‘เทอร์รี กั๋ว’ เศรษฐีไต้หวัน ฝันชิงประธานาธิบดี

‘เทอร์รี กั๋ว’ เศรษฐีไต้หวัน   ฝันชิงประธานาธิบดี

ไต้หวันจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือน ม.ค.2567 ท่ามกลางความตึงเครียดกับจีน ดังนั้นผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งย่อมสำคัญยิ่งต่อทิศทางการดำเนินนโยบาย

หลังจากผลิตไอโฟนมาจนเชี่ยวชาญแล้ว เทอร์รี กั๋ว อภิมหาเศรษฐีไต้หวัน วัย 72 ปี ผู้ก่อตั้งฟ็อกซ์คอนน์ ซัพพลายเออร์หลักของแอ๊ปเปิ้ลอิงค์ ก็อยากใช้ทักษะการเป็นผู้ประกอบการของเขาไปสู่เรื่องอื่นบ้าง นั่นคือการเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ไม่กี่วันก่อนเขาประกาศเสนอตัวเป็นตัวแทนพรรคก๊กมินตั๋งลงเลือกตั้งประธานาธิบดี แม้ว่าจะเคยผิดหวังไปแล้วถึงสองครั้งสองครา แต่กั๋วยังมุ่งมั่นเป็น “ซีอีโอของไต้หวัน” ให้ได้ 

“กว่า 7 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าไม่ใช่แค่ทำให้ไต้หวันเสี่ยงเกิดสงคราม แต่ยังดำเนินนโยบายภายในบกพร่อง แก้ไขความท้าทายต่ออุตสาหกรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ได้” กั๋วกล่าว ซึ่งความฝันของเขาไม่ใช่เรื่องง่ายเลย 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กั๋วต้องเจอกับความท้าทายในการนำสองพรรคฝ่ายค้านใหญ่ ได้แก่ พรรคก๊กมินตั๋งที่เขาหวังว่าจะได้เป็นตัวแทนไปลงเลือกตั้งประธานาธิบดี และพรรคประชาชนไต้หวัน ให้มาร่วมมือกันเพื่อโค่นพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ท่ามกลางความตึงเครียดกับจีนเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งเขากล่าวโทษว่าเป็นเพราะพรรคดีพีพี  เป็นรัฐบาลจึงทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลปักกิ่ง

กั๋วเป็นคนพูดตรง มีความสามารถด้านการทำธุรกิจ งานหาเสียงของเขาทั่วไต้หวันมีผู้ร่วมงานจำนวนมาก

“เขาเป็นคนวงนอกการเมืองที่พูดตรง สามารถดึงดูดโหวตเตอร์ที่ให้ความสำคัญกับความเชื่อมั่นของตลาด ทั้งยังดึงดูดคนมีการศึกษาผู้สนใจการปกครองแบบข้าราชการมากกว่า” ซุง เหวินตี้ นักรัฐศาสตร์ โครงการไต้หวันศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียให้ความเห็น

หากมองภูมิหลัง กั๋วไม่ได้เกิดมาร่ำรวย พ่อแม่ของกั๋วเกิดในจีน เป็นคนรุ่นที่หนีมาอยู่ไต้หวัน หลังคอมมิวนิสต์ชนะสงครามกลางเมืองในปี 1949 หนึ่งปีก่อนกั๋วเกิดบนเกาะไต้หวัน

หลังจบมหาวิทยาลัย เขาทำงานหลายตำแหน่งในโรงงานเมื่อไต้หวันช่วงปลายทศวรรษ 1960-ต้นทศวรรษ 1970 เริ่มใช้แรงงานราคาถูกผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคให้กับโลกตะวันตกที่มั่งคั่ง เขาก่อตั้งบริษัทฮอนไห่ พรีซิชัน อินดัสตรี หรือที่รู้จักกันว่า ฟ็อกซ์คอนน์ ในปี 1974 ด้วยเงิน 7,500 ดอลลาร์ที่ยืมแม่มากับคนงานแก่ๆ 11 คน เริ่มแรกผลิตชิ้นส่วนพลาสติกราคาถูกประกอบโทรทัศน์ขาวดำให้ผู้ผลิตโทรทัศน์ที่ชิคาโก ก่อนจะได้ดีลใหญ่ในปี 1980 ผลิตตัวเชื่อมจอยสติกให้กับบริษัทผลิตคอนโซลเกม Atari

