'เอไอ'วิเคราะห์การสแกนสมอง จุดชนวนข้อกังวลสังคมญี่ปุ่น

'เอไอ'วิเคราะห์การสแกนสมอง จุดชนวนข้อกังวลสังคมญี่ปุ่น

'เอไอ'วิเคราะห์การสแกนสมอง จุดชนวนข้อกังวลสังคมญี่ปุ่น โดยความกลัวเทคโนโลยี รวมถึงเทคโนโลยีอ่านใจคน กำลังเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางในญี่ปุ่น เพราะเทคโนโลยีนี้อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยผู้ไม่หวังดี

“ยู ทาคางิ” นักประสาทวิทยาวัย 34 ปี ซึ่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยโอซากาและทีมงานของเขา ใช้ Stable Diffusion (เอสดี) หรือแบบจำลองเอไอในการเรียนรู้เชิงลึก ที่พัฒนาในเยอรมนี เมื่อปี 2565 มาวิเคราะห์การสแกนสมองผู้ทดสอบ และได้ผลลัพธ์รูปภาพมากกว่า 10,000 รูป

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า เอสดีสามารถสร้างรูปภาพที่มีความเสมือนจริงสูง จนคล้ายกับต้นฉบับอย่างน่าประหลาดใจ แต่ทาคางิ ย้ำว่า ความก้าวหน้าของเอไอในขณะนี้ ยังไม่ถึงขั้นอ่านใจคนได้อย่างแท้จริง เอไอสามารถสร้างได้เพียงรูปภาพที่คนเคยเห็นได้เท่านั้น

“น่าเสียดายที่หลายคนเข้าใจการวิจัยของเราผิดไป เอไอนี้ไม่ใช่เครื่องมืออ่านใจคน เราไม่สามารถถอดรหัสจากจินตนาการหรือความฝันได้ เราคิดว่านี่เป็นการมองในแง่ดีเกินไป แต่แน่นอนว่าในอนาคตอาจมีศักยภาพมากพอที่จะพัฒนาได้อีก” ทาคางิ กล่าว

การวิจัยของทาคางิและนิชิโมโตะ ผู้ทำการสอบต้องนั่งในเครื่องสแกน fMRI นานกว่า 40 ชั่วโมง และเสียค่าใช้จ่ายมากพอสมกับใช้เวลาในการทดสอบอันยาวนาน

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเอไอ ก่อให้เกิดความกังวลว่า เทคโนโลยีนี้จะนำไปใช้ในอนาคตได้อย่างไร เมื่อเกิดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับความเสี่ยงจากเอไอในจดหมายเปิดผนึกเมื่อเดือนก่อน ผู้นำด้านเทคโนโลยีหลายคน รวมทั้ง “อีลอน มัสก์” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)บริษัทเทสลา และ “สตีฟ วอซเนียก” ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแอ๊ปเปิ้ล เรียกร้องให้หยุดพัฒนาเอไอ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อสังคมและมนุษยชาติ

ทาคางิ ตระหนักดีว่า ความกลัวเทคโนโลยี รวมถึงเทคโนโลยีอ่านใจคน กำลังเป็นที่ถกเถียงกันในสังคม เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยคนที่มีเจตนาร้ายหรือคนที่ไม่ได้รับอนุญาต

“สำหรับเราแล้ว ความเป็นส่วนตัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้ารัฐบาลหรือสถาบันใดมีเทคโนโลยีที่สามารถอ่านใจคนได้ จะเป็นปัญหาที่อ่อนไหวมาก จำเป็นต้องมีการหารือในระดับสูง เพื่อให้แน่ใจว่าสถานการณ์เลวร้ายจะไม่เกิดขึ้น” ทาคางิ กล่าว

การวิจัยของทาคางิและนิชิโมโตะ ถูกพูดถึงอย่างมากในสังคมเทคโนโลยีที่กำลังตื่นตัวกับความก้าวหน้าของเอไอ อย่าง ChatGPT

\'เอไอ\'วิเคราะห์การสแกนสมอง จุดชนวนข้อกังวลสังคมญี่ปุ่น

“อัลเมตริก” เว็บไซต์นำเสนอบทความและงานวิจัย ระบุว่า รายละเอียดการวิจัยของทาคางิและนิชิโมโตะติดท็อป 1% แรกของการค้นหา จากผลการวิจัย 23 ล้านรายการในปัจจุบัน

ผลการศึกษายังได้รับการยอมรับให้เสนอในที่ประชุม Computer Vision and Pattern Recognition (CVPR) ที่จะจัดขึ้นในเดือน มิ.ย. 2566 ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้ถูกกฎหมายในสายประสาทวิทยา

