เปิดโผ 3 เทคฯ สายเกษตรดาวรุ่ง มีแหล่งเงินลงทุนรอกว่า 1.7 ล้านล้านบาท

เปิดโผ 3 เทคฯ สายเกษตรดาวรุ่ง มีแหล่งเงินลงทุนรอกว่า 1.7 ล้านล้านบาท

เอ็นไอเอ ชี้ 3 เทคสายเกษตรฯ ดาวรุ่ง เกษตรเอไอ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีชีวภาพ มีแหล่งเงินลงทุนรอกว่า 1.7 ล้านล้านบาท พร้อมทั้งเปิดเวที AGROWTH เร่งสร้างการเติบโตดีพเทคสตาร์ตอัปเกษตร จับคู่ทำงานร่วมกับบิ๊กธุรกิจเกษตร

ปัจจุบันประเทศไทยมีสตาร์ตอัปเกษตรอยู่เพียง 81 ราย และเป็นกลุ่มเทคโนโลยีเชิงลึกไม่ถึง 15 ราย นอกจากนี้ มูลค่าการลงทุนในตลาดของสตาร์ตอัปเกษตรมีอยู่กว่า 1.7 ล้านล้านบาท

โดยปีนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ยังคงผลักดันให้เกิดสตาร์ตอัปด้านการเกษตรในระบบนิเวศอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการ AGROWTH ซึ่งจะเปิดรับสมัครสตาร์ตอัปที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านการเกษตรที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ

เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ ทดสอบการใช้งานจริง ตลอดจนปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเกษตรร่วมกับบริษัทชั้นนำในภาคธุรกิจการเกษตร

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลในตลาดสตาร์ตอัปเกษตรของไทยพบว่าที่ผ่านมามีการระดมทุนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันมูลค่ารวมประมาณ 2,500 ล้านบาท จากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถือว่ายังไม่มากนัก และเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมี 3 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงลึกจากทั่วโลกที่น่าจับตาและเป็นแนวทางสำหรับสตาร์ตอัปไทยในอนาคต ดังนี้ 

เปิดโผ 3 เทคฯ สายเกษตรดาวรุ่ง มีแหล่งเงินลงทุนรอกว่า 1.7 ล้านล้านบาท

ปัญญาประดิษฐ์ (AI)

จากการใช้ข้อมูลทางการเกษตรขนาดใหญ่คาดการณ์และทำนายเพื่อการทำเกษตรให้เกิดความแม่นยำ และสร้างมาตรฐานใหม่ที่มีผลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรองรับ เช่น อัลกอริธึม AI ที่ช่วยให้นักปฐพีวิทยาใช้น้ำและปุ๋ยให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างชัดเจน เป็นเทคโนโลยีที่คาดว่าจะเติบโตเป็ 1.55 แสนล้านบาทในปี 2028 

ไทยมีสตาร์ตอัปเกษตรที่ได้รับการร่วมลงทุนในเทคโนโลยีนี้ ได้แก่ อีซี่ไรซ์ (Easy Rice) ระบบ AI มาช่วยตรวจสอบสายพันธุ์ข้าวเปลือกและคุณภาพข้าวสาร มีการใช้งาน AI เพื่อตรวจสอบมากกว่า 300,000 ครั้ง ครอบคลุมข้าวมากถึง 6 ล้านตัน และเริ่มขยายการใช้งานไปยังกลุ่มปลูกข้าวอาเซียนในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม

จึงได้รับระดมทุนรอบ Pre-Series A กว่า 66 ล้านบาท จากบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) บริษัท ยิบอินซอยและแย็คส์ จำกัด และ บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด 

เปิดโผ 3 เทคฯ สายเกษตรดาวรุ่ง มีแหล่งเงินลงทุนรอกว่า 1.7 ล้านล้านบาท

หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

การขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร ผลักดันให้เกิดความต้องการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาทำงานทางการเกษตรมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้สารเคมี ส่งผลต่อการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต

เช่น การใช้โดรนช่วยพ่นยา พ่นปุ๋ย แทนแรงงานคน และมีการคาดการณ์ว่าตลาดนวัตกรรมนี้จะมีมูลค่าประมาณ หลักสิบล้านล้านบาท

ซึ่งสตาร์ตอัปด้านหุ่นยนต์ทางการเกษตรที่ได้รับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยี และการสนับสนุนจากนักลงทุนและบริษัทใหญ่ ได้แก่ เอชจี โรโบติกส์ (HG Robotics) สตาร์ตอัปที่พัฒนาหุ่นยนต์และระบบบริหารจัดการอัตโนมัติ ซึ่งได้รับเงินลงทุนจากกลุ่มทรูดิจิทัลที่ขยายธุรกิจเปิดโรงงานผลิตโดรนการเกษตรและหุ่นยนต์ที่ได้รับมาตรฐานโลกแห่งแรกในประเทศไทย

พร้อมผลิต “ไทเกอร์โดรน” หุ่นยนต์ระบบการบินอัตโนมัติซอฟต์แวร์ภาษาไทย ที่เก็บข้อมูลได้อย่างปลอดภัยและแม่นยำ เป็นผลงานที่สตาร์ตอัปไทยเริ่มทำตั้งแต่ออกแบบชิ้นส่วน การประกอบ จนส่งถึงมือผู้ใช้งาน โดยได้รับการร่วมลงทุนจากบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด

เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร

จากความต้องการปกป้องสิ่งแวดล้อม และผู้บริโภคต้องการอาหารปลอดภัย เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงจึงถือเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มมูลค่าของภาคเกษตรกรรม และการจัดการกับความท้าทายต่างๆ

เช่น ศัตรูพืช ความแห้งแล้ง การสร้างพันธุ์พืชใหม่ อีกทั้งยังมีการประเมินว่า มูลค่าการระดมทุนของสตาร์ตอัปด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพทั่วโลก มีมูลค่า 85.80 พันล้านบาท ถือเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีมูลค่าการลงทุนสูงมากในด้านเกษตร 

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสตาร์ตอัปเกษตรไทยที่ได้รับการร่วมลงทุนจากการนำนวัตกรรมดังกล่าวมาใช้ ได้แก่ ยูนิฟาร์ส (UniFahs) จากผลิตภัณฑ์ SalmoGuard ที่มีฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลล่าในลำไส้และระบบทางเดินอาหารของสัตว์ปีก เพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมี

จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเฟจ (Phage) มากกว่า 15 ปี ทำให้สามารถออกแบบเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์ปีกได้เหมาะสมกับผู้ใช้งานทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว จนได้รับรางวัลชนะเลิศด้านนวัตกรรมไบโอเทคจากเวทีการแข่งขันสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก “Global Finalists 2022” 

รวมทั้งเป็นทีมชนะเลิศในการเข้าร่วมการบ่มเพาะกับ NIA เมื่อปี 2022 และมีโอกาสทำงานร่วมกับบริษัทด้านธุรกิจสัตว์น้ำ จึงได้ขยายเทคโนโลยีไปใช้กับสินค้าเกษตรกลุ่มอื่น เช่น เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งนี้ ได้รับการร่วมลงทุนจาก เอดีบีเวนเจอร์ส บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด และกองทุนอินโนเวชั่นวัน จำนวน 53 ล้านบาท 

ทั้งนี้ AGROWTH 2024 จะเปิดรับสตาร์ตอัปที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านการเกษตรที่มีพื้นฐานจากการวิจัยและพัฒนาเชิงลึก พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเอง ในสาขาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีไอโอที และเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีเชิงลึกอื่นๆ ที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาของภาคการเกษตร เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้จนถึง 10 พ.ค. 2024 ติดต่อ [email protected]