุค 1980 ของบริษัท แถลงว่า เพื่อเผชิญความจริงที่เกิดขึ้นด้วยความจริงใจ เขาจะก้าวลงจากตำแหน่งประธานในสิ้นปีนี้ และจะอุทิศชีวิตที่เหลืออยู่เพื่อจัดการกับปัญหานี้

ในวันเดียวกัน กลุ่มอดีตศิลปินของค่าย ที่อ้างว่า เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยคิตากาวะ ก็แถลงข่าวหลังการประกาศลาออกของฟูจิชิมะ โดยพวกเขา ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศของจอห์นนี กล่าวยอมรับคำขอโทษ แต่บอกว่า ไม่อาจลบความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนชื่อบริษัท โดยไม่มีชื่อจอห์นนีอีกต่อไป

จอห์นนี แอนด์ แอสโซซิเอตส์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2505 และสร้างศิลปินยอดนิยมหลายคนในวงการ J-Pop ซึ่งรวมถึง SMAP และ Arashi ซึ่งทั้งสองวงมีฐานแฟนเพลงกลุ่มใหญ่มากทั่วเอเชียตะวันออก

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทจอห์นนีล่าสุดนี้ ถูกมองว่าเป็นความพยายามเรียกคืนความศรัทธาจากสังคม หลังจากบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งของญี่ปุ่นทั้ง นิสสัน อาซาฮีและซันทอรี  ยกเลิกสัญญากับศิลปินของค่ายจอห์นนี หลังทราบรายงานผลการตรวจสอบ