สวทช.ปักหมุด BCG แผนงานปี 67 ส่ง ‘วิจัย-เอไอ’ เข้าถึงประชาชน

สวทช.ปักหมุด BCG แผนงานปี 67 ส่ง ‘วิจัย-เอไอ’ เข้าถึงประชาชน

สวทช.เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG ประกาศแผนงานปี 2567 “11 BCG Implementation” ด้วยกลยุทธ์ “1 ลด - 2 เพิ่ม - 1 สร้าง” เพิ่มบทบาทการทำงานเชิงรุกด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุนภาคส่วนต่าง ๆ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

รวมทั้งผลักดันงานวิจัยให้เข้าถึงประชาชนและใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ช่วยลดปัญหาคอขวดของงานวิจัยให้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ชัดมากขึ้น 

วิจัยเพิ่มคุณภาพชีวิต

ศ.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ขยายความกลยุทธ์ “1 ลด-2 เพิ่ม-1 สร้าง” ประกอบด้วย

1 ลด” คือ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ประกอบด้วย 3 โครงการวิจัย ได้แก่

(1) ทุ่งกุลาร้องไห้ เกษตรกร-ผู้มีรายได้น้อยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี สินค้าเกษตรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ได้รับการยกระดับด้วย วทน. 

สวทช.ปักหมุด BCG แผนงานปี 67 ส่ง ‘วิจัย-เอไอ’ เข้าถึงประชาชน

(2) Traffy Fondue บริหารจัดการปัญหาเมือง เชื่อมโยงประชาชนเข้ากับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่

(3) Platform การสื่อสารของผู้พิการ & ผู้สูงอายุ เป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนการเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสารของคนพิการ และแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อบริการสื่ออ่านง่ายสำหรับบุคคลที่บกพร่องทางการรับรู้

2 เพิ่ม” คือ เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย

(1) สารสกัดมูลค่าสูง กะเพรา กระชายดำ ใบบัวบก โดยพัฒนากระบวนการผลิตสารสกัดมาตรฐาน ระดับอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์อาหาร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 

(2) แพลตฟอร์มการผลิตอาหารฟังก์ชัน และ Functional Ingredients เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน อาหารเฉพาะทาง และอาหารอนาคต รวมถึงร่วมสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมและเวชสำอางของประเทศ

สวทช.ปักหมุด BCG แผนงานปี 67 ส่ง ‘วิจัย-เอไอ’ เข้าถึงประชาชน

1 สร้าง” คือ สร้างความยั่งยืน นอกจากนี้ก็ยังเพิ่มการพึ่งพาตนเอง ประกอบด้วย

(1) Digital healthcare ขยายผลแพลตฟอร์มบริการการแพทย์ปฐมภูมิและระบบเบิกจ่าย, การเบิกจ่าย, การบริการการแพทย์ฉุกเฉิน, บริการข้อมูลและเฝ้าระวังโรค, ล่ามภาษามือทางไกลสำหรับการแพทย์

(2) วัคซีนสัตว์ ทดสอบประสิทธิภาพต้นแบบวัคซีนออโตจีนัส ASFV เชื้อตายพัฒนากระบวนการผลิตวัคซีน ASFV สู่การผลิตในประเทศ

(3) ชุดตรวจโรคไตและเบาหวาน พัฒนาชุดตรวจติดตามโรคไตและเบาหวาน

(4) National AI Ecosystem พัฒนาระบบนิเวศส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม

1 สร้าง” คือ สร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 2 โครงการวิจัย ได้แก่

(1) ตัวชี้วัดและฐานข้อมูล CO2 , CE, SDGs พัฒนาตัวชี้วัดสำคัญเพื่อสนับสนุนแนวทาง SDGs ปรับปรุงฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตระดับประเทศ รวมถึงตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน

(2) Industry 4.0 Platform สนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน โดยมุ่งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้ทรัพยากร ลดการปลดปล่อยของเสีย และการปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว

สวทช. ยุค 6.0 กับเอไอ

ศ.ชูกิจ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) ว่า 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ เอไอเข้ามามีบทบาทอย่างมากและถูกใช้งานแพร่หลายไปทั่วโลกรวมถึงคนไทย เช่น แชตบอตจีพี หรือการสร้างรูปภาพ สร้างเนื้อหาต่างๆ ด้วยเอไอ ตลอดจนนำเอไอไปเป็นผู้ช่วยแพทย์และยังนำไปใช้งานด้านรักษาความปลอดภัย ดังนั้น การพัฒนาเอไออย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลเล็งเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ

“เราต้องแยกระหว่างเอไอกับคอลเซนเตอร์ คอลเซนเตอร์นี่มีมานานแล้วเป็นการทำธุรกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้ดูแล แต่เอไอที่ สวทช. ต้องเข้ามากำกับดูแลคือ เอไอกับเรื่องความปลอดภัยในการใช้งาน บางครั้งผู้คนนำเอไอไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ไปจนถึงการสร้างความไม่สงบ มิติตรงนี้ สวทช.จะดูแลและแก้ไขปัญหาดังกล่าว"

สวทช.ได้ตรวจสอบการกำกับดูแลเอไอจากหลายๆ ประเทศ มีประเทศที่ออกกฎหมาย อย่างเช่น สหรัฐควบคุมการใช้เอไอกับลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา ไทยต้องดูว่าระเบียบ กฎหมาย มาตรฐานการใช้เอไอรูปแบบไหนที่เหมาะสมกับผู้ใช้งานภายในประเทศ

สำหรับปี 2567 สวทช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประชุมหารือในเรื่อง มาตรฐานของการใช้เอไอและการประยุกต์ใช้ในวงการเร่งด่วนอย่าง การแพทย์ ที่จะต้องรักษาผู้ป่วย มาตรฐานการใช้เอไอกับแพทย์ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมี และใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน

ทางด้าน ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า ขณะนี้ทางเนคเทคกำลังเตรียมพัฒนาแชตบอตที่ใช้งานเดียวกับแชตจีพีทีออกมา ในฉบับภาษาไทย โดยจะเป็น OpenThaiGPT 4.0 ที่มีการอัปเดตฐานข้อมูลภายในประเทศที่มากขึ้น และจะเปิดบริการ Open source ที่ให้ผู้คนสามารถนำโมเดลเอไอนี้ไปพัฒนาต่อได้