แม้จะมีความก้าวหน้าในการเชื่อมต่อระบบประสาทกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้งการใช้คอมพิวเตอร์ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ที่คอยจับคลื่นสมองผ่านขั้วไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับศีรษะ และเครื่องตรวจ fMRI ที่ใช้วัดการทำงานของสมอง โดยตรวจจับการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับการไหลเวียนของกระแสเลือด แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ยังไม่สามารถถอดรหัสภาพจินตนาการได้อย่างแม่นยำและน่าเชื่อถือไปอีกหลายสิบปี

ทาคางิ ยอมรับว่า ยังมีอุปสรรคต่อการอ่านใจคนอยู่ 2 อย่าง ได้แก่ เทคโนโลยีสแกนสมองและระบบเอไอ และอุปสรรคอย่างแรก เห็นได้จากงานวิจัยเมื่อปี 2563 นักวิจัยหลายคนจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงเกาหลีใต้ ย้ำว่า เครื่องต่อประสานประสาททั่วไป ขาดความเสถียรในการบันทึกข้อมูลต่อเนื่อง เพราะตามธรรมชาติของเนื้อเยื่อประสาท มีความอ่อนไหวและซับซ้อน ซึ่งอาจเกิดการตอบสนองผิดปกติ เมื่อเชื่อมต่อกับเครื่องประสานประสาท

นอกจากนี้ ทีมงานวิจัยยังบันทึกว่า เทคนิคการบันทึกข้อมูลทางประสาททั่วไป อาศัยกระแสไฟฟ้าเพื่อถ่ายโอนสัญญาณทางสมองที่อ่อนไหวต่อสัญญาณรบกวนไฟฟ้า ซึ่งการได้รับสัญญาณที่ดีจากสมองที่มีความอ่อนไหวสูงไม่ใช่เรื่องง่าย

ขณะที่เอไอในปัจจุบันยังมีขีดจำกัด จึงกลายเป็นอุปสรรคตัวที่ 2 แม้ทาคางิรู้ดีว่า เอไอมีความสามารถก้าวหน้าขึ้นทุกวันก็ตาม

“ผมมองเอไอในแง่ดี แต่ไม่ได้มองเทคโนโลยีทางสมองในแง่ดีนะ ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่นักประสาทวิทยาเห็นตรงกัน” ทาคางิ กล่าว

    ทั้งนี้ กรอบการวิจัยของทาคางิและนิชิโมโตะ อาจนำไปใช้สแกนสมองด้วยเครื่องมืออื่น ๆ ได้ดีกว่าเครื่อง MRI เช่น เครื่อง EEG หรือเทคโนโลยีล้ำสมัยอื่น ๆ เช่น การฝังอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในสมอง (brain-computer implants) ที่พัฒนาโดยบริษัทนิวรัลลิงก์ของมัสก์ 

แต่ทาคางิ เชื่อว่า ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้การทดลองเอไอของเขาเพียงเล็กน้อย เนื่องจากวิธีค้นพบนี้ ยังไม่สามารถถ่ายโอนแบบจำลองเอไอไปใช้กับคนอื่น ๆ ได้ เพราะแต่ละคนมีรูปแบบสมองที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถนำแบบจำลองเอไอของบุคคลหนึ่งไปใช้กับบุคคลอื่นได้โดยตรง

อย่างไรก็ดี ทาคางิ เห็นว่า การวิจัยของเขาอาจนำไปใช้ได้ในอนาคต ทั้งในสถานพยาบาล ใช้เพื่อการสื่อสาร และเพื่อความบันเทิง

“ริคาร์โด ซิลวา” อาจารย์ประจำสาขาประสาทวิทยาด้านการคำนวณ จากมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน และนักวิจัยวิชาการ จากสถาบันอาลัน ทิวริง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราห์ว่า "ยังคาดเดาได้ยากว่าการเทคโนโลยีทางการแพทย์ประเภทใดจะประสบความสำเร็จในปัจจุบัน ขณะที่ยังมีการวิจัยขั้นสำรวจอยู่” และว่า การวิจัยของทาคางิและเพื่อนร่วมวิจัย อาจกลายเป็นอีกวิธีหนึ่งของการพัฒนาเครื่องมือตรวจและประเมินความคืบหน้าของโรคอัลไซเมอร์ ด้วยการช่วยประเมินว่า วิธีใดสามารถตรวจพบความผิดปกติ ผ่านรูปภาพที่สร้างขึ้นใหม่จากการทำงานของสมองผู้ป่วย