ปี 2000 ฟ็อกซ์คอนน์ได้ออเดอร์ผลิตไอแมครุ่นดีไซน์ใหม่ของแอ๊ปเปิ้ล จากประสบการณ์ที่เคยผลิตชิ้นส่วนหลากหลายให้กับเดลล์ บริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของสหรัฐ

การสร้างบริษัทผลิตสินค้าตามสัญญาจ้างใหญ่สุดของโลกจากความยากลำบาก แน่นอนว่าเส้นสายของกั๋วสูงถึงระดับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ที่เขาเคยพบในกรุงปักกิ่งเมื่อปี 2014 และเคยบรรยายถึงสีในปี 2017 ว่า “ผู้นำที่ยิ่งใหญ่” 

เพื่อนคนดังอีกคนคือ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ กั๋วบอกทรัมป์ว่า เขาอยากเป็นผู้สร้างสันติภาพระหว่างไต้หวัน จีน และสหรัฐ ในฐานะประธานาธิบดีไต้หวัน

ถึงวันนี้กั๋วยังเป็นบุคคลที่ฟ็อกซ์คอนน์ยกย่อง แม้ลาออกจากตำแหน่งประธานในปี 2019 โดยได้รับคำกล่าวขานด้วยความเคารพว่า “ผู้ก่อตั้ง”  โดยบริษัทแถลงว่ากั๋วไม่เกี่ยวข้องกับงานประจำอีกแล้วนับตั้งแต่ “วางมือ” เมื่อสี่ปีก่อน

ในการให้สัมภาษณ์กับพีเพิลส์เดลี หนังสือพิมพ์ทางการของพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 2018 เพื่อเฉลิมฉลอง 40 ปีการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน กั๋วกล่าวว่า เขามีความสุขที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง

กั๋วยังเล่าให้ฟังอีกว่า พ่อมาจากมณฑลฉ่านซี แม่มาจากมณฑลกวางตุ้ง ตอนที่เขามาจีนครั้งแรกในปี 1987 เพื่อค้นหารากเหง้าของบรรพบุรุษ “เป็นครั้งแรกที่ผมได้เหยียบแผ่นดินแม่”

ไม่กี่เดือนก่อนกั๋วให้คำมั่นจะเริ่มเจรจากับจีนถ้าเขาได้รับเลือกตั้ง บนพื้นฐานที่่ว่าทั้งสองฝ่ายต่างเป็นจีนเดียวแต่แต่ละฝ่ายสามารถตีความได้ว่าหมายถึงอะไร

“ทั้งสองฝ่ายสามารถนั่งคุยกัน และสามารถใช้เวลาทั้งหมดที่ต้องการคุยถึง การตีความที่แตกต่างกัน”

ตอนประกาศชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคก๊กมินตั๋งลงเลือกตั้งในปี 2020 กั๋วยืนยันชัดเจน 

“สันติภาพ เสถียรภาพ เศรษฐกิจ อนาคต คือค่านิยมหลักของผม” แต่เขาไม่ได้รับการเสนอชื่อ และพรรคก๊กมินตั๋งแพ้เลือกตั้งย่อยยับ กระนั้น ดูเหมือนว่า มหาเศรษฐีรายนี้สะกดคำว่าท้อไม่เป็น ยังคงเดินหน้าเสนอตัวเป็นตัวแทนพรรคก๊กมินตั๋งอีกครั้ง สร้างสีสันให้กับการเมืองไต้หวันท่ามกลางการเมืองโลกตึงเครียด