ไอเดียจาก AI เรื่องเตรียมรับดาต้าเซนเตอร์

ไอเดียจาก AI เรื่องเตรียมรับดาต้าเซนเตอร์

ย้อนเวลาไปในยุคโชติช่วงชัชวาล อุตสาหกรรมจากต่างชาติแห่กันมาที่เมืองไทย เพื่อเป็นฐานการผลิตสำหรับการส่งออก กลายเป็นความฝันเรื่องเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย

แม้ฝันจะไม่เป็นจริงแต่ก็ช่วยยกระดับรายได้ของประเทศมายืนยาวได้หลายสิบปี จนกระทั่งหมดฤทธิ์ไปเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา

อานิสงส์จากเรื่องนี้ส่วนหนึ่งทำให้มีอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านยานยนต์ที่ยิ่งใหญ่ติดอันดับโลก ซึ่งความยิ่งใหญ่นี้ส่วนหนึ่งมาจากการวางแผนเตรียมรับมือด้านต่างๆ ไว้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะด้านบุคลากรที่มีการขยายการผลิตวิศวกร จากเดิมมีแค่แปดเกียร์ จนปัจจุบันน่าจะมีร่วมร้อยเกียร์ไปแล้ว ผลผลิตอย่างน้อยหนึ่งคนจากการขยายการศึกษาวิศวกรรมที่เป็นหลักสูตรนานาชาติทำให้มีผู้บริหารอุตสาหกรรมไทยที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเป็นเจ้าของกิจการไฮเทคในสหรัฐได้

สมัยนั้นคิดกันรอบคอบว่า เมื่ออุตสาหกรรมต่างชาติมาแล้ว เราจะทำอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์ต่อยอดอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะได้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่ก็ยังดีที่คิดล่วงหน้าไว้ก่อน

วันนี้มียักษ์ใหญ่ไอทีประกาศจะจัดตั้งดาต้าเซนเตอร์ในบ้านเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะดูเหมือนว่าเราจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ที่จะมีดาต้าเซนเตอร์จากสองยักษ์ใหญ่มาดำเนินการ เพื่อนบ้านที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีอยู่แล้วจากยักษ์ใหญ่เจ้าหนึ่ง แต่ขนาดไม่ได้ใหญ่โตเหมือนที่มามาจากทั้งสองเจ้าในบ้านเรา

เพราะเพื่อนบ้านมีที่ดิน มีไฟฟ้าสำรอง มีน้ำไม่เหลือเฟือเท่าบ้านเรา เพื่อนบ้านทางใต้ที่กำลังจะเป็นประเทศพัฒนาก็จะมีหนึ่งแห่งจากหนึ่งในสองเจ้าที่มาบ้านเรา

ถ้าเป็นจริงตามที่บอกกันไว้ บ้านเราจะมีอานุภาพมากในเรื่องดาต้าเซนเตอร์ แต่ที่ต้องคิดคือมีแล้วเราต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด เหมือนกับที่ผู้บริหารบ้านเมืองช่วงโชติช่วงชัชวาลท่านได้คิดไว้

ถ้าแค่ตีฆ้องร้องป่าวว่าบ้านฉันดีมีคนมาลงทุน ดาต้าเซนเตอร์ แล้วหวังว่าทุกอย่างรอบๆ ตัวจะดีขึ้นมาด้วย คงไม่ต่างไปจากหาบเร่ขายของดีใจว่ามีร้านสะดวกซื้อมาตั้งใกล้ที่ตนขายของอยู่ ซึ่งทราบกันดีว่าผลที่ตามมาเป็นอย่างไร

ช่วงนี้มีคนคุยเรื่อง Generative AI กันเยอะมาก อวดสรรพคุณกันสารพัด เลยลองให้เอไอช่วยให้ไอเดียว่าถ้าบ้านเมืองนี้มีดาต้าเซนเตอร์จากสองยักษ์ใหญ่แล้ว ควรจะต้องทำอะไรกันบ้าง ไอเดียจากเอไอมีมากมายที่น่าสนใจ ขอเป็นตัวอย่างเริ่มจากเรื่องการศึกษา มีไอเดียว่าต้องอาศัยสองยักษ์ใหญ่ช่วยทำการศึกษาที่ผสมผสานกับการทำงานจริง ที่กระทรวงอุดมศึกษาเรียกว่า CWIE คือเรียนไปคู่กับการทำงานจริง

 

ในเมื่อมีของจริงอยู่ในบ้านเราแล้ว ก็น่าจะเน้นการศึกษาที่ผสมผสานกับการทำงานจริงในดาต้าเซนเตอร์ เช่น Cloud Computing Artificial Intelligence Data Science และ Cybersecurity อย่าแค่สอนกันจากตำราที่เขาให้มา การเรียนจากการทำงานจริงๆ คงเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีนโยบายส่งเสริมเรื่องนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ

เมื่อ 40 กว่าปีก่อน สิงคโปร์ซื้อเครื่องบินรบ มหาวิทยาลัยได้การเรียนจากการทำงานจริงเรื่อง CAD/CAM เมื่อ 3-4 ปีก่อน ยักษ์ใหญ่ไอทีไปสร้างโรงงานในเวียดนาม คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้การสนับสนุนจนได้รับการรับรองวิริยะฐานะ ABET เทียบเท่าสหรัฐ

ในด้านภาครัฐ เมื่อมี Data Center คุณภาพระดับโลกอยู่ในประเทศ น่าจะหมดห่วงเรื่องข้อมูลไหลไปต่างประเทศที่กังวลกันอยู่โดยอาจไม่มีตรรกะทางเทคนิคนัก กังวลแล้วไปตั้ง Data Center

ภาครัฐที่ไม่แน่ชัดว่าจะเทียบได้กับของยักษ์ใหญ่สองเจ้านี้ได้หรือไม่ จะทำอย่างไรกันต่อไป เดินหน้าบริการดิจิทัลภาครัฐผ่าน Cloud Computing ของใครดี ถ้าเปลี่ยนจะเอาของเก่าไปทำอะไร ถ้าไม่เปลี่ยนแน่ใจได้อย่างไรว่าดีเท่าเขา

ในด้านภาคธุรกิจ มีไอเดียว่าต้องสร้างศูนย์นวัตกรรมสนับสนุน SME ในการสร้างนวัตกรรมที่อาศัย Cloud Computing เป็นพื้นฐาน จะได้มี Unicorn มากขึ้นทัดเทียมเพื่อนบ้าน แต่จะมี Unicorn มากขึ้นได้นั้น เทคโนพร้อมต้องมาคู่กับการแข่งขันที่มีโอกาสเท่าเทียมกันด้วย เหมือนกับที่ยักษ์ใหญ่สมัยก่อนไม่จำกัดว่าใครจะมาเป็นซัพพลายเออร์

ผู้มีปัญญาในภาครัฐคงมีไอเดียที่ดีเลิศกว่า ไอเดียตัวอย่างจากเอไอนี้แน่ๆ