จาก ‘เมืองอัจฉริยะ’ สู่ ‘เมืองที่ปรับตัวได้’

จาก ‘เมืองอัจฉริยะ’ สู่ ‘เมืองที่ปรับตัวได้’

ภายในปี 2593 คาดว่าผู้คน 68% จะอาศัยอยู่ในเมืองเพิ่มขึ้นจาก 55% ในปัจจุบัน เมืองจึงจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในชีวิตของผู้คน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้น

แนวคิดเมืองอัจฉริยะที่มุ่งเน้นการบูรณาการเทคโนโลยี เช่น เซนเซอร์และการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อปรับปรุงการใช้ชีวิตในเมืองจะไม่เพียงพออีกต่อไป

แนวคิดใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นคือการพัฒนาไปสู่ “เมืองที่ปรับตัวได้” (Adaptive City) ซึ่งเป็นเมืองที่มีความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงหรือการหยุดชะงักจากปัจจัยต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โรคระบาด ภัยพิบัติธรรมชาติ ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

จาก ‘เมืองอัจฉริยะ’ สู่ ‘เมืองที่ปรับตัวได้’

เมืองที่ปรับตัวได้นั้นเป็นแนวคิดที่ก้าวไปไกลกว่าเมืองอัจฉริยะ โดยเมืองที่ปรับตัวได้เน้นการผสมผสานความคล่องตัวเข้ากับกรอบการทำงานทั้งในส่วนของดิจิทัลและส่วนของทางกายภาพ

การใช้ระบบการปรับตัวทางกายภาพ ตัวอย่างเช่น การใช้ระบบที่เคลื่อนย้ายได้อย่างประตูกั้นแม่น้ำเทมส์ในอังกฤษ ซึ่งออกแบบมาให้ปรับเปลี่ยนทางกายภาพได้เพื่อป้องกันน้ำท่วม การออกแบบและการก่อสร้างแบบโมดูลาร์ของสนามกีฬา 974 ในดูไบ ให้มีความยืดหยุ่นในการใช้งานและความสามารถในการปรับขนาดสำหรับกิจกรรมที่แตกต่างกัน 

ระบบไฟถนนอเนกประสงค์ของแคนาดาที่สามารถปรับให้บริการตามความต้องการ ระบบควบคุมการจราจรแบบปรับเปลี่ยนได้ในสหรัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของการจราจรแบบเรียลไทม์ และการใช้โดรนส่งสินค้าในสิงคโปร์เพื่อประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของการขนส่งในเมือง เป็นต้น

จาก ‘เมืองอัจฉริยะ’ สู่ ‘เมืองที่ปรับตัวได้’

นอกจากนี้ เมืองที่ปรับตัวได้ยังรวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ มาใช้ในการให้บริการในเมือง เช่น การใช้เทคโนโลยีเอไอเพื่อช่วยการจ่ายสวัสดิการและตรวจจับการฉ้อโกง การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและสัญญาอัจฉริยะในงานทะเบียนรถยนต์และที่ดิน เพื่อลดการฉ้อโกงและลดความซับซ้อนในการโอนสัญญา การใช้ระบบอัตโนมัติอัจฉริยะและระบบอัตโนมัติของกระบวนการหุ่นยนต์ (RPA) ในกระบวนการทางการเงิน การจัดซื้อ และกระบวนการบัญชีเงินเดือน 

ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีแฝดดิจิทัล (Digital Twin) เช่น DC Water ในเขตโคลัมเบีย ซึ่งเป็นแบบจำลองของระบบทางกายภาพเสมือนจริง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการและการทำงานของโครงสร้างพื้นฐานโดยการจำลองสภาพโลกแห่งความเป็นจริงและคาดการณ์ผลลัพธ์ได้

นอกจากมิติทางเทคโนโลยีทั้งทางดิจิทัลและทางกายภาพแล้ว สัญญาณที่บ่งบอกว่าเมืองนั้นๆ กำลังเป็นเมืองที่ปรับตัวได้ ได้แก่

เมืองที่ปรับตัวได้ใช้อาคารประวัติศาสตร์ซ้ำในเมืองนั้นๆ เมืองที่ปรับเปลี่ยนได้จะให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และการนำอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาใช้ใหม่ในโลกปัจจุบัน

เมืองที่ปรับตัวได้นำโครงสร้างพื้นฐานมาใช้ใหม่ แทนที่จะปล่อยให้โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางหลวงหรือตรอกซอกซอยยังคงถูกใช้งานน้อยเกินไป เมืองที่ปรับตัวได้กลับจินตนาการถึงพื้นที่เหล่านี้เพื่อการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการตกแต่งที่สวยงาม ทำให้พื้นที่ในเมืองรู้สึกปลอดภัยและน่าดึงดูดยิ่งขึ้น

เมืองที่ปรับตัวได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงผู้คนและบริการ ด้วยการบูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับสภาพแวดล้อมในเมือง เมืองที่ปรับตัวได้สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพของบริการและการจัดสรรทรัพยากร ทำให้การใช้ชีวิตในเมืองสะดวกสบายยิ่งขึ้นสำหรับผู้อยู่อาศัย

เมืองที่ปรับตัวได้ส่งเสริมความคิดริเริ่มที่นำโดยพลเมือง มีการจัดแสดงผลงานศิลปะชั่วคราว สวนสาธารณะขนาดเล็ก และโครงการสร้างสรรค์อื่นๆ เสริมสร้างประสบการณ์ในเมืองและส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ในชุมชน

เมืองที่ปรับตัวได้ให้อำนาจแก่พลเมืองในการแก้ปัญหา ด้วยการสนับสนุนการทดลองและลดอุปสรรคของระบบราชการ เมืองที่ปรับตัวได้ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง อำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหาเชิงนวัตกรรมเพื่อความท้าทายด้านการออกแบบและสิ่งอำนวยความสะดวก

ล่าสุดได้มีการสร้าง “ดัชนีความสามารถในการปรับตัวของเมือง” (City Adaptability Index) ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการประเมินระดับความสามารถในการปรับตัวและเปรียบเทียบเมืองตนเองกับเมืองอื่นๆ ทั่วโลก ดัชนีได้พัฒนาร่วมกับผู้นำระดับโลกด้านการจัดการการก่อสร้างของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย โดยวัดความสามารถของเมืองในการจัดการการเปลี่ยนแปลงในขอบเขตต่างๆ

 เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความหลากหลาย การเดินทางเคลื่อนย้าย ความปลอดภัย คุณภาพชีวิต และประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ซึ่งเปิดให้ผู้นำเมืองและผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปประเมินเมืองของตนเองได้ เพื่อตรวจสอบดูว่าจุดแข็งจุดอ่อนของเมืองในมุมมองของ “เมืองที่ปรับตัวได้

ในยุคข้างหน้าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกมากมาย นอกจากปัจเจกบุคคลที่จะต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวแล้ว เมืองก็จะต้องปรับตัวเพื่ออำนวยความสะดวกและลดผลกระทบทางลบให้กับคนที่อาศัยในเมืองด้วย

ความสามารถในการปรับตัวของเมือง ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของพื้นที่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเทคโนโลยี การมีส่วนร่วมของชุมชนและสภาพแวดล้อม กฎระเบียบที่ยืดหยุ่น เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยในเมืองที่น่าอยู่ มีส่วนร่วม และยั่งยืนมากขึ